ใครเคยหลงทางบ้าง ยกมือขึ้น เสียง.พรึบ.พร้อมมือเห็นอยู่ประปราย อย่างนี้ปกติค่ะ แต่ถ้าหลงทางอยู่บ่อยๆ หรือขึ้นลิฟต์ในตึกสูงๆ แล้งหลงทิศจนจำไม่ได้ว่าทางออกอยู่ตรงไหนอยู่เป็นประจำ อย่างนี้ชักไม่ได้การแล้วค่ะ
เรื่องนี้ เราสามารถสอนและส่งเสริมให้เจ้าตัวน้อยให้รู้จัก “ทิศทาง” ได้อย่างดี ด้วยวิธีง่ายๆ จากการเล่นค่ะ
การจดจำทิศทางหรืออ่านแผนที่ได้นั้น ไม่ใช่แค่รู้เรื่องทิศเหนือ ใต้ ออก ตกเท่านั้นนะคะ แต่ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องซ้าย ขวา หน้า หลัง บน ล่าง ใกล้ ไกล และอีกหลายๆ อย่างเลยล่ะค่ะ ยิ่งถ้าต้องอ่านแผนที่ สมองก็ต้องแปรให้เป็นภาพ 3 มิติเสียก่อนเพื่อให้นึกเห็นเป็นภาพจริงในความคิด ซึ่งเราเรียกทักษะนี้ว่า มิติสัมพันธ์
มิติสัมพันธ์เป็นความฉลาดด้านหนึ่งในทฤษฎีพหุปัญญาของโฮวาร์ด การ์ดเนอร์ คือ การมีความสามารถสูงในการมองพื้นที่ ขนาด ระยะทาง ทิศทาง สามารถรับรู้สิ่งที่มองเห็นภายนอกแล้วแปลงมาเป็นการรับรู้ภายในได้ เป็นพื้นฐานสำคัญของการคิดอย่างมีเหตุผล ความสามารถในเชิงคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ที่มีอยู่ในทุกคน แต่จะแตกต่างกันไปตามการฝึกฝน ประสบการณ์การรับรู้และระดับความสามารถของสติปัญญาแต่ละคน
เจ้าตัวเล็กวัยตั้งแต่ 1 ขวบครึ่งไปจนถึงช่วงวัยก่อนอนุบาล จะเริ่มเข้าใจเรื่องของพื้นที่และขนาด รวมทั้งความแตกต่างระหว่างของที่เป็น 3 เหลี่ยมและ 4 เหลี่ยมได้แล้ว แต่ความสามารถในเรื่องมิติสัมพันธ์ยังจำกัดอยู่ เนื่องจากคิดเชื่อมโยงหาเหตุผลเฉพาะสิ่งที่มองเห็นและสัมผัสได้เท่านั้น เช่น เข้าใจว่าสิ่งของที่อยู่ใกล้ตัวมีขนาดใหญ่กว่าชิ้นที่อยู่ไกลออกไป ทำให้อาจเชื่อมโยงว่าเป็นของคนละชิ้นกันก็ได้ หรือ น้ำที่มีปริมาตรเท่ากันแค่อยู่ในภาชนะต่างกัน เด็กก็จะคิดว่าน้ำในแก้วที่มีระดับสูงกว่าย่อมมีปริมาตรมากกว่า เป็นต้นค่ะ
เรื่องนี้อย่าว่าแต่เด็กๆ เลยนะคะ ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็หลงทิศ และจำทางกันไม่ได้อยู่บ่อยๆ แต่ก็เป็นทักษะที่จำเป็นและควรส่งเสริม เพราะนอกจากจะมีประโยชน์ในชีวิตประจำวันแล้ว ยังจำเป็นกับทุกอาชีพด้วยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นแม่ค้าที่ต้องจัดเรียงของในพื้นที่จำกัด สถาปนิก มัณฑนากร ศิลปิน นักประดิษฐ์ ที่ต้องถ่ายทอดความคิดลงบนกระดาษ และอ่านแผนที่ความคิดบนกระดาษให้เป็นภาพจริงในหัว คนขับรถ นักบิน นักเดินเรือ ที่ต้องใช้เรื่องทิศทางเป็นหลัก ยิ่งถ้าได้เริ่มฝึกกันไปพร้อมกับการเล่นตั้งแต่วันนี้ รับรองได้ว่า ทิศทางจะไม่ใช่เรื่องยากเกินพัฒนาการของน้องหนูหรอกค่ะ
