กังวลลูกชายอายุ 1 ปีกว่า ชอบเล่นแรงๆ ตีเจ็บๆ ทำแล้วหัวเราะชอบใจ ที่เห็นคนอื่นตกใจและเจ็บ จะมีวิธีแก้ไขปัญหาพฤติกรรมนี้อย่างไร คุณหมอมีคำตอบ
Q : ดิฉันมีลูกชายอายุ 1 ปีครึ่งค่ะ เรื่องที่กังวลคือลูกชายชอบเล่นแรงๆ ทำแล้วหัวเราะชอบใจ อย่างดิฉันนั่งอยู่ก็เดินมาตีแรงๆ ที่หลัง แต่ไม่ได้ตีด้วยความโกรธนะคะ เพราะตีเสร็จแล้วก็หัวเราะชอบใจที่เห็นเราตกใจ แต่คนที่โดนตีจะเจ็บมาก ดิฉันกลัวไปทำร้ายคนอื่น จะจัดการอย่างไรดีคะ - แม่นุ๊ก / กรุงเทพฯ
A: อย่าเพิ่งกังวลไปเลยครับ คุณแม่สังเกตดีแล้วว่าน้องตีตอนไม่โกรธนะครับ ลักษณะอย่างนี้เหมือนเล่น แต่เนื่องจากเด็กยังไม่เข้าใจว่าคนอื่นจะเจ็บ แกก็สนุกที่ทำให้คนอื่นมีปฏิกิริยาได้ ไม่ว่าจะเป็นการตกใจ หันมามอง ทำเสียงต่างๆ เหล่านี้เป็นการตอบสนองต่อพฤติกรรมทั้งนั้น การตอบสนองต่อพฤติกรรมจะทำให้เด็กยิ่งมีพฤติกรรมมากขึ้น กลายเป็นการเรียนรู้ แต่เรียนรู้ผิด คิดว่า การตี คือ การเล่น
ลูกชอบเล่นตีแรงๆ หลักการแก้ไขเป็นอย่างนี้ครับ
พฤติกรรมทำนองนี้ เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากอารมณ์ที่เป็นบวก คือ อยากเล่น ไม่ควรทำให้ความอยากเล่นกับคนหายไป ควรจัดการที่การเล่นแทน โดยจับหัดให้เล่นกับคนในรูปแบบใหม่ เช่น เวลาแกเข้ามาทำท่าจะตี ให้จับมือไว้ พร้อมกับบอกว่า “ตีคนไม่ได้ อยากเล่นให้....” แล้วหาอะไรก็ได้ที่สนุกกว่ามาเล่นด้วย
การสอนแบบนี้ถือเป็นการยับยั้งพฤติกรรม และสอนพฤติกรรมใหม่ตรงๆ
การสอนแบบที่สอง คือ สอนการเล่น ในเวลาอื่นๆ เช่น ชวนลูกมาเล่นอะไรก็ได้ แล้วสอนไปว่า “เล่นแบบนี้ก็สนุกดีนะ” ที่สำคัญ ต้องเล่นให้สนุกนะครับ ไม่ใช่เล่นน่าเบื่อแล้วบอกเด็กว่าสนุก
แรกๆ เด็กจะไม่ค่อยยอมหรอกครับ เพราะแกเคยสนุกกับวิธีเก่า วิธีใหม่มักจะสนุกไม่เท่า บางบ้านก็เลือกเล่นแบบสู้กัน พอเด็กเข้ามาทำท่าจะตี พ่อแม่จักจี๋เสียก่อน เลยไม่มีแรงตี แบบนี้ก็สนุกดี แต่บางทีกลายเป็นต้องตีด้วย ให้พ่อแม่จักจี๋ด้วยก็มี
การแก้ไขต้องมีความมานะสักหน่อย และสอนการเล่นต่างๆ ให้มากไว้ เด็กจะได้เลือกเล่นได้ตามอารมณ์และคนที่อยู่ด้วยในขณะนั้น
ไม่ควรตีตอบเพื่อให้เด็กเจ็บ เพราะแกยังคิดกลับไม่เป็น พาลจะเข้าใจไปว่าการเล่นกันคือการตีกันไป และที่ต้องระวังคือการใช้เทคนิคเพิกเฉย ซึ่งได้ผลในการยับยั้งพฤติกรรม แต่ก่อนพฤติกรรมจะหยุดเด็กจะทำมากขึ้นๆ ก่อน จนแน่ใจแล้วว่าอีกคนเพิกเฉยแน่นอน พฤติกรรมจึงหายไป
อย่ากังวลไปเลยครับ เป็นแบบนี้กันหลายคน