การทำงานของสมองต้องอาศัยสารสื่อประสาท
สำหรับเด็กทารกแหล่งอาหารที่ดีที่สุดก็คือ “น้ำนมแม่” ในนมแม่มีสารอาหารหลากหลายเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของทารก ทั้งยังมีโปรตีนที่เป็นประโยชน์ เช่น แอลฟ่า-แล็คตัลบูมิน (Alpha-lactalbumin)1 ซึ่งเป็นแหล่งของกรดอะมิโนจำเป็น ที่ชื่อ “ทริปโตเฟน” (Tryptophan) โดยร่างกายจะนำไปสังเคราะห์สารสื่อประสาทเซโรโทนิน2 (Serotonin) ที่มีบทบาทในด้านอารมณ์ และฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดการนาฬิกาชีวิต (Biological clock) หรือพูดให้ฟังง่ายขึ้นคือ เป็นตัวควบคุมวงจรการหลับการตื่นของคนเรานั่นเอง ดังนั้นจะสังเกตได้ว่า ทารกที่ได้รับนมแม่จะอารมณ์ดี และนอนหลับได้ดี เพราะมีสารตั้งต้นคือกรดอะมิโนในการสร้างสารสื่อประสาทและฮอร์โมนในสมองอย่างเพียงพอ
นอกจากนี้ในน้ำนมแม่ยังมีสารอาหารที่จำเป็นในการสร้างสารสื่อประสาทอีกหลายชนิด เช่น โคลีน (Choline) เป็นวัตถุดิบในการสร้างสารสื่อประสาทอะซีติลโคลิน (Acetylcholine) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในด้านการเรียนรู้และความจำ3 เป็นต้น หรือสารอาหารในกลุ่มกรดไขมัน เช่น ดีเอชเอ (DHA; Docosahexaenoic acid) เป็นกรดไขมันชนิดโอเมก้า-3 (Omega-3 fatty acid) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่ามีส่วนสำคัญในการพัฒนาจอประสาทตา (Retina) และสมองของมนุษย์ โดยเฉพาะในช่วงวัยทารกและวัยเด็กที่สมองและจอประสาทตามีการพัฒนาเป็นอย่างมาก
ที่สำคัญในนมแม่ยังมี สฟิงโกไมอีลิน ไขมันชนิดฟอสโฟไลปิด เป็นหนึ่งในสารอาหารสำคัญในการสร้างไมอีลิน ซึ่งไมอีลินนี้เองจะมีบทบาทในการส่งสัญญาณประสาทจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งอย่างรวดเร็ว เส้นใยประสาทที่มีไมอีลินจะส่งสัญญาณประสาทได้เร็วกว่าเส้นใยประสาทที่ไม่มีไมอิลิน โดยไมอีลินเริ่มสร้างตั้งแต่ทารกอยู่ในท้อง โดยเฉพาะ 3 เดือนก่อนคลอด และต่อเนื่องจนถึงช่วงวัยเด็ก
เลี้ยงลูกให้เหมาะสมกับช่วงวัย ช่วยกระตุ้นการสร้างไมอีลินและพัฒนาการสมองอย่างมีประสิทธิภาพ4-7
ขวบปีแรก ควรเน้นการกอดและสัมผัสตัวเด็กเพื่อกระตุ้นการสร้างปลอกไมอีลินในวงจรประสาทการรับสัมผัส ควรเลือกของเล่นที่มีสีสันให้ลูกเพื่อกระตุ้นการสร้างปลอกไมอีลินในวงจรประสาทการมองเห็น หรือการพูดคุยกับเด็กและการใช้เสียงดนตรีในการเล่นกับเด็ก เพื่อกระตุ้นการสร้างปลอกไมอีลินในวงจรประสาทการรับเสียงและภาษา
ช่วงอายุ 1-3 ปี ควรเน้นการกระตุ้นวงจรประสาทของภาษา เช่น การชี้อวัยวะบนใบหน้า การเรียกชื่อสิ่งของที่ใช้บ่อยในชีวิตประจำวัน การร้องเพลงหรือการเล่านิทานให้ลูกฟัง เพื่อเพิ่มการสร้างปลอกไมอีลินในวงจรประสาทของภาษา นอกจากนี้ยังควรฝึกทักษะของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ได้แก่ การต่อของเล่น การใช้ช้อนตักอาหาร เพื่อช่วยการสร้างปลอกไมอีลินของวงจรประสาทในการทำงานระหว่างกล้ามเนื้อมือและการมองเห็น ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเขียนหนังสือและทักษะทางมือต่อไป
รวมไปถึงการฝึกการเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน ได้แก่ การจับคู่สิ่งของที่มีคุณสมบัติเหมือนกัน เช่น ของที่รูปทรงเหมือนกันหรือสีเหมือนกัน หรือการส่งเสริมให้เด็กเล่นเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ที่ตัวเขาเห็นในชีวิตประจำวัน ก็จะช่วยให้มีการสร้างปลอกไมอีลินในวงจรประสาทในส่วนของการเรียนรู้ได้
เด็กวัย 3 ปีขึ้นไป การฝึกให้เด็กรู้จักแก้ไขปัญหาที่เจอในชีวิตประจำวัน รวมถึงการสอนความเป็น “เหตุ” และ “ผล” ของสิ่งต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกัน การสอนให้รู้จักอดทนและรอคอย ก็จะช่วยให้การสร้างปลอกไมอีลินในวงจรประสาทในส่วนของการทำงานขั้นสูงของสมองเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นรากฐานของการเรียนรู้สิ่งที่เป็นนามธรรม การคิดวิเคราะห์ การวางแผน การควบคุมตนเอง และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งเป็นกระบวนการทางสติปัญญาที่จะมีการพัฒนาต่อไปในช่วงวัยเด็กโตและวัยรุ่น
เพราะการทำงานของสมองในด้านกระบวนการทางสติปัญญาและความเฉลียวฉลาด ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการทำงานของเซลล์ประสาทในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง หรือสมองเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่ต้องอาศัยการติดต่อเชื่อมโยงวงจรประสาทระหว่างสมองหลาย ๆ ส่วนให้มาทำงานร่วมกัน จึงจะช่วยให้มนุษย์สามารถคิด วิเคราะห์ วางแผน ยับยั้งและควบคุมตนเองได้
ซึ่งการส่งเสริมการส่งสัญญาณประสาทผ่านวงจรประสาทสามารถกระทำได้โดยการฝึกหรือการกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ นอกจากนี้การได้รับสารอาหารอย่างเหมาะสม จะทำให้สมองมีวัตถุดิบเพียงพอในการนำไปใช้สร้างเซลล์ในระบบประสาท ใช้ในการสร้างสารสื่อประสาทและสารเคมีอื่น ๆ รวมไปถึงการสร้างปลอกไมอีลิน อันเป็นพื้นฐานในการส่งสัญญาณประสาทอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ทำไมต้อง “สฟิงโกไมอีลิน”?
เมื่อไมอีลิน เป็นตัวช่วยสมองส่งกระแสสัญญาณประสาทเพื่อการส่งข้อมูลที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สฟิงโกไมอีลิน ก็คือสารอาหารตัวหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นการสร้างไมอีลินค่ะ แต่ไม่ใช่มีแค่สฟิงโกไมอีลินเท่านั้นนะ สารอาหารอื่นๆที่มีส่วนช่วยกระตุ้นการสร้างไมอีลิน เช่น ดีเอชเอ ธาตุเหล็ก โคลีน วิตามิน บี12 โปรตีน เป็นต้น8
แต่ถ้าพูดถึงสฟิงโกไมอีลินแล้ว จะไปหารับประทานได้จากไหนบ้างล่ะ เพราะเป็นสารอาหารที่แม่ๆอย่างเราคงยังไม่คุ้นชินหูเท่าไหร่นัก
คำตอบคือ การรับประทานอาหารครบ 5 หมู่หลากหลายเป็นประจำ ไข่ นม ครีม ชีส ก็เป็นแหล่งอาหารที่คุณแม่มั่นใจได้ว่าลูกจะได้รับสฟิงโกไมอีลินอีกทางหนึ่งค่ะ
Reference: