เย้...หนูเดินได้แล้ว
หลังพยายามเกาะยืน ที่สุดหนูก็เดินแบบปล่อยมือได้แล้ว ดีใจเหลือเกิน ก็โลกนอกบ้านน่ะ ดูช่างน่าสนใจ มีหลายสิ่งที่หนูอยากเดินไปสัมผัสและเรียนรู้นี่นา
ตอนนี้หนูอายุหนึ่งขวบแล้วจ้ะ เพื่อนๆ วัยเดียวกับหนูบางคนก็เดินได้ก่อนหนู บางคนอายุ 7-8 เดือน เริ่มเกาะยืนได้นิดๆ หน่อยๆ แต่ถ้าขวบครึ่งแล้วยังเดินเองไม่ได้ละก็ แสดงว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งแน่ๆ
เรื่องเหล่านี้เป็นสัญชาตญาณที่ธรรมชาติให้มา ถึงแม้คุณพ่อคุณแม่จะไม่ได้จับตั้งไข่ หนูก็เดินได้เอง (ถ้าไม่มีปัญหาด้านร่างกาย) แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ช่วยก็จะเป็นการกระตุ้นให้เร็วขึ้นจ้ะ
แต่เรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจคือการทรงตัว ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ การทำงานของทั้งสองส่วนจะยังไม่ดีนัก แม้กล้ามเนื้อของหนูจะแข็งแรงแต่ก็ยังทรงตัวได้ไม่ค่อยดีจนกว่าหนูจะอายุ 7 ขวบ เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจนะจ๊ะ ว่าทำไมหนูถึงหกล้มได้ง่ายๆ ในช่วงวัยนี้
รองเท้า...เรื่องที่ต้องใส่ใจ
ในวัยเตาะแตะอย่างหนู ยังควบคุมการก้าวเดินได้ไม่ดีนัก เกร็งเท้าก็ยังไม่ค่อยได้ ในช่วง 3-4 ปีแรก รองเท้าจึงไม่ใช่เรื่องจำเป็นจ้ะ เพราะกล้ามเนื้อมัดเล็กใต้ฝ่าเท้าพัฒนาช้ากว่าส่วนบน
แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากซื้อรองเท้าให้หนู ก็ต้องใส่ใจเลือกให้เหมาะสมหน่อยนะจ๊ะ
- รองเท้าแบบเปลือย ควรเลือกแบบที่มีสายรัดส้น เวลาหนูเดินจะได้ไม่สะดุดไงจ๊ะ
- รองเท้าที่เหมาะสม ต้องเป็นรองเท้าที่เกาะอยู่กับเท้าของหนูตลอดเวลา และสิ่งสำคัญก็คือพื้นรองเท้า ต้องมีความนุ่มมากๆ จนสามารถพับครึ่งได้ พื้นรองเท้าต้องมีความยืดหยุ่นไปตามรูปพื้นที่เหยียบ ที่ต้องเป็นอย่างนี้เพราะเวลาที่หนูก้าวเดินไป เท้าจะต้องเลี้ยงตัวให้ยืนอยู่ ถ้าพื้นรองเท้าแข็งมากหนูจะทรงตัวได้ยากกว่า
- รองเท้ามีเสียง มีแสง เป็นเพียงตัวช่วยให้เด็กๆ อย่างหนูสนุกกับการเดินเท่านั้น แต่ถ้าหนูอยู่ในบ้าน ปล่อยให้หนูได้เดินเท้าเปล่าจะดีที่สุดจ้ะ เพียงแต่ต้องระวังของมีคมบนพื้นเท่านั้น
อุปสรรค! ต่อการเดินของหนู
-ระบบประสาท หากหนูเคยเดินได้ วิ่งได้ มีหกล้มบ้าง แต่ถ้าล้มบ่อยขึ้น หรือจากเดิมที่เคยเดินได้ตรงไม่ค่อยเซ อยู่ๆ ก็เดินเซ ล้มง่ายบ่อยขึ้น อย่างนี้ผิดปกติแล้วล่ะ สาเหตุส่วนใหญ่เป็นเพราะสมองและกล้ามเนื้อ ไม่ได้เกิดจากกระดูกผิดรูปแล้วเดินไม่ได้ ดังนั้น ถ้าเด็กวัยนี้ยังเดินไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ควรพาไปพบคุณหมอด้านระบบประสาท เพื่อตรวจดูการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อจ้ะ
