พี่น้องชอบแย่งของเล่น หรือแย่งกอดแม่กันเสมอ บางครั้งตัดสินใจให้พี่เสียสละให้น้องบ่อยๆ จนพี่บ่นว่าอะไรๆ น้องก็แย่งไปหมดเลย เราจะมีวิธีการแบ่งของเล่นหรือพูดกับคนพี่อย่างไรดี หรือ มีวิธีที่จะจัดการกับคนน้องอย่างไรบ้าง
A : ดิฉันมีบุตรสาว 2 คน คนโตอายุ 4 ขวบ 8 เดือน คนที่สองอายุ 1 ขวบ 8 เดือน ห่างกัน 3 ปี มีปัญหาดังนี้ค่ะ ลูกทั้งสองคนมีปัญหาแย่งของเล่น หรือแย่งแม่กันเสมอ เช่น แม่กอดพี่ไม่ได้ น้องจะไม่ยอม พูดไม่ได้ แต่แสดงอาการดึงมือแม่ออกจากพี่ให้มากอดน้องคนเดียว ดิฉันแก้ปัญหาด้วยการพูดกับน้องว่าพี่ก็เป็นพี่เหมือนน้องที่เป็นลูกของแม่ แม่รักพี่มากอดกันดีกว่านะ ให้พี่กอดน้อง น้องกอดพี่ บางทีก็กอดกัน 3 คนเลย บางครั้งแย่งของเล่นที่มีเพียงชิ้นเดียว ดิฉันตัดสินใจพี่เสียสละให้น้องบ่อยๆ จนบางครั้งพี่ก็จะบ่นว่าอะไรๆ น้องก็แย่งไปหมดเลย เราควรจะมีวิธีการแบ่งของเล่นหรือพูดอย่างไรกับคนพี่ดีคะ มีวิธีที่จะจัดการกับน้องคนที่สองอย่างไรดี (ดิฉันดูแลลูกเอง ไม่มีพี่เลี้ยงคะ)
Q : ไม่ว่าคุณจะมีลูกกี่คน แม้กระทั่งแฝดก็อาจมีนิสัยแตกต่างกันได้ ทั้งที่มีอะไรหลายอย่างเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกันไปหมดทุกอย่าง ทุกคนมีชีวิต จิตใจ ความคิด ความต้องการ ฯลฯ เป็นของตน เราจึงต้องทำความรู้จักลูกทุกคนและยอมรับเขา ไม่ไปทำหรือไม่ไปปฏิบัติเหมือนกันหมดทุกอย่าง แต่ในเรื่อง กฎกติกา หลักวินัยของบ้านจะต้องเป็นแนวปฏิบัติเดียว เช่น ทานอาหารพร้อมกันตอน 1 ทุ่ม ต้องรับประทานอาหารหมดจาน แต่ไม่ไปบังคับความเร็วความช้า ความมากน้อย หรือชนิดอาหารอย่างนั้นอย่างนี้ เราแนะนำได้บ้าง แต่ไม่บังคับเกินไป
ปัญหาประจำที่เกิดขึ้นระหว่างเด็กๆ ด้วยกันโดยเฉพาะวัยเล็กก่อน 5-6 ปีคือการแย่งของกัน คุณจะเห็นว่าไม่ว่าเราจะซื้อหาให้เหมือนกัน เท่ากันเพียงไร ก็หนีไม่พ้นปัญหานี้ นั่นคือธรรมชาติของมนุษย์จะมองของคนอื่นดีกว่า อยากได้มากกว่าของๆ ตน แต่ของตนก็หวงไม่ให้ใคร พ่อแม่จึงมีหน้าที่อบรมขัดเกลานิสัยและสอนสั่งในทางดีอย่างค่อยเป็นค่อยไป เรายังไม่ว่าเด็ก ไม่ไปถือโทษเด็ก เพราะเขายังไม่รู้ไม่เข้าใจ แต่ถ้านิสัยเหล่านี้ติดตัวไปจนโตนั้นอันตรายมากๆ ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น และต่อสังคมประเทศชาติส่วนรวม
แม่คือบุคคลที่แสนรัก แสนหวง เด็กๆ จะแย่งแม่กัน คนเล็กเขายังไม่เข้าใจ และจะหวงมาก ฝ่ายคนโตนั้นเขาไม่มั่นใจเอาเลยว่าแม่ยังรักเขายังต้อง การเขาเห็นเขาสำคัญอยู่หรือเปล่า การที่อะไรๆ ที่ให้พี่เสียสละให้น้องบ่อยๆ นั้นไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะนั่นคือการก่อให้เกิดความโกรธ ไม่พอใจ อิจฉา ไม่ชอบน้อง จะแย่งของน้อง แข่งขันกับน้อง และน้อยใจพ่อแม่ ขอคุณคิดดูเพียงง่ายๆ ว่า ของๆ เราที่มีอยู่ทุกวันนี้เราให้คนอื่นได้ไหม แม้แต่พี่น้องกันก็เถอะ เราจะพบว่ามากกว่า 80% ทีเดียวที่เราให้ไม่ได้ เกิดความเสียดายหวงแหน นับประสาอะไรกับเด็กๆ ซึ่งของๆ เขาขณะนี้ก็คือของเล่น ขนม เสื้อผ้า เป็นต้น
ฉะนั้นถ้าคุณอยากให้ลูกมีจิตเมตตาโตขึ้นเสียสละเป็น ขณะนี้อย่าหักหาญ บังคับใจให้เกิดความรู้สึกน้อยใจโกรธเคือง รู้สึกเสียเปรียบไม่ยุติธรรมเลย เพราะความรู้สึกที่ค้างคาไม่ได้ช่วยให้หาย จะติดไปจนโต กลายเป็นคนเห็นแก่ตัวไม่มีความสุข และทำให้พี่น้องไม่ถูกกันไปได้ทางที่ดีที่สุด คุณควรสอนทั้งสองฝ่าย โดยการปฏิบัติร่วมกับการพูดบอกสั้นๆ พอเข้าใจ ให้เด็กรับรู้และค่อยๆ เข้าใจไปทีละน้อย กว่าจะปฏิบัติได้ในที่สุดเมื่อโต เช่น ของๆ พี่ เราจะบอกว่าของชิ้นไหนที่หนูรัก ไม่อยากให้น้องเล่น หนูเก็บอย่าทิ้งไว้ เพราะน้องยังไม่รู้ แม่ก็คงดูแลไม่ได้หมด หนูยังไม่ต้องให้น้อง เพราะน้องก็ยังเล่นไม่เป็น จะเสียหายเปล่าๆ แต่ของชิ้นใดที่หนูคิดว่าน้องจะพอเล่นได้ หนูชวนน้องหรือให้น้องเล่นแม่ก็จะดีใจมาก"คำพูดทำนองนี้จะให้สิทธิที่มอบความไว้วางใจและให้พี่รู้สึกดีกับตัวเอง บางครั้งเราอาจให้เขาช่วยเลือกว่าอันใดควรให้น้องได้บ้างโดยเอาอายุความสามารถเป็นหลัก เช่น น้องอายุ 1 ขวบ 8 เดือน เล่นได้เพียงเท่านี้เหมือนหนูแต่ก่อน แต่เดี๋ยวนี้หนูเล่นได้มากขึ้น ทำได้มากขึ้น รู้เรื่องมากขึ้น หนูเหมาะกับอย่างนี้ หรือหนูสอนน้อง ช่วยน้องเล่นได้ เป็นต้น
คุณอาจให้คนพี่ช่วยงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ และกล่าวชมเขาว่า "แม่เห็นแล้วว่าหนูจัดโต๊ะได้ วันนี้แม่มีเวลากับหนูมากขึ้น เพราะหนูช่วยแม่แบ่งเบาภาระ" บางทีบอกกับคุณพ่อว่า วันนี้ลูกคนโตช่วยทำอะไรบ้าง เขาเล่นกับน้อง ช่วยน้อง ทำให้คุณแม่มีเวลาทำขนมอร่อยๆ ให้ เป็นต้น คำชมพฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยให้ลูกภูมิใจ รู้สึกตัวเองดี ฉันทำได้ พ่อแม่เห็นด้วยว่าฉันทำดี เด็กจะอยากทำต่อไป เป็นการแยกแยะบทบาทพี่น้องได้ชัดเจนเรื่องลูกคนที่สองนั้นคุณจะไปหวังให้เข้าใจในขณะนี้ยังลำบาก แต่ปฏิบัติได้ เช่น เขาแย่งของพี่ เราจะบอกว่านี่ของพี่ ต้องคืนเขา แล้วอุ้มเขาออกมา หรือคืนของพี่ไป เขาร้องไห้ ดิ้นรน ก็ปล่อยเขา ไม่ไปใส่ใจ สักประเดี๋ยวก็ชักจูงเบนความสนใจทางอื่น ถ้าคุณปล่อยให้น้องได้ของพี่เรื่อยๆ นั้น คือการสร้างปัญหาให้เกิดขึ้น พี่ก็น้อยใจ น้องก็ได้ใจ เคยตัว จะเอาของพี่เรื่อยๆ กลายเป็นติดตัว เวลาไปอยู่กับคนอื่นอาจไปแย่งของเขา จะเป็นเด็กที่รอไม่ได้ อดทนได้น้อย ความยับยั้งชั่งใจน้อย เป็นอันตรายในการเติบโตเข้าสังคม การไม่ยอมของเด็ก ปฏิกิริยาของเด็กที่ร้องไห้ จึงเป็นการแสดงของเขาที่เรายอมรับ เข้าใจ แต่พฤติกรรมเราต้องควบคุม
ศ.(เกียรติคุณ)พญ.วัณเพ็ญ บุญประกอบ