1. เรียนรู้ได้จากของจริง เริ่มต้นจากการรับรู้และเข้าใจธรรมชาติของสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นลักษณะ รูปทรงของสิ่งของ ระยะทาง จำนวน ทิศทาง ฯลฯ ด้วยการเปิดโอกาสให้ลูกได้สัมผัสของจริงและพูดคุยไปพร้อมกัน
2.ใหญ่-เล็ก ใกล้-ไกล บน-ล่าง สูง-ต่ำ ยาว-สั้น เมื่อรู้จักและเข้าใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างรอบด้านแล้ว ขั้นต่อไปคือการฝึกจำแนกแยกแยะความแตกต่างของสิ่งที่รับรู้ได้ด้วย ลองตั้งคำถามให้ลูกได้ใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ ลองเปรียบเทียบดูนะคะ จะผิดบ้างถูกบ้างก็ไม่เป็นไร เวลาเฉลยก็จับมาเทียบให้เห็นชัดๆ กันไปเลยค่ะ
3. แผนที่ฝีมือหนู แม้เด็กวัยนี้จะยังวาดรูปหรือเขียนหนังสือไม่ได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถฝึกให้ลูกคิดเชื่อมโยง และหาความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ด้วยการให้ลูกถ่ายทอดภาพที่เห็น รอบตัวเป็นภาพความคิดหรือแผนที่ โดยคุณอาจจะช่วยวาด หรือใช้สติ๊กเกอร์ ผ้าสักหลาดทำเป็นสัญลักษณ์ก็ได้ ทั้งหมดนี้เราเรียกว่าความคิดรวบยอดค่ะ
4. ฝึกดูป้ายสัญลักษณ์ทิศทาง เช่น ตรงไป เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา วนกลับ เป็นต้น แล้วนำมาเล่นเป็นเกม Walk Rally หาสมบัติ หรือของที่ซ่อนไว้ในบ้าน โดยให้สังเกตจากป้ายสัญลักษณ์ที่ติดเอาไว้ ถ้าโตขึ้นมาหน่อยค่อยฝึกอ่านแผนที่หาลายแทงสมบัติกันค่ะ
5. บล็อกไม้ ชวนรู้ เจ้าบล็อกรูปทรงและขนาดต่างๆ นี่แหละจะช่วยให้หนูรู้เรื่องทิศทางและมิติสัมพันธ์เป็นอย่างดี โดยเด็กวัย 2-3 ปี จะเรียนรู้เรื่องบล็อก ผ่านการจับ สัมผัส เคลื่อนย้าย เช่น รถบรรทุกจูงลาก หรือเรียงบล็อกลงตะกร้า
ส่วนช่วงวัย 3-4 ปี จะเป็นเรียนรู้โดยการซ้อนและเรียงแถวทั้งแนวตั้งและแนวนอน ลองหาบัตรภาพหรือป้ายจราจรแปะติดบนบล็อกไม้ให้ลูกคุ้นตาและฝึกเรียงดูนะคะ
6. นวดปั้นเปลี่ยนรูปทรง แป้งโดว์ ดินเหนียว จะช่วยให้ลูกเรียนรู้การเปลี่ยนรูปทรง และสังเกตเห็นความแตกต่างและเปรียบเทียบ เช่น แบ่งแป้งโดว์เป็น 2 ก้อนเท่าๆ กัน ถ้าปั้นงูตัวใหญ่ก็จะได้งูตัวสั้น แต่ถ้าอยากได้งูตัวยาวๆ ก็ต้องคลึงให้เป็นเส้นเล็กๆ
7. จิ๊กซอว์ต่อภาพ วัยขนาดนี้ควรเริ่มที่จิ๊กซอว์ 4 ชิ้นก็พอค่ะ จากนั้นจึงค่อยๆ เพิ่มตามวัยและความสามารถของลูก ช่องเว้าแหว่งกับสีสัน บวกกับภาพตัวอย่างที่วางอยู่ตรงหน้า จะช่วยให้ลูกมองหาความสัมพันธ์ระหว่างช่องว่างและสีของแต่ละชิ้น แต่ถ้าลูกยังทำไม่ได้ก็ไม่ต้องเร่งรัดนะคะ ถือว่าฝึกเตรียมความพร้อมไปก่อน
เล่นสนุกด้วยวิธีง่ายๆ แบบนี้ ช่วยฝึกเรื่องทิศทางและมิติสัมพันธ์ให้ลูกได้ แต่คุณต้องสนุกไปพร้อมกับลูกด้วยนะคะ