ป่วนเหลือเกิน..ต้องปราบกันหน่อยแล้วคุณพ่อคุณแม่เจ้าขาถึงเวลาแล้วค่ะที่จะเปิดใจกว้าง ทำใจให้เย็น(ประมาณน้ำแข็งเลยเชียว)และปรับตัวปรับใจ รับอารมณ์รวมไปถึงท่าทีที่แสนปั่นป่วนของลูกวัยนี้
*กรี๊ด กรี๊ด และกรี๊ด
ลูกยังไม่รู้จักควบคุมอารมณ์โกรธ ไม่พอใจ หรืออาการขัดเคืองใจเหมือนผู้ใหญ่อย่างเราๆ ลูกไม่รู้หรอกว่าพฤติกรรมเหล่านี้เมื่อแสดงออกไปแล้วผลตามมาคืออะไร ที่สำคัญเป็นวัยที่อยากทดสอบพลังอำนาจของตัวเอง
แบบนี้ต้อง...เริ่มต้นแบบซอฟต์ๆกับลูกด้วยคำพูดนุ่มนวลสักหน่อย อย่าเผลอไปกรี๊ดกลับเชียวนะเพราะแกกำลังเฝ้ามองพฤติกรรมโต้ตอบของคุณพ่อคุณ แม่อยู่และพร้อมจะเลียนแบบ หรือทุกครั้งที่แกเริ่มออกอาการกรี๊ด ท่าทางที่เป็นสัญญาณให้ลูกรู้ว่าต้องสงบลงก็คือ ท่าจุ๊ปากพร้อมทำเสียง "จุ๊ จุ๊" เป็นอันรู้กัน คราวนี้ถ้าคุณทำท่านี้พร้อมเสียงแบบนี้เมื่อไหร่ลูกก็จะเรียนรู้ว่าต้องลด ความถี่ลงหน่อยแล้ว
*โป๊ก โป๊ก โป๊ก หัวโขกพื้น
คุณ หมอชาตรี วิฑูรชาติ จิตเวชเด็กจากโรงพยาบาลศิริราชเคยอธิบายไว้ว่าสาเหตุมาจาก เด็กบางคนโขกเนื่องจากเป็นช่วงที่กำลังเรียนรู้หรือสนใจในเรื่องจังหวะ พอเอาศีรษะโขกเข้ากับสิ่งของบางอย่างแล้วเกิดเสียงดังเป็นจังหวะ แกก็จะสนใจ และลองโขกอีกจนกว่าจะเลินสนใจ แบบนี้ไม่นานแกก็จะเลิกไปเอง
นอกจากนี้ อาจเกิดจากถูกจำกัดอยู่ในที่แคบๆ ไม่ได้รับการเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ขาดความอบอุ่น การโขกศีรษะถือเป็นการกระตุ้นตัวเองวิธีหนึ่ง หรือในเด็กที่มีความเครียดจากสถานการณ์ต่างๆ เช่น ถูกคนดูแลทำร้าย หรือเปลี่ยนพี่เลี้ยงใหม่ แกก็อาจแสดงพฤติกรรมโขกศีรษะได้ ซึ่งสาเหตุอย่างหลังนี้ต้องดูแลแก้ไขเป็นพิเศษ เพราะกระทบกระเทือนทางจิตใจของลูก
แบบนี้ต้อง...ถ้าลูกโขกศีรษะเพราะเรียนรู้เรื่องจังหวะ อันนี้ไม่ต้องกังวลค่ะเพราะไม่นานแกจะเลิกไปเอง หรืออาจแก้โดยหาของเล่นที่กระทบกันหรือตีแล้วเกิดการเรียนรู้เรื่องจังหวะมา ให้ลูกเล่น แต่ถ้าสาเหตุมาจากประท้วงพ่อแม่ ไม่พอใจ ขัดใจ แบบนี้คงต้องทำเป็นไม่สนใจ วางเฉย อย่าตกใจหรือกลัวว่าสมองจะกระทบกระเทือน เพราะส่วนมากลูกจะโขกเบาๆไม่รุนแรงอะไร และระหว่างโขกก็แอบชำเลืองดูด้วยว่าพ่อกับแม่มองมารึเปล่า หรือจะมีท่าทีตอบกลับยังไง ซึ่งถ้าไม่สนใจ อีกไม่นานแกจะค่อยๆเลิกไปเอง(ในเวลาอันรวดเร็ว)
แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ...ถ้าโขกศีรษะรุนแรงมากขึ้น หรือโขกกับของที่มีพื้นผิวอันตราย พ่อหรือแม่ต้องรีบจับตัวลูกไว้เพื่อหยุดพฤติกรรมนั้น แต่อย่าแสดงอาการตกอกตกใจจนเกินไป จากนั้นเบี่ยงเบนความสนใจเขาไปที่กิจกรรมอื่น ถ้าอาการโขกศีรษะของลูกเป็นไปอย่างต่อเนื่องและรุนแรงแต่หาสาเหตุไม่เจอ แบบนี้คงไม่มีวิธีไหนดีเท่ากับพาไปปรึกษาแพทย์ค่ะ
*ไม่ต้องพูด ไม่อยากฟัง
อาการหูทวนลม ไม่ฟัง ไม่เชื่อของแกเป็นสัญญาณบอกว่า แกกำลังทดสอบพ่อกับแม่ว่าจำกัดขอบเขตแกแค่ไหน ซีเรียสรึเปล่า(หรือห้ามไปอย่างนั้น) ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่แกจะสร้างความเป็นตัวของตัวเองรวมทั้งความเชื่อมั่นด้วย
แบบนี้ต้อง...แสดงออกอย่างชัดเจนว่า การห้ามนี้เป็นเรื่องจริงจัง วิธีการที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ในขณะที่ห้าม น้ำเสียงต้องเข้มกว่าปกติ ไม่มีท่าทีล้อเล่น ลูกต้องเรียนรู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ "ไม่" ก็คือ "ไม่"
*เรื่องทำลาย...หนูช้อบชอบ
แบบ นี้ต้อง...เข้าใจก่อนว่า เมื่อแกอยากรู้เรื่องไหน สิ่งไหนแกก็จะพุ่งความสนใจไปที่นั่นแล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาค้นหาด้วยความมัน ซะ... ถ้าใครไม่รู้ก็จะนึกว่าแกกำลังเข้าข่ายตัวทำลาย นอกจากเข้าใจแล้วก็ต้องหลบหลีก เก็บข้าวของที่สำคัญเสีย แล้วปล่อยให้แกได้ค้นหา หรือสำรวจตรวจตราในสิ่งที่ไม่เกินขอบเขตเกินไป เพราะถือเป็นวิธีพัฒนาทักษะการเรียนรู้อย่างหนึ่งของลูก