มีงานวิจัยบอกว่าหากเด็กอ้วนในวัยเรียนอาจมีความเชื่อมโยงกับปัญหาเรื่องการเรียนคณิตศาสตร์และการสะกดคำ ฉะนั้นพ่อแม่ควรให้ความสำคัญกับความอ้วนของลูก ไม่แพ้เรื่องพัฒนาการตามวัยค่ะ
ความอ้วนทำให้ลูกมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และการนอนหลับ ซึ่งส่งผลต่อสมองหรือการเรียนรู้ตามมาได้ค่ะ โดยความอ้วนของเด็กวัยเยาว์ อาจส่งผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ได้ดังนี้
เพราะการเรียนรู้ของเด็กวัย 3-6 ปี ต้องอาศัยความตื่นตัว และการเคลื่อนไหวที่คล่องแคล่ว หากพ่อแม่เปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว ผ่านการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 สมองก็จะมีความตื่นตัวต่อการเรียนรู้มากกว่าแค่นั่งนิ่งๆ เขียนหนังสือที่โต๊ะในห้องเรียนค่ะ
ฉะนั้นถ้าลูกอ้วนมากแล้วไม่ได้เคลื่อนไหว ก็เท่ากับว่าลดโอกาสที่ลูกจะได้ใช้สมอง 2 ซีกไปโดยปริยาย เพราะกิจกรรมหลายๆ อย่างที่เหมาะกับเด็กวัยอนุบาล จะต้องได้ใช้ร่างกายและสมองทั้ง 2 ข้างควบคู่กันไปจึงจะฝึกพัฒนาการได้เต็มที่ และรอบด้าน
หากลูกขาดความมั่นใจ หรือรู้สึกแย่กับตัวเองจนทำให้ไม่กล้าเล่นกับเพื่อน ในวัย 5 ขวบขึ้นไปมักเล่นเกมที่มีกติกา เกมที่มีการแบ่งกลุ่ม หรือเกมที่แบ่งฝ่าย ส่งผลให้ลูกอาจถูกเพื่อนปฏิเสธการเข้ากลุ่มได้ ทำให้ขาดทักษะทางสังคมไป
1.สร้างความมั่นใจให้ลูก ก่อนอื่นพ่อแม่ต้องยอมรับในตัวลูก ไม่เอาเรื่องอ้วนเรื่องผอมมาเป็นประเด็น ทำให้เขารู้สึกดีกับตัวเอง ที่สำคัญพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างในการดูแลสุขภาพให้ลูกเห็นด้วย ไม่ควรงอน โกรธ หรือตำหนิลูกเรื่องกิน แต่ใช้วิธีชวนลูกมากินอาหารที่มีประโยชน์ อาจให้เขาเข้าครัว ช่วยทำอาหาร ก็เป็นวิธีสร้างแรงจูงใจให้ลูกหันมากินอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น โดยที่ลูกเองก็ไม่รู้สึกว่าถูกกดดัน
2.ชวนลูกออกกำลังกาย หากลูกเป็นเด็กที่อ้วนมาก การออกกำลังกายที่เหมาะสม คือการเดินค่ะ อาจเริ่มที่เดินช้าๆ ก่อน แล้วค่อยเร่งความเร็วเพิ่มขึ้น วันละประมาณครึ่งชั่วโมง ซึ่งพ่อแม่ต้องออกกำลังกายเป็นเพื่อนลูกด้วยนะคะ โดยระหว่างเดินในสวนสาธารณะ หรือเดินเล่นกันที่สนามหน้าบ้านก็อาจคิดเกมสนุกๆ ที่ให้ลูกได้เคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น ควบคู่กับการฝึกทักษะสมองไปในตัวค่ะ
3.กินเพื่อสุขภาพที่ดี องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้ว่าเด็กที่มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน โรคหัวใจ ไขมันสูง ควรเริ่มควบคุมอาหารตั้งแต่ 2 ขวบ พ่อแม่อาจคุยกับครูที่โรงเรียนให้ช่วยดูแลเรื่องอาหารกลางวันของลูกด้วย เช่น งดน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ เป็นต้น
ส่วนอาหารมื้อหลัก ก็เน้นที่โปรตีนมากกว่าคาร์โบไฮเดรต หรือไขมัน เช่น เมนูข้าวกล้อง ไข่ดาว ผัดผัก ส่วนใหญ่นักโภชนาการจะเน้นให้เด็กวัยนี้ระวังเรื่องอาหารรสเค็ม เช่น ปลากรอบ ปลาทูน่ากระป๋อง ซึ่งพ่อแม่จะต้องจัดเมนูให้ลูกได้กินในสัดส่วนที่สมดุลกับผัก และผลไม้ด้วยนะคะ
4.นอนดี เด็กอ้วนอาจมีปัญหาการนอนกรนได้ พ่อแม่ควรพาไปปรึกษาหมอค่ะ เพราะการนอนกรนทำให้ขาดออกซิเจน ส่งผลต่อสมองและการเรียนรู้ระหว่างวันได้ การควบคุมน้ำหนักให้ลูกนอกจากจะช่วยเลี่ยงอาการนอนกรนแล้ว ยังทำให้ลูกพร้อมต่อการเรียนรู้ด้วย
5.ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวที่โรงเรียน ครูมีส่วนช่วยส่งเสริมให้เด็กได้เล่นกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายมากๆ โดยไม่เน้นที่เกมการแข่งขันเพื่อความเร็วอย่างเดียว แต่ควรเลือกจัดกิจกรรมที่กระตุ้นให้มีการออกแรง ก็เป็นการสร้างแรงจูงใจให้เด็กเกิดความมั่นใจที่จะเล่นกิจกรรมสนุกกับเพื่อนมากขึ้นได้