อาการซีดเป็นอาการที่พบได้เสมอในวัยเด็ก การดูว่ามีซีดหรือไม่ควรดูที่ริมฝีปาก หรือด้านในของขอบตาล่าง การดูที่ผิวหนัง เช่น บริเวณหน้า อาจบอกได้ยากถ้าคนนั้นมีผิวขาวหากต้องการทราบแน่นอนต้องเจาะเลือดตรวจดูสีและจำนวนของเม็ดเลือดแดง
สาเหตุของการซีด มีสาเหตุใหญ่ 2 ประการ คือ
1. การสร้างสีเฮโมโกลบิน และเม็ดเลือดแดงน้อยลง
สาเหตุที่สำคัญที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มนี้ คือ การขาดธาตุเหล็ก ซึ่งมีความสำคัญในการสร้างสีของเม็ดเลือดแดง ที่เรียกว่า เฮโมโกลบิน การขาดธาตุเหล็กส่วนใหญ่เกิดจากการได้รับธาตุเหล็กทางอาหารไม่เพียงพอ เพราะได้อาหารที่ไม่มีคุณประโยชน์ครบถ้วน ธาตุเหล็กนี้มีมากในไข่แดง เนื้อสัตว์ ตับ ผัก เป็นต้น หากเด็กไม่ได้อาหารเสริมดังกล่าวในวัยอันควร จะเกิดอาการซีดจากการขาดธาตุเหล็กได้ นอกจากการได้รับธาตุเหล็กที่ไม่เดียงพอแล้ว การขาดธาตุเหล็กอาจเกิดขึ้นได้จากการดูดซึมไม่ดี เช่น ลำไส้อักเสบ ท้องเดินเรื้อรัง เป็นต้น
นอกจากธาตุเหล็กแล้ว สารอื่น เช่น โปรตีน กรดโฟลิค และวิตามินบี12 เป็นสารสำคัญในการสร้างเลือด การขาดสารดังกล่าวจะทำให้เด็กซีดได้
การสร้างเลือดที่น้อยลงในไขกระดูกอาจเกิดแต่กำเนิด หรือเกิดภายหลัง ซึ่งเป็นผลจากการใช้ยาหรือสารเคมีบางชนิด ทำให้ไขกระดูกไม่ทำงาน และสร้างเม็ดเลือดน้อยลง ซึ่งมักทำให้เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำลงด้วย ผู้ป่วยจึงมีอาการซีด ภูมิคุ้มกันโรคเสียไป และจะมีเลือดออกง่ายด้วย ยาที่เป็นสาเหตุได้ เช่น คลอแรมเฟนิคอล
สาเหตุอื่นของการสร้างลดลง ก็อาจพบในรายที่มีการติดเชื้อได้รับพิษจากตะกั่ว ผู้ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง และ ผู้ป่วยมีการทำงานของต่อมธัยรอยด์น้อย เป็นต้น
2. มีการทำลายเม็ดเลือดแดงมากขึ้น หรือมีการเสียเลือดออกไปจากร่างกาย
โดยปกติร่างกายจะมีการทำลายเม็ดเลือดแดงเป็นประจำเมื่อเม็ดเลือดแดงมีอายุครบอายุขัยของมัน คือประมาณ 120 วัน แต่ถ้าการทำลายเกิดขึ้นก่อน หรือมีการเสียเลือดก็จะเกิดการซีดได้ สาเหตุที่สำคัญในกลุ่มนี้ คือ การเสียเลือดจากร่างกาย เช่น ได้รับอุบัติเหตุ การผ่าตัด เป็นต้น
สำหรับการทำลายเม็ดเลือดแดงที่เกิดขึ้นก่อนระยะเวลาอันควรนั้นมีสาเหตุมากมาย อาจเป็นเพราะความผิดปกติแต่กำเนิด เป็นโรคกรรมพันธุ์ที่มีการทำลายเม็ดเลือดแดงง่าย เช่น มีความผิดปกติในการสร้างเฮโมโกลบินซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเม็ดเลือดแดง ได้แก่ ผู้ป่วยพวกโรคธาลัสซีเมีย และเฮโมโกลบินผิดปกติซึ่งมีมากมายในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอีสาน ผู้ป่วยพวกนี้มีการทำลายเม็ดเลือดเร็วและมากกว่าปกติ ทำให้ผู้ป่วยซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ลักษณะของผู้ป่วยมีหน้าแบน มีตับม้ามโต ไม่แข็งแรงเหมือนคนปกติ
ความผิดปกติในลักษณะของเม็ดเลือดแดง เช่น เม็ดเลือดแดงมีขนาดเล็กและกลมกว่าปกติ หรือความผิดปกติในเอนไซม์ของเม็ดเลือดแดง เช่น พวกที่ขาดเอนไซม์กลูโคส ๖ ฟอสเฟต ดีไฮโดรเจเนส (G-6 PD Deficiency) อาจเกิดจากอาการซีดจากการทำลายเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น
สำหรับการเสียเลือดเรื้อรังนั้น สาเหตุที่สำคัญและพบบ่อยในเด็กไทย คือ การมีพยาธิปากขอในลำไส้ ซึ่งดูดเลือดเป็นอาหาร ทำให้ผู้ป่วยซีดได้มากๆ ไข่ของพยาธิปากขอจะปะปนออกมากับอุจจาระ ถ้าผู้ป่วยที่มีพยาธิปากขอไปถ่ายอุจจาระไว้บนดิน ไข่พยาธิจะฟักออกมาเป็นตัวอ่อนของพยาธิอยู่บนดิน ที่ชื้นแฉะ และสามารถเข้าร่างกายโดยการไชเข้าทางผิวหนัง เด็กที่ไม่ได้ใส่รองเท้าเดินไปในบริเวณที่มีตัวอ่อนของพยาธิก็จะมีโอกาสได้รับพยาธินี้ ส่วนสาเหตุการเสียเลือดเรื้อรังอื่นๆ เช่น เป็นแผลในกระเพาะอาหาร พบได้น้อยในวัยเด็ก