Motor Skill
ทุก ครั้งของการเล่น เจ้าหนูตัวน้อยจะได้พัฒนาทักษะทางร่างกาย ที่เรียกว่า Motor Skill ที่ครอบคลุมถึงการเคลื่อนไหวและการทรงตัวทั้งหมด จากนอนแบเบาะอยู่ที่พื้น กลายเป็นหันกลับตัวมานอนคว่ำ คืบคลานไปตามพัฒนาการ มองเห็นสีเทียนอยู่ไกลๆ ก็เอื้อมหยิบสีเทียนมาระบายเล่น เนื่องจากส่วนหนึ่งเจ้าหนูนั้นต้องการที่จะเล่นและเรียนรู้ออกนอกกรอบเขต เดิมๆ ตามสัญชาติญาณจากการคลานไปหาของเล่น เริ่มตั้งไข่ และเดินไปหยิบของเล่นนั้นด้วยตัวเอง เอาของเข้าปากทุกอย่างที่อยากรู้
ทั้งนี้ไม่เฉพาะของเล่นหรือการเล่นที่เป็นปัจจัยให้เจ้าหนูมีการพัฒนาทาง Motor Skill สัญชาติญาณเบื้องต้นของร่างกายเองก็จะเติบโตพัฒนาควบคุมกล้ามเนื้อแขนขาให้ พัฒนามากขึ้น โดยมีการเล่นเป็นตัวกระตุ้นและเป็นแรงผลักให้ทักษะทางด้านนี้ดีขึ้นนั่นเอง
Creative Brain : ช่วง 2 ปีแรกของชีวิต ระบบสมองที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย จะทำงานรวดเร็วและว่องไวมาก โดยเฉพาะระบบประสาทที่ช่วยเชื่อมต่อประสาทการเคลื่อนไหวแต่ละด้าน โดยควบคุมการเคลื่อนไหวและการทรงตัวของเจ้าหนูได้เป็นอย่างดีตามลำดับ นอกจากนี้การเคลื่อนไหวที่คล่องตัวหรือได้ขยับแข้งขาบ่อยๆ ยังช่วยพัฒนาสมองส่วนซีรีเบลลัม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของลูกอีกด้วย
Cognitive Skill
ก่อนที่เด็กๆ จะถูกฟูมฟักให้เป็นนักคิดสร้างสรรค์ได้ จะต้องเริ่มปลูกฝังกระบวนการคิดให้ตั้งแต่วัยเยาว์ และต้องทำให้เป็นธรรมชาติที่สุดด้วย ซึ่งคุณสามารถสร้างกระบวนการคิดให้ลูกได้เอง ด้วยการสื่อสารผ่านการเล่น
กระบวนการคิดของลูกล้วนมาจากการเรียนรู้และความคิด ณ อายุขณะนั้น ระหว่างที่ทารกเติบโตขึ้นมาเป็นเด็กวัยเตาะแตะ กระบวนการคิดของเขาจะถูกหล่อหลอมด้วยวัตถุและสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น การเรียนรู้เรื่องของใช้อย่างขวดนม ที่ลูกจะรู้ทันทีว่าต้องเอาเข้าปากยามหิว เจ้าหนูจะเรียนรู้และเข้าใจกฎเกณฑ์หลายๆ อย่าง เช่น เมื่อนั่งรถจะต้องนั่งที่คาร์ซีต ทั้งนี้คุณไม่สามารถวางกฎเกณฑ์ให้ลูกเรียนรู้ได้ทันที นอกจากจะสร้างการเล่นอย่างแนบเนียนขึ้นมา อย่างเช่น ร้องเพลงเบาๆ ยามที่อยากให้ลูกตื่นนอน หรือว่าให้ลูกเล่นช้อนส้อมพลาสติกก่อนที่จะกินอาหาร การเล่นที่ดีจึงทำมาสู่กระบวนการคิดต่อเนื่องของเด็กๆ และเข้าใจกฎเกณฑ์บางอย่างอย่างง่ายๆ ด้วย
เมื่อลูกเข้าใจกฎเกณฑ์บางอย่างแล้ว กระบวนการคิดของเขาจะต่อเนื่องและเป็นระบบ เขาจะพร้อมและมั่นใจในสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป ทำให้เขาสามารถคิดไอเดียใหม่ๆ ที่จะเล่นกับคุณอย่างสนุกสนาน หรือไม่อย่างนั้นเจ้าหนูก็จะรู้จักรอคอย สังเกตสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นกว่าเจ้าหนูที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิตเขาเลย
Creative Brain : ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ หรือมีอะไรตื่นตาตื่นใจขึ้น เจ้าหนูของคุณจะตื่นเต้นและสำรวจทุกๆ อย่างด้วยพลังงานในตัวแสนล้นเหลือ นั่นทำให้เซลล์สมองของลูกวิ่งปะทะกันได้อย่างดีและรวดเร็ว รวมทั้งสิ่งแวดล้อมเดิมๆ ที่เจ้าหนูคาดเดาได้ก็ยังทำให้ระบบประสาทต่างๆ จะเชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ
เชื่อไหมว่าเซลล์ประสาทสามารถเชื่อมต่อได้มากกว่า 15,000 จุดทีเดียว จากจุดนี้นอกจากกิจวัตรประจำวันแล้ว คุณยังสามารถสร้างได้ด้วยการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ และของเล่นที่สมวัย รวมทั้งกำลังใจเล็กๆ น้อยๆ จากคุณด้วย
Emotion Skill
หลายคนอาจสงสัยว่าทักษะทางด้านอารมณ์จะเกี่ยวข้องกับการเล่นแบบ Creativity ได้อย่างไร ซึ่งคุณจะต้องยอมรับไว้ก่อนอย่างหนึ่งว่า ทักษะทางอารมณ์ที่ดีนั้นช่วยให้เจ้าหนูดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ซึ่งเราสามารถสร้างความสุขได้ด้วยการเล่น
ในระยะเริ่มต้นอารมณ์ของเจ้าหนูแรกคลอดจะเกี่ยวข้องกับความต้องการขั้นพื้น ฐานของร่างกาย เช่น ความหิว ความเปียกชื้น เป็นต้น แสดงออกในรูปแบบของการร้องไห้ หรือการยิ้ม แต่เมื่อเจ้าหนูโตขึ้นแล้วอารมณ์ต่างๆ จะเริ่มซับซ้อนใกล้เคียงผู้ใหญ่เข้าไปทุกขณะ เพราะเขาจะเริ่มคิด มีอารมณ์หลากหลาย และตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้ความเข้าใจและการปรับอารมณ์ทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้จากการเล่น เพราะการเล่นจะช่วยให้เจ้าหนูใจเย็น มีสมาธิ เรียนรู้ที่จะแบ่งปัน ยอมรับเวลาของเล่นเสีย หรือหมดเวลาการเล่นแล้ว
ซึ่งขณะนี้ถ้าเจ้าหนูอายุไม่ถึง 3 ปี อารมณ์ตามพัฒนาการยังใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลางอยู่ แต่ถ้าโตขึ้นกว่านั้นเจ้าหนูก็จะเริ่มมี Social Skill มากขึ้น เพื่อเรียนรู้สังคมภายนอกต่อไป อย่างเช่น เพื่อนๆ หรือญาติคนอื่นๆ และตอบโจทย์การอยู่ร่วมกันทางสังคมที่มีทั้งการให้และการรับ อย่างเช่น การรอคิว คุณรู้หรือไม่ว่าเด็กๆ ส่วนใหญ่จะเรียนรู้และตอบโต้อารมณ์ต่างๆ คล้ายกับผู้ดูแลได้มากที่สุด ซึ่งจะกลายเป็นความผูกพัน ความรัก และความมั่นใจ ดังนั้นคุณสามารถสื่อสารความรู้สึกดีๆ นี้ได้ผ่านการเล่นที่เจ้าหนูชื่นชอบด้วยกันนั่นเอง
More Question … More Creative
มาดูคำถามที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำมาพูดคุยหรือตั้งคำถามระหว่างการเล่นกัน กับลูก เพื่อให้เจ้าหนูเกิดกระบวนการคิดเป็นตั้งแต่วัยเริ่มต้น
- ตั้งคำถามปลายเปิด เช่น คนในรูปกำลังทำอะไรอยู่ ลูกคิดว่าปลาในบ่อคิดอย่างไร
- ถามความรู้สึกของลูก เช่น ลองปิดตาแล้วให้ลูกจับผ้าหรือหมอน แล้วให้ลูกทายว่ามันคืออะไร
- ถามลูกถึงความเปลี่ยนแปลง เช่น ถามลูกว่าจะดีกว่านี้ไหมถ้ามันหวานขึ้น ถ้าเร็วกว่านี้ลูกจะสนุกกว่านี้ไหม
- ถามคำถามที่คุณรู้ว่ามีคำตอบมากมาย เช่น ลูกว่าเราใช้น้ำทำอะไรบ้าง ทำไมน้ำถึงเย็น
- ใช้คำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เช่น จะเกิดอะไรขึ้นถ้าต้นไม้เป็นสีน้ำเงิน จะเป็นอย่างไรถ้าลูกบินได้
- ถามในเส้นทางที่ต่างออกไป เช่น มีวิธีใช้ช้อนอย่างอื่นอีกไหม ผ้าห่มใช้ทำอะไรได้อีก