กิจวัตรประจำวันของลูกวัยนี้ก็ไม่ได้เรื่องยากซับซ้อนอะไร ลูกทำอยู่แล้วทุกวัน ซึ่งสามารถแบ่งได้ 2 แบบ
1.แบบที่เป็นเวลา เช่น กินอาหาร ตื่นนอน อาบน้ำ เล่น ฯลฯ
2.แบบ ที่ไม่เป็นเวลา คือมีปัจจัยอื่นเข้ามาร่วมด้วย เช่น การดื่มน้ำ ที่ไม่สามารถกำหนดเวลาแน่นอนได้ ขึ้นอยู่กับว่าวันนี้ลูกเล่นมาก เสียเหงื่อมากแค่ไหน หรือการพาไปเดินเล่น ที่ทุกวันเคยพาไปเวลานี้ แต่ถ้าฝนตก หรือคุณแม่ไม่ว่างก็ต้องเล่นอย่างอื่นแทน เป็นต้น
ในแต่ละวันลูกจะต้องเจอกิจวัตรทั้ง 2 แบบอยู่แล้ว ซึ่งก็มีข้อจำกัดหรือวิธีปฏิบัติที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจดังนี้ค่ะ
ข้อจำกัดแบบที่เป็นเวลา
เพื่อ สร้างความเคยชินให้กับลูก คุณพ่อคุณแม่ต้องจริงจัง ใจแข็ง และสม่ำเสมอ แรกๆ อาจจะยากสักหน่อย เพราะธรรมชาติของเด็กๆ ถ้าเพลินหรือสนุกกับการเล่น พอถึงเวลาก็ไม่ยอมกินได้ หรือแม้แต่เรื่องการนอน บางวันอาจเห็นว่าลูกนอนกลางวันหลับยาวดี ไม่ปลุกดีกว่า กลัวลูกตื่นมาอารมณ์เสียจึงปล่อยให้นอนอย่างนั้น ผลคือกลางคืนลูกไม่ยอมนอน คนที่เดือดร้อนก็คือคุณพ่อคุณแม่นั่นเองค่ะ
ข้อจำกัดแบบไม่เป็นเวลา
เป็น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถควบคุมได้ ฉะนั้นต้องเรียนรู้ที่จะยืดหยุ่น เช่น ปกติเราอาจจะไม่ให้ลูกดื่มน้ำเย็น หรือน้ำแข็ง แต่ในวันที่อากาศร้อนอบอ้าว อาจจะต้องยอมบ้าง หรือวันที่ลูกไม่สบาย และกินอาหารไม่ค่อยลง เมื่อถึงเวลาคุณแม่อาจต้องเพิ่มเวลาอาหารให้มากขึ้น แต่ต้องให้เหตุผลกับลูกด้วยนะคะ เป็นเหตุผลที่อธิบายแบบง่ายๆ ให้ลูกเข้าใจได้
ทำบ้าง ไม่ทำบ้าง ได้หรือเปล่า
การให้ลูกทำ บ้าง ไม่ทำบ้าง ไม่มีความสม่ำเสมอ มีผลเสียแน่นอน เพราะกิจวัตรประจำวันจะช่วยฝึกเรื่องระเบียบวินัย ความสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่น ถ้าเวลากินอาหารเช้าคือตอนแปดโมงเช้า ก็ควรกินตามเวลานั้น ถ้ากินช้ากว่านี้หรือกินไม่เป็นเวลา เด็กจะเรียนรู้ว่า ไม่เห็นต้องเป็นเวลาเลยในเมื่อพ่อกับแม่ไม่เคยว่า
หรือถ้าเราบอกกับลูก ว่า ช่วงเวลาแปดโมงถึงสิบโมง ลูกจะได้กินขนม แต่ถ้าไม่มีขนม ลูกก็จะรอ เด็กจะเกิดความไม่มั่นคงในเรื่องของระเบียบวินัย เดี๋ยวบางวันก็มี บางวันก็ไม่มี
อายุ 1-3 ปี เป็นช่วงวัยที่ดีที่จะฝึกให้ลูกมีระเบียบ ถ้ารอลูกโตแล้วค่อยฝึกอาจไม่ได้ผล เพราะเด็กเคยชินเสียแล้ว บางบ้านรอให้เด็กโตแล้วเรียนรู้ด้วยตัวเอง ก็อาจมีเด็กส่วนหนึ่ง (เท่านั้น) ที่สามารถเรียนรู้ได้เอง ซึ่งก็ไม่มีอะไรรับรองได้ค่ะ
มีคาถาประจำใจ...ฝึกได้สำเร็จ
นั่น ก็คือ อดทน อย่าใจอ่อน และต้องสม่ำเสมอกับลูก ยืดหยุ่นได้เมื่อมีเหตุอันควร แต่ก็อย่าคาดหวังว่าลูกจะเปลี่ยนได้ในทันที คุณพ่อคุณแม่หลายคนไม่อดทน ทำได้สัก 1-2 ครั้ง พอลูกไม่ยอมทำ ก็เลิกไปก่อน เพราะท้อ เหนื่อย และไม่เห็นความสำคัญ
และคาถานี้จะขลังขึ้นก็ต่อเมื่อ คุณชมลูก ให้กำลังใจ ยิ้มแย้ม เมื่อลูกทำในสิ่งที่เราให้ทำในทันที และถ้าลูกทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็ต้องบอกให้ลูกรู้นะคะ
เด็กวัยนี้อยาก ได้คำชมและรักจากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ สีหน้า แววตา รอยยิ้ม คำชมของคุณพ่อคุณแม่จะมีผลทำให้เขาทำกิจวัตรที่เราพยายามฝึกให้ได้แบบต่อ เนื่องจนกลายเป็นนิสัยในที่สุด
กิจวัตรช่วยหนูเจ๋งได้นะ
ข้อดีต่อไปนี้จะเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ไม่ท้อ และมีความพยายามที่จะฝึกลูกต่อไป เพราะถ้าลูกทำได้จนเคยชิน สิ่งที่จะตามมาก็คือ
1. เด็กจะมีความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองมีค่า มีความสามารถ
2. มีทักษะในการแก้ปัญหาชีวิตประจำวันที่ซับซ้อนมากขึ้น
3. มีระเบียบวินัย เด็กวัยนี้ยังไม่รู้ว่าอะไรควรมิควร คุณพ่อคุณแม่คือคนที่จะส่งเสริมให้เขาสร้างกรอบที่เหมาะสมอยู่ในใจของตนเอง ไปจนโต อย่างปัญหาเด็กติดเกมที่เราเจอตอนนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะเราไม่ได้ฝึกเรื่องกิจวัตรจนเป็นนิสัย ทำให้เด็กไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ค่ะ
ที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกต และมีเวลาอยู่กับลูกมากพอที่จะรู้พัฒนาการของลูกด้วยว่าลูกทำอะไรได้ หรือไม่ได้ และให้ลูกได้เรียนรู้โดยมีเราคอยช่วยเหลือ ผลที่ได้อาจจะยังไม่ใช่ตอนนี้ แต่เมื่อเขาโตขึ้น คุณจะรู้ว่ามันคุ้มค่าค่ะ