-โรคกระดูกเปราะ ในช่วงขวบแรกเท้ายังไม่ได้รับน้ำหนัก เพราะยังไม่เริ่มยืนหรือเดิน แต่พอเข้าขวบที่สองเมื่อเริ่มหัดยืน หัดเดิน มักพบเด็กกระดูกหักแม้จะเป็นการรับน้ำหนักหรือแรงเพียงนิดเดียวก็ตาม โดยเป็นการหักแบบที่กระดูกไม่ค่อยเคลื่อน เนื้อเยื่อที่เกาะอยู่รอบกระดูกก็ไม่เสียหาย ขาอาจบวมนิดหน่อย ถ้าไม่สังเกตจะไม่รู้ เพราะร่างกายจะซ่อมแซมกระดูกที่หักได้เร็ว ทำให้คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่าลูกหกล้มแล้วเจ็บขาเลยหยุดเดิน ซึ่งจะมีอาการเป็นๆ หายๆ อย่างนี้สลับไปสลับมาจ้ะ
โรคนี้พบได้ไม่มากในเมืองไทย ประมาณ 1:100,000 ความรุนแรงมากน้อยต่างกัน เด็กบางคนโดนกระแทกแรงๆ ถึงจะหัก บางคนถ้าเป็นรุนแรงแค่ยืนขึ้นมาก็หักแล้วจ้ะ
โรคกระดูกเปราะจะพบได้ไม่มาก ถ้าเป็นรุนแรงจะเห็นกระดูกหักตั้งแต่แรกเกิด แต่ถ้าเป็นไม่รุนแรง ตอนที่เริ่มเดินจะเริ่มมีกระดูกหัก เนื่องจากกระดูกขาต้องเริ่มรับน้ำหนักตัว และเด็กมีการวิ่งเล่นล้มลงบ้าง การล้มกระแทกเพียงเบาๆ สำหรับเด็กที่เป็นโรคนี้ ก็ทำให้กระดูกหักได้ง่ายๆ โรคนี้เป็นความผิดปกติที่ยีน จึงยังไม่มีวิธีการป้องกัน แต่การรักษากระดูกที่หักในผู้ป่วยโรคนี้ทำได้ง่าย ส่วนใหญ่ใส่เฝือกกระดูกก็หายได้เร็วจ้ะ
-โรคเท้าปุก ถ้าเป็นโรคนี้เท้าจะตะแคง แต่ยังคงยืนและเดินได้ มักเป็นมาตั้งแต่เกิด สาเหตุยังไม่รู้แน่ชัด เชื่อว่ามีหลายองค์ประกอบรวมกัน เช่น กระดูกเท้าสร้างมาผิดรูป กล้ามเนื้อควบคุมการเคลื่อนไหวของข้อเท้าและเท้าไม่สมดุลกัน
โรคนี้ยิ่งรักษาเร็วเท่าไหร่ยิ่งได้ผลดี สามารถรักษาได้ทันทีหลังคลอด โดยคุณหมอจะดัดเท้าให้กลับสู่รูปร่างปกติแล้วใส่เฝือก และเปลี่ยนเฝือกให้ทุกๆ สัปดาห์จนกว่าเท้าจะมีรูปร่างปกติ หลังจากนั้นก็จะให้ใส่รองเท้าพิเศษ และดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องจ้ะ
เดินบันไดบอกพัฒนาการ วัยเตาะแตะอย่างหนูจะเดินก้าวขึ้นบันไดทีละเท้า คือก้าวได้ทีละ 1 ขา ตั้งแต่เริ่มเดินได้คือประมาณ 1-3 ขวบ จะเดินสลับเท้าได้ประมาณ 3 ขวบไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตด้วยนะจ๊ะ เพราะถ้าปล่อยให้หนูเดินขาเดียวมากๆ ขาก็จะพัฒนาข้างเดียว อาจจับตัวหนูโยกไปทางขาที่ไม่ได้ใช้เพื่อให้หนูได้ฝึกสลับขา ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เกิดความถนัดทั้ง 2 ขา และเป็นการกระตุ้นให้สมองสั่งการได้ดีขึ้นด้วย เพราะทุกก้าวย่างของหนู คือการเรียนรู้โลกที่นับวันจะกว้างขึ้นเรื่อยๆ และการเดินคือหนทางเดียวที่จะช่วยพาหนูไปสู่การเรียนรู้เหล่านั้นจ้ะ
เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ นพ.ปริยุทธิ์ เจียรพัฒนาคม หัวหน้าหน่วยโรคกระดูกเด็ก
ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเลิดสิน