การขีดเขียนของเด็กวัยเตาะแตะ ไม่ใช่การบังคับเขียนตัวอักษร ก. ไก่ ข.ไข่ นะคะ อย่างนั้นเรียกว่าเป็นการบังคับคัดเสียมากกว่า นักการศึกษาส่วนใหญ่จะให้คำจำกัดความพัฒนาการด้านนี้ก่อนจะไปสู่การรฃขีด เขียนว่า "การขีดเขี่ย" ซึ่งก็คือการขีดเขียนเล่นอย่างเป็นอิสระมีเสรี ตามพื้นที่ที่ลูกชอบ ไม่ว่าจะเป็นบนสมุดภาพวาด หรือแม้แต่บนกำแพงบ้านสีขาวที่คุณพ่อเพิ่งทาสีไว้ให้คุณลูกแสดงฝีมือนั่นเอง
พัฒนาการวัยขีดเขี่ย
วัย 1 ปี : วัยนี้กล้ามเนื้อมือเริ่มจะแข็งแรง พอที่จะกำสีแท่งโตอย่างสีเทียน สีชอล์กได้ การลากเส้นของลูกอาจจะไปในทิศทางเดียว ขีดๆ เป็นเส้นสลับไปมาไปเรื่อยๆ ยังไม่ค่อยรู้สึกว่าตนเองอยากเปลี่ยนสีเท่าไร ขีดเล่นแป๊บเดียวเดี๋ยวก็เบื่อค่ะ
วัย 2 ปี : ทิศทางของการขีดเขี่ยเริ่มมีขึ้นมีลงแล้วนะคะ อาทิ เส้นยึกยักเหมือนฟันปลา วาดวงกลม ครึ่งวงกลม ชอบที่เปลี่ยนสีนู้นสีนี้บ่อยๆ ด้วย แล้วก็ไม่ค่อยชอบวาดอยู่กับที่ด้วยนะ ชอบลองเอาสีไประบายตรงนู้นตรงนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเตรียมพร้อมให้ดีค่ะ
วัย 3 ปี : ประสบการณ์เรื่องรูปทรงลักษณะมีมากขึ้นอย่างมากมาย หากเด็กวัยนี้จะวาดรูปคน เขาจะวาดวงกลมก่อน แล้วตามด้วยแขนขาเลย ยังไม่มีองศ์ประกอบชัดเจน ใช้สีเลียนแบบธรรมชาติมากขึ้น เมื่อลูกโตขึ้นก็จะมีการใส่รายละเอียดมากขึ้น หรือหากเด็กได้อ่านนิทานเยอะ สามารถจำภาพตัวอักษรได้ ภาพตัวอักษรนั้นก็จะปรากฏในภาพวาดได้เช่นกัน และที่สำคัญตอนนี้เด็กเริ่มหัดใช้ดินสอได้แล้ว
พัฒนาการเหล่านี้เป็นพัฒนาการคร่าวๆ ที่อยากให้สังเกตเอาไว้เท่านั้นนะคะ เด็กทุกคนไม่มีระบบการขีดเขี่ยที่ตายตัว ดังนั้นประเมินตัวลูกอย่างที่ลูกเป็นจะดีที่สุดค่ะ
ขีดเขี่ย ... จินตนาการไม่จำกัด
การขีดเขี่ยของลูกมาจากไหนใครรู้บ้าง อยากยกตัวอย่างให้ฟังว่า คุณคงเคยเห็นมนุษย์ถ้ำที่เขาวาดภาพกิจวัตรประจำวันลงบนผนังถ้ำ สิ่งเหล่านั้นทำให้เรารู้ว่าคนเหล่านั้นคิดอย่างไร และต้องการอะไรในเบื้องต้น ซึ่งเจ้าหนูก็เช่นกันค่ะ การที่เขาเห็นสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว การได้ฟังนิทานบ่อยๆ ดูหนังสือภาพวันละหลายครั้ง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นมโนภาพในจิตใจที่ลูกจะสามารถแสดงออกมาได้ในงานเขียน ลูกอาจจะประทับใจแม่น้ำที่มีปลาเยอะแยะ ภาพที่ออกมาอาจจะไม่ใช่รูปแม่น้ำเสียทีเดียว แต่อาจเป็นรอยสีฟ้าเป็นปื้นแล้วมีจุดดำๆ หากเราใกล้ชิดลูกพอ และรู้ว่าในกิจวัตรประจำวันลูกกำลังสนใจอะไรบ้าง เราก็คงพอมองออกว่านั่นคือปลา นี่คือแม่น้ำ รูปจึงเป็นสารสื่อความคิดได้ดีระดับหนึ่งค่ะ
เตรียมพร้อมรับ ... นักขีดเขี่ยตัวน้อย
- จัดบ้านให้เอื้อต่อการวาดเขียนของลูก เช่น แปะกระดาษสีขาวขนาดใหญ่ไว้ที่กำแพงหรือพื้นบ้าน เพื่อให้ลูกละเลงสีได้ตามชอบใจ และกระดาษสีขาวแผ่นใหญ่นี้ ยังช่วยให้อิสระทางจินตนาการ ลูกได้ปลดปล่อยอย่างเต็มที่ ไม่เลอะบ้านอีกด้วย
- เลือกสีให้เหมาะกับพัฒนาการ โดยเด็กวัยนี้ชอบสีเทียน สีชอล์ก เพราะด้ามใหญ่จับถนัดมือ และถ้าสีไม้มีขนาดใหญ่พอๆ กับสีเทียนก็ใช้ได้เหมือนกัน เราต้องเลือกชนิดที่ Non Toxic เผื่อว่าเจ้าหนูเอาเข้าปากจะได้ไม่เป็นพิษไง
- หนังสือนิทาน หนังสือภาพ ควรมีติดบ้านไว้บ้าง เพราะเป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นเยี่ยม เด็กจะมองตามนิ้วที่คุณชี้ในภาพ พร้อมกับจดจำรูปภาพและตัวอักษรจากนิทาน ไว้เป็นตัวอย่างในการขีดเขียน
CONCERN
- หนังสือวาดรูประบายสีที่เป็นตัวการ์ตูนมาให้ แล้วให้ลูกระบายสีเอาตามช่องที่เว้นไว้ เป็นการสกัดกั้นพัฒนาการอย่างยิ่ง เพราะเด็กไม่ต้องใช้ความคิดจินตนาการ แค่เติมสีลงไปในช่องก็เสร็จ การเขียนจึงต้องมีความเป็นอิสระ สู้คุณซื้อกระดาษเปล่าๆ มายังได้ประโยชน์กว่าเลย
รู้หรือเปล่าว่า
- การเริ่มต้นการเขียนที่ดีต้องประกอบไปด้วยนิ้วมือที่แข็งแรง พอที่จะหยิบจับกำอะไรได้ การเล่นทราย ดินน้ำมัน แป้งโด ถือเป็นวิธีเล่นที่เพียบพร้อมที่สุดในการพัฒนากล้ามเนื้อมือ เชื่อได้ว่าเด็กคนไหนสนุกที่จะเล่นของเหล่านี้บ่อยๆ เขาจะมีการเขียนที่พัฒนาไปได้อย่างรวดเร็วในอนาคต
- การเร่งให้ลูกเขียนเร็วๆ เป็นวิธีที่ทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจของลูก เมื่อมือและนิ้วมือของลูกยังไม่พร้อม การฝึกเขียนจะเมื่อยมาก ในที่สุดเด็กก็จะไม่อยากทำ ไม่อยากเขียน และไม่อยากเรียนในที่สุด พอให้เขาพร้อมก่อนก็ยังไม่สายเกินไปสำหรับการเขียนค่ะ
- เคยคุยกับครูปฐมวัยที่คลุกคลีกับเด็กอนุบาลหลายท่าน มีคำแนะนำน่าสนใจว่าวิธีดูการเขียนของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่โดนบังคับให้ เขียนตั้งแต่นิ้วมือยังไม่พร้อม คือให้สังเกตว่านิ้วทั้งหมดจะงุ้มเข้าหากัน ข้อมือจะหักเข้าหาตัว จับดินสอแน่น ตื้น และตั้งฉากกับโต๊ะค่ะ