หากเรามีเป้าหมายเพื่อให้ลูกเกิดกระบวนการเรียนรู้ และนำไปสู่พฤติกรรมที่เหมาะสม การทำโทษก็นับเป็นสิ่งจำเป็นค่ะ เพียงแต่คุณแม่จะต้องใช้ความรัก ควบคู่กับการอบรมสั่งสอนในการทำโทษทุกครั้ง โดยเฉพาะในลูกวัย 3-6 ขวบ ที่มักยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง วิธีต่อไปนี้จะช่วยสร้างประสบการณ์ชีวิตให้ลูกรู้ถูกรู้ผิดได้ค่ะ
ทำโทษลูกด้วย 2 เทคนิคง่ายๆ ดังนี้
1. สอนให้รู้ อธิบายเห็น
ในวัยนี้ลูกยังไม่สามารถเลือกทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกต้องได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรสร้างกรอบที่ชัดเจนให้เขาค่ะ เช่น หากลูกไม่ยอมกินข้าวเมื่อถึงเวลา หรือไม่ยอมกินเพราะไม่อยากกินผัก คุณแม่สามารถทำโทษเขาด้วยการ บอกลูกว่า “ หนูไม่กินอาหารที่คุณแม่เตรียมไว้ให้ เพราะฉะนั้นมื้อนี้หนูก็จะไม่ได้กินอะไรเลยนะ”
ที่สำคัญการทำโทษวิธีนี้ คุณแม่จะต้องอธิบายถึงเหตุผล ให้เขาเห็นผลเสียของสิ่งที่ลูกทำด้วย เช่น “เมื่อถึงเวลากินข้าวหนูก็ต้องกินให้ตรงเวลา เพราะหากหนูหิว ก็จะทำให้ปวดท้อง หนูอาจไม่สบายได้” หลังจากนั้นคุณแม่อาจมีข้อเสนอให้ลูกเพิ่มเติม เพื่อให้เขามีแรงจูงใจในการทำมากขึ้น เช่น “ แต่ถ้าหนูยอมกินข้าวตรงเวลา หนูก็จะได้เล่นเกม ได้ดูการ์ตูนเรื่องที่ชอบ หรือได้เล่นกับเพื่อน” เป็นต้น
2. ไม่ใช้อารมณ์ตัดสินลูก
ไม่ว่าจะเป็นความผิดใดๆ คุณแม่จะต้องตัดสินด้วยเหตุผล และไม่ใช้อารมณ์กับลูกโดยเด็ดขาดนะคะ เช่น หากลูกเป็นคู่พี่น้องแล้วลูกทะเลาะกัน แย่งของเล่นกัน คุณแม่ควรบอกเขาด้วยถ้อยคำดีๆ ว่า “ หนูต้องเล่นกันดีๆ นะคะ ต้องรู้จักแบ่งปัน เพราะเราเป็นพี่น้องกัน” ต่อจากนั้นคุณแม่อาจตั้งกฎขึ้นมาให้ลูกรู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นไม่ถูกต้องจริงๆ เช่น “ ถ้าหนูยังทะเลาะกันอีก คุณแม่จะห้ามไม่ให้หนูเล่นกันอีกเด็ดขาด”
การห้ามไม่ให้เขาเล่นด้วยกัน ถือเป็นการทำโทษโดยที่เราไม่ต้องไปตีหรือใช้อารมณ์กับลูกเลย ซึ่งลูกก็จะได้เรียนรู้ด้วยตัวเองว่าการเล่นคนเดียวไม่สนุกเท่ากับเล่นด้วยกัน เขาก็จะค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่คุณแม่ทำ และรู้จักเล่นกับคนอื่นอย่างเหมาะสมได้ในที่สุด
ทุกครั้งที่ทำโทษลูกคุณพ่อคุณแม่ต้องมองว่าสิ่งที่ทำไม่ใช่การทำร้ายลูกนะคะ แต่คือการให้เขาได้เรียนรู้ผลที่ตัวเองทำตามที่ควรจะเป็นอย่างเหมาะสมค่ะ
บทสัมภาษณ์ : อาจารย์แพทย์หญิงดวงรัตน์ วังเกล็ดแก้ว กุมารแพทย์ที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาการและการเรียนรู้ โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช ศรีนครินทร์
Facebook Comment