โกนผมไฟเด็ดแรกเกิด เป็นหนึ่งในความเชื่อโบราณที่จะทำให้เด็กเลี้ยงง่าย แต่จริง ๆ เราต้องโกนผมไฟลูกแรกเกิดไหม มาหาคำตอบกันค่ะ
การโกนผมไฟเด็กทารกเป็นความเชื่อโบราณที่สืบทอดมายาวนาน โดยมีความเชื่อว่า เส้นผม เล็บมือ เล็บเท้า ที่ติดตัวมาตั้งแต่ในครรภ์เป็นของไม่สะอาด ดังนั้นเมื่อเด็กทารกอายุครบ 1 เดือน จะเข้าสู่พิธีกรรมการโกนผมไฟ ซึ่งเหมือนเป็นพิธีกรรมการเปลี่ยนผ่านเป็น “ลูกคน” โดยสมบูรณ์ หรืออาจจะมีนัยว่าแข็งแรงสมบูรณ์ดีแล้ว เพราะในอดีต เด็กแรกเกิดอาจจะมีอัตราการเสียชีวิตได้ง่ายเพราะยังอ่อนแอ ไม่มีเทคโนโลยีการแพทย์ทันสมัยเหมือนปัจจุบัน
เมื่อเด็กเล็กที่คลอดออกมามีอายุครบ 1 เดือนก็จะให้โกนผม โกนคิ้ว ตัดเล็บมือ เล็บเท้าออก โดยอาจจะมีการดูฤกษ์ นิมนต์พระสงฆ์ เชิญญาติพี่น้อง พิธีใหญ่โตแค่ไหนแล้วแต่ฐานะทางครอบครัว ซึ่งหลังจากพิธีโกนผมไฟแล้วเชื่อว่า เด็กจะเลี้ยงง่าย ไม่ดื้อ ไม่ซน และเส้นผมขึ้นดกดำดี
ในปัจจุบัน พิธีกรรม ความเชื่อ เรื่องการโกนผมไฟอาจจะลดน้อยลงไปมาก บางครอบครัวก็ลดทอนขั้นตอนลงเพียงแค่ให้ญาติผู้ใหญ่มาโกนผม อวยพรให้กับเด็กเท่านั้น หรือเด็กบางคนก็ไม่ได้โกนผมไฟเลยก็มีเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับพิธีกรรมอื่นๆ ที่มีโอกาสเลือนหายไปตามกาลเวลา และความเชื่อของผู้คนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
การโกนผมไฟนั้นจะทำหรือไม่ทำก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเชื่อของครอบครัว เพราะไม่มีอะไรเสียหาย หากทำแล้วสบายใจ ครอบครัวมีความสุขทุกฝ่ายก็สามารถทำได้ แต่ถ้าจะจัดพิธีโกนผมไฟ นอกจากจะดูฤกษ์ยามแล้ว อาจจะต้องดูแลเรื่องความสะอาด สุขอนามัย และดูว่าลูกแข็งแรงดีพอหรือยังด้วยนะคะ เพราะถ้าต้องเจอคนจำนวนมาก และลูกไม่ค่อยแข็งแรงอาจจะทำให้ป่วยได้ค่ะ
เด็กจะเลี้ยงง่าย ไม่ดื้อ ไม่ซน จริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับคนเลี้ยงดูในการอบรมขัดเกลา ปลูกฝัง รวมทั้งสิ่งแวดล้อมที่เด็กเติบโตขึ้นมามากกว่าแค่การผ่านพิธีกรรมการโกนผมไฟ
จริง ๆ แล้ว ผมดกหรือไม่ดก ก็จะอยู่ตรงพันธุกรรมด้วยส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเด็กโกนผมไฟ แต่พันธุกรรมผมไม่ดก ผมที่ขึ้นใหม่ก็ไม่ได้ดกขึ้นจะปริมาณเท่าเดิม เพียงแต่ผมที่ขึ้นใหม่จะดูแข็งกว่าผมอ่อนที่ติดมาตั้งแต่แรกเกิด ทำให้ดูเหมือนมันหนาดกขึ้น แต่โดนปกติถึงไม่โกน แต่ผมที่ติดมาตั้งแต่แรกเกิดก็จะผลัดหลุดออกไปเอง และสร้างขึ้นใหม่อยู่แล้ว ซึ่งจะหลุดประมาณ 2-3 เดือนก็จะผลัดทีหนึ่ง อย่างที่โบราณเขาพูดว่า ช่วงไหนที่ลูกผมร่วงก็แสดงว่าลูกจำหน้าแม่ได้