เด็กวัย 1-3 ปี จากที่ทำอะไรไม่ค่อยได้ก็เริ่มจะมีความสามารถมากขึ้น จึงเป็นวัยที่เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อยากทำอะไรด้วยตัวเอง มีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก จึงมีเรื่องน่าเป็นห่วงตามมาก็คือ เวลาไม่ได้ดั่งใจ หรือไม่พอใจในตัวเอง ก็มักจะตบหัวตัวเองแรง ๆ ด้วยอารมณ์หงุดหงิด แม่เลยสงสัยว่าการที่ลูกทำแบบนี้บ่อย ๆ นั้นผิดปกติไหม เป็นอันตรายหรือเปล่า มาดูคำตอบกันค่ะ
เด็ก ๆ วัยนี้มักจะเกิดความรู้สึกคับข้องใจ อึดอัด สับสน อยากเป็นเด็กโต อยากเก่ง แต่ก็ถูกจำกัดด้วยความสามารถอันน้อยนิดของตัวเอง และสกัดกั้นจากผู้ใหญ่ที่ไม่ยอมให้ทำ ก็ย่อมทำให้รู้สึกหงุดหงิด โมโห อยากอาละวาด อยากกรี๊ด และเนื่องจากการสื่อสารด้วยคำพูดยังทำได้ไม่ดี เช่น จะบอกว่าหนูโมโหแล้วนะก็เลยแสดงออกทางภาษากาย เป็นการเอามือตีหัวตัวเอง พอทำแล้วได้รับการตอบสนอง เช่น พ่อแม่ทำสีหน้าตกอกตกใจ รีบห้ามปราม รีบยอมตามใจ ก็จะเรียนรู้ว่าวิธีนี้ได้ผลจึงทำต่อเนื่อง
หากลูกทำร้ายตัวเองอีก ให้ใช้วิธีการเบี่ยงเบนความสนใจลูกไปสู่สิ่งอื่น เช่น หากลูกจะเล่นของอันตราย ให้รีบเก็บขึ้นแล้วชวนลูกไปเดินเล่น หรือหาของเล่นมาทดแทน เด็กส่วนใหญ่จะลืมเหตุการณ์ตรงนั้นแล้วสนใจสิ่งใหม่ที่น่าสนใจได้ และเพื่อป้องกันครั้งต่อไป พ่อแม่ก็ควรวางแผนล่วงหน้าว่าอาจมีอะไรที่ทำให้ลูกอยากเล่นแต่ให้เล่นไม่ได้ แล้วเก็บให้พ้นสายตาลูกตั้งแต่ต้น จะได้ไม่ต้องทำให้ลูกรู้สึกอยากได้อยากเล่นสิ่งนั้น
หากเบี่ยงเบนอย่างไรก็ไม่สำเร็จ ลูกร้องไห้และอาละวาดไม่หยุดเพื่อทำให้พ่อแม่ยอมให้ได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องยอมให้ลูกอาละวาด แต่พาเข้ามุมแล้วบอกลูกว่าถ้าหนูร้องไห้ต้องเข้ามุม แล้วพ่อแม่ก็เดินออกมาโดยไม่ต้องให้ความสนใจ ไม่ทำสีหน้าวิตกกังวล ไม่ต้องโมโหลูก ไม่ต้องขึ้นเสียงดังกับลูก จนกว่าลูกจะหยุดอาละวาดด้วยตัวเอง แล้วจึงเดินกลับไปหาลูก ชวนลูกไปล้างหน้าล้างตา ทุก ๆ ครั้งให้ทำแบบนี้ ลูกจะเรียนรู้ว่าวิธีอาละวาดไม่ได้ผล จะเลิกพฤติกรรมนี้ได้ค่ะ ถึงแม้ลูกจะตีตัวเองแรงอย่างไร หรือ ร้องไห้จนอาเจียน ก็ไม่ต้องตกใจ ไม่อันตรายแน่นอนค่ะ
ข้อมูลจาก : พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