เด็กทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน ได้รับน้ำจากการดื่มนมอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องดื่มน้ำเพิ่ม เพราะอาจะเสี่ยงลำไส้อักเสบ ไส้เน่าได้
เด็กทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน ได้รับน้ำจากการดื่มนมอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องดื่มน้ำเพิ่ม เรื่องนี้กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีคำแนะนำสำหรับพ่อแม่มือใหม่ว่านมแม่หรือนมผสมเป็นอาหารหลักของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน ซึ่งในนมแม่หรือนมผสมจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบมากกว่า 80% เด็กจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดื่มน้ำเพิ่มเนื่องจากการให้เด็กกินน้ำจะทำให้อิ่มเร็ว และกินนมได้น้อยลง ส่งผลให้เด็กได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ น้ำหนักไม่ขึ้นตามเกณฑ์
นอกจากนี้การให้ลูกทารกดื่มน้ำมากไปยังเสี่ยงกับการเกิดภาวะลำไส้เน่าอักเสบ (Necrotizing Enterocolitis: NEC)
ภาวะลำไส้เน่าอักเสบ (Necrotizing Enterocolitis: NEC) เป็นภาวะที่เนื้อเยื่อของระบบทางเดินอาหารตายจากการอักเสบจนขาดเลือด มักเกิดบริเวณลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ในทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวน้อย และเป็นสาเหตุการตาย และทุพลภาพของทารกแรกเกิดที่พบได้มากที่สุด
ทารกคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวน้อย หากมีการขาดเลือดไปเลี้ยงบริเวณลำไส้ เช่น การมีคะแนนการคลอดตั้งแต่แรกคลอดต่ำ หรือมีภาวะขาดออกซิเจนตั้งแต่แรกคลอด และมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคไปกับนมหรือภาชนะที่ไม่สะอาด หรือมีการให้น้ำนมผสมที่มีความเข้มข้นที่สูง และเพิ่มปริมาณน้ำนมเร็วเกินไปโดยเฉพาะนมผสมที่ไม่ใช่นมแม่ ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะนี้ได้
คุณแม่อาจสังเกตดูว่า ลูกน้อยกินนมได้ดีเท่าเดิม ไม่มีอาการแหวะนมบ่อย ๆ ท้องไม่อืดอย่างต่อเนื่อง หรือไม่มีลมในกระเพาะปริมาณมาก และเมื่อลูกน้อยกินนมอิ่มก็จะพักหลับได้ประมาณ 3–4 ชั่วโมง แล้วจึงตื่นมาเพื่อกินนมมื้อต่อไป มีการตอบสนองกับคุณพ่อคุณแม่ ด้วยการยิ้ม จ้อง และสบตา ลักษณะของอุจจาระ หากกินนมแม่ในปริมาณมากพอหรือเป็นส่วนใหญ่ อุจจาระจะมีสีเหลืองทอง นิ่ม ไม่มีลักษณะเป็นน้ำ ไม่มีมูกหรือเลือดปน อาจถ่ายได้วันละ 4–6 ครั้ง ถือเป็นภาวะปกติ