เวลาลูกมาฟ้องเรื่องต่างๆ พ่อแม่อาจคิดว่าดี ลูกช่างพูด แต่การขี้ฟ้องกับการบอกเล่าไม่เหมือนกันค่ะ และเด็กขี้ฟ้องก็มีแนวโน้มโตไปจัดการอะไรเองไม่ค่อยได้ด้วยค่ะ
การบอกเล่า |
การฟ้อง |
บอกหมดทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี | บอกแต่เรื่องที่ไม่ดี ไม่ชอบ ไม่พอใจ |
ความถี่สม่ำเสมอ เหมือนเป็นกิจวัตรประจำวัน | ความถี่เพิ่มมากขึ้น จากวันละครั้งก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ |
มีความอดทนในเรื่องเล็กน้อย | ไม่มีความอดทน อารมณ์เสียง่าย |
จัดการแก้ปัญหาเล็กน้อยด้วยตนเอง | จัดการแก้ปัญหาเล็กน้อยไม่ได้เลย |
คือการที่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ลูกก็ไม่สามารถจัดการเองได้ วิ่งหาคนช่วยตลอด ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือแม้แต่ครูที่โรงเรียน สาเหตุเพียงเพราะลูกอาจจะลองจัดการด้วยตัวของเขาเองแล้วแต่จัดการไม่ได้ หรือไม่ได้ลองพยายามแก้ไขปัญหาเลย เมื่อเจอปัญหาก็วิ่งไปหาคนอื่นให้ช่วยจัดการแทนตัวเองตลอด
1. ลูกแก้ปัญหาด้วยตัวเองไม่ได้ การฟ้องจากสาเหตุนี้จะมี 2 ลักษณะด้วยกัน คือ ไม่ชอบใจเวลาใครทำอะไรไม่ถูกต้อง ส่วนใหญ่การฟ้องประเภทนี้จะมาจากการที่พ่อแม่เลี้ยงดูลูกอย่างมีกฎระเบียบ มีบทลงโทษที่ชัดเจน เขาจึงเห็นความไม่ถูกต้องไม่ได้ ต้องเข้าไปจัดการ แต่อาจจะจัดการไม่ได้ เลยต้องหาคนที่จะมาจัดการแทน เช่น เพื่อนแกล้งกัน ลูกเลยเข้าไปห้าม แต่เพื่อนไม่หยุด เขาเลยวิ่งไปฟ้องครูแทน เป็นคู่กรณีมาก่อน การฟ้องประเภทนี้จะมาจากการที่ไม่ชอบคนนั้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สาเหตุอาจจะมาจากหลากหลายทาง เช่น เพื่อนคนนี้ชอบเสียงดัง หรือเพื่อนคนนี้ชอบแกล้งลูก ดังนั้นเวลาเขาเห็นเพื่อนคนนี้ทำผิดเล็กน้อย ก็จะมาฟ้องคุณครู หรือเรียกว่าการจ้องจับผิดนั่นเอง
2. ลูกมีทัศนคติไม่ดีในการมองโลก การฟ้องจากสาเหตุนี้มักมีความเกี่ยวข้องกับความประพฤติของพ่อแม่ ผู้ปกครองและคนที่อยู่ใกล้ตัวลูกโดยตรงเลยค่ะ นั่นคือการที่พ่อแม่ “ขี้บ่น” ค่ะ
ทำไมการบ่นของพ่อแม่จึงส่งผลให้ลูก “ขี้ฟ้อง” เพราะมันคือการเสริมสร้างนิสัยจับผิดทุกสิ่งทุกอย่างและทุกคนให้ลูก โดยที่ไม่ต้องมานั่งสอนกันเลย พ่อแม่อย่าลืมว่าลูกเฝ้ามองเราอยู่ทุกย่างก้าว สิ่งที่พ่อแม่ทำจะถูกลูกจับตาดูอยู่และเอามาเลียนแบบ นั่นเพราะเขาคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีงามค่ะ
3. เพราะลูกไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง การฟ้องจากสาเหตุนี้เกี่ยวข้องกับปฏิสัมพันธ์ของพ่อแม่กับลูก หรือจะกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า คือปฏิกิริยาที่พ่อแม่มีต่อลูกนั่นเอง ลองสังเกตตัวเองดูค่ะว่าเวลาลูกมาเล่าเรื่องธรรมดาไปถึงดี เช่น ลูกโดนครูชม เอาของที่ประดิษฐ์มาอวด พ่อแม่มีท่าทีอย่างไร
กลับกันเวลาที่ลูกเล่าว่าโดนเพื่อนแกล้ง หรือโดนครูทำโทษ พ่อแม่มีปฏิกิริยาอย่างไร ลูกรับรู้ได้นะคะว่าพ่อแม่ให้ความสนใจเขาต่างกันแค่ไหน ที่โรงเรียนเองก็เหมือนกัน กรณีที่เป็นแค่เรื่องเล็กน้อยอย่างเพื่อนเดินชน แล้วเอามาฟ้องเหมือนเป็นเรื่องใหญ่โต ยิ่งพ่อแม่สนใจ ครูสนใจ ผู้ใหญ่สนใจ ลูกจะรู้สึกว่าการทำแบบนี้คือการกระทำของเด็กดี ได้รับความสนใจจากคนอื่น ได้รับคำชมจากครูและพ่อแม่
การขี้ฟ้องของลูก หากพ่อแม่ไม่เข้าใจสาเหตุและแก้ไข ลูกอาจเข้ากับเพื่อนยาก ไม่มีคนคบ ครูไม่ให้ความสำคัญในสิ่งที่เขาบอกอีกต่อไป ทำให้เขากลายเป็นเด็กที่ไม่มีสังคม และอาจส่งผลต่อพัฒนาการและจิตใจของลูกได้ค่ะ
เมื่อลูกฟ้องพ่อแม่บ่อยเข้า จนพ่อแม่เริ่มแสดงออกหรือบอกไปว่ารำคาญ ลูกจะเปลี่ยนไปมีอาการเก็บกดแทน โดยที่ไม่ว่าเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็กเขาจะไม่บอกเล่าอีกต่อไป แต่ปัญหายังไม่จบ ลูกจะเกิดภาวะความกดดัน ภาวะเครียดโดยไม่รู้ตัว เพราะจัดการกับปัญหาไม่เป็น
ขณะเดียวกันก็มีความเครียด อยากจะบอกแต่พ่อแม่ก็ไม่ฟังแล้ว อาจจะหาทางออกอื่นจนกลายเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น หงุดหงิดมากขึ้น ไม่อยากไปโรงเรียน พ่อแม่พูดก็ไม่เชื่อฟัง และมีปัญหาอื่นตามมา
ไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กขี้ฟ้อง สิ่งที่สำคัญคือต้องไม่มองข้ามสิ่งที่มีผลกระทบกับลูกมากที่สุด นั่นคือการกระทำของพ่อแม่เองด้วยนะคะ