ลูกพูดช้า ถึงวัยที่ต้องพูดแต่ยังลูกยังพูดไม่ได้ สาเหตุเป็นเพราะอะไร คุณหมอมีคำแนะนำให้ค่ะ
ลูกถึงวัยที่พูดได้แล้ว แต่ลูกยังไม่ยอมพูด ลูกพูดช้า ลูกพูดไม่ได้ ลูกพูดไม่ชัด คุณพ่อคุณแม่คงแอบกังวลใจอยู่ไม่น้อย เพราะในช่วงอายุ 1-5 ปี ถือเป็นโอกาสทองของพัฒนาการทางภาษาของเด็ก ๆ เลยก็ว่าได้ สาเหตุอะไรที่ลูกไม่พูด คุณหมอให้คำแนะนำไว้ดังนี้ค่ะ
1. มีปัญหาการได้ยิน
เด็กจะสื่อความหมายด้วยท่าทางแทน ไม่พูด เรียกไม่ค่อยหัน ไม่สะดุ้งเมื่อได้ยินเสียงดัง ๆ การวินิจฉัยต้องตรวจการได้ยินโดยใช้เครื่องตรวจการได้ยินโดยแพทย์นะคะ สาเหตุนี้มองข้ามไม่ได้เลยค่ะ เพราะว่าถ้าการได้ยินของน้องมีปัญหา ต่อให้ฝึกพูดอย่างหนักแค่ไหน น้องก็ไม่ได้ยินค่ะ
2. สติปัญญาบกพร่อง
พัฒนาการของเด็กจะช้าในทุกด้าน ทั้งการพูด กล้ามเนื้อมัดใหญ่/มัดเล็ก และการช่วยเหลือตนเอง/เข้าสังคม หากคุณแม่ตรวจสอบพัฒนาการด้านอื่น ๆ ของลูกแล้วพบว่าช้าด้วย ก็อาจจะเข้าข่ายค่ะ
3. ออทิสซึ่ม
เด็กจะมีพัฒนาการด้านสังคมล่าช้า ไม่สบตา ไม่สนใจ ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใคร ร่วมกับมีปัญหาด้านการสื่อสาร ไม่สามารถพูดสื่อความหมายกับคนอื่นหรือไม่สามารถแสดงท่าทางเพื่อสื่อความหมาย และมีพฤติกรรมหรือความสนใจหรือการกระทำ ที่ซ้ำๆ จำกัด และเปลี่ยนแปลงได้ยากมาก
4. การเลี้ยงดู
บางครั้งการที่ปล่อยปละละเลยหรือขาดการกระตุ้นอย่างเหมาะสม เช่น ให้เด็กดูโทรทัศน์มากเกินไป คือเกินกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน (โดยเฉพาะ 2 ปีแรก) หรือผู้เลี้ยงดูขาดปฏิสัมพันธ์กับเด็ก พูดคุยและเล่นกับเด็กน้อย ปล่อยให้เด็กเล่นคนเดียวอยู่เรื่อย ๆ ข้อนี้พบมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากพ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านจำเป็นต้องฝากลูกไว้กับพี่เลี้ยงหรือผู้สูงอายุมาก ๆ
เมื่อคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกจะพูดช้า อย่ารีรอนะคะ รีบพาลูกไปพบแพทย์ทันทีที่สงสัยเลย เพราะที่หมอย้ำไว้ตั้งแต่แรก โอกาสทองในการพัฒนาทางงภาษามีแค่ 5 ปีนะคะ ถ้าลูกมีปัญหาที่ต้องแก้ไขจริง การไปฝึกตั้งแต่เนิ่น ๆ ย่อมเป็นผลดีแน่นอนค่ะ
ขึ้นอยู่กับสาเหตุ หากเป็นปัญหาการได้ยินก็ต้องใส่เครื่องช่วยฟัง
หากเป็นปัญหาสติปัญญาบกพร่อง ก็ต้องฝึกกระตุ้นพัฒนาการกันทุกด้าน โดยจะมีทีมสหวิชาชีพ (กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด อรรถบำบัด) เป็นพี่เลี้ยงสอนคุณพ่อคุณแม่ค่ะ
หากเป็นออทิสซึ่มก็ต้องเน้นด้านสังคม โดยเริ่มจากฝึกให้เด็กมองหน้าสบตา ฝึกพูด รู้จักบอกความต้องการ และอาจต้องใช้ยาร่วมด้วย ถ้ามีปัญหาอารมณ์ พฤติกรรมก้าวร้าว หรืออยู่ไม่นิ่ง
ถ้าเป็นสาเหตุจากการเลี้ยงดูที่ขาดการกระตุ้นที่เหมาะสม แนะนำให้ปิดโทรทัศน์เลยนะคะ และผู้ดูแลต้องหันมาพูดคุยและเล่นกับเด็กมากขึ้น ฝึกให้เด็กบอกความต้องการให้มากขึ้น
ผู้ดูแลต้องพูดคุยกับเด็กให้มากขึ้น ถึงแม้เด็กจะไม่พูดตอบก็ตาม ออกจากบ้านก็อาจชี้ชวนเด็กให้ดูนก ต้นไม้ ผู้คน หรือสิ่งน่าสนใจข้างทาง
หากิจกรรมทำร่วมกับเด็ก ย้ำว่าทำร่วมกันนะคะ ไม่ใช่ให้เด็กเล่นแล้วคุณแม่ดูอยู่ห่าง ๆ เช่น ต่อตัวต่อ ปั้นแป้งโดว์ วาดรูป โดยระหว่างเล่นให้มีการพูดคุยกับลูกตลอดเวลา
ฝึกให้เด็กบอกความต้องการให้มากขึ้น เช่น ลูกเดินถือขวดน้ำมาหาคุณแม่ อาจถามเขาว่า “ให้แม่ทำอะไรลูก..เปิดฝา(พร้อมทำท่าประกอบ) ใช่มั้ยคะ” หยุดรอการตอบสนองของเด็กสักครู่ แล้วค่อยเปิดให้เขา บางครั้งเราอาจจะเข้าใจอยู่แล้วว่าเด็กทำท่าแบบนี้เขาต้องการอะไร แต่คุณพ่อคุณแม่ลองเข้าใจให้ช้าลงหน่อยนะคะ เพราะถ้าเรารู้ใจเขาไปเสียหมด เด็ก ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องบอกว่าเขาต้องการอะไร จริงไหมคะ
โดย : พญ.พรพิมล นาคพงศ์พันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์