โรคอ้วน โรคผอม และโรคโลหิตจาง ในเด็ก เป็น 3 โรคที่สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดมาจากการกิน หากคุณสังเกตว่าลูกมีลักษณะเข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งทั้ง อ้วนไป ผอมไป และซีดจนเกินไป อย่านิ่งนอนใจ เพราะลูกอาจป่วยเป็น 1 ใน 3 โรคนี้ได้ มาดูวิธีป้องกันโรคอ้วน โรคผอม และโรคโลหิตจาง 3 โรคที่เกิดจากการกินกัน
No.1 ยอดฮิต... โรคอ้วนในเด็ก
โรคอ้วนในเด็กถือได้ว่าเป็นโรคที่หนูวัยคิดส์เป็นกันอย่างแพร่หลายเลยครับ จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 พบว่า ‘ความชุกของภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเพิ่มอย่างต่อเนื่องโดยพบว่าเด็กไทยอายุ 1-14 ปี 540,000 คนหรือร้อยละ 4.7 มีภาวะน้ำหนักเกิน และอีก 540,000 คน หรือร้อยละ 4.6 มีภาวะอ้วน’
โรคอ้วนคือ ภาวะที่ไม่สมดุลระหว่างการได้รับพลังงาน และการใช้พลังงานของร่างกาย การได้รับพลังงานในที่นี้หมายถึงพฤติกรรมการกินของเจ้าหนูที่ไม่สัมพันธ์กับการออกกำลังกายนั่นเองครับ แม้มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากกรรมพันธุ์ แต่หากลูกมีพฤติกรรมการกินไม่เหมาะสม อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอ้วนได้มากกว่ากรรมพันธุ์อีกนะครับ ที่บอกว่าไม่เหมาะสมก็คือการที่เด็กกินอาหาร อาหารไฮแคลอรี เช่น อาหารฟาสฟู้ดส์ อาหารขนมถุงอบกรอบ อาหารประเภทที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ และอาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบมาก เช่น เบเกอรี่ ชีส เนย เป็นต้น เครื่องดื่ม น้ำหวาน น้ำอัดลม หรือแม้กระทั่งนมเปรี้ยวก็มีปริมาณน้ำเชื่อมมาก นั่นทำให้มีระดับน้ำตาลที่มากตามไปด้วยครับ อาหารที่ยกตัวอย่างมานี้จะมีพลังงานสูงมากครับ และหากเด็กไม่มีกิจกรรมที่เผาผลาญพลังงานในแต่ละวันอย่างเหมาะสมก็ทำให้เด็กเกิดโรคอ้วนขึ้นได้แน่นอนครับ
ลักษณะอาการและผลกระทบ
สำหรับสัญญาณเตือนว่าเจ้าหนูเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนหรือไม่ รูปร่างและน้ำหนักที่มากคงจะบ่งบอกชัดที่สุด แต่อาการแทรกซ้อนอื่นๆ สามารถเป็นสัญญาณได้ด้วยเช่นกัน คือ ปวดข้อเท้า เพราะข้อเท้าต้องรองรับน้ำหนักตัวที่มากจนเกินไป หรือมีอาการนอนกรน และหยุดหายใจขณะหลับ เพราะเด็กอ้วนจะมีท่อทางเดินหายใจแคบกว่าปกติ และเด็กที่เป็นโรคอ้วนจะเหนื่อยง่ายกว่าเด็กปกติอีกด้วยครับ
โรคอ้วน.... ‘ลดได้’ ‘กันได้’ ‘แก้ได้’
แม้จะเป็นโรคที่เกิดได้ง่ายและพบได้บ่อย เรามีเทคนิคเด็ดๆ สยบโรคอ้วน สามารถนำไปใช้ได้ทั้งกับเด็กอ้วน เด็กปกติ หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่ก็นำไปใช้ได้ครับ
No.2 ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
โรคโลหิตจาง คือ ภาวะเข้มข้นเลือดที่ต่ำกว่าปกติ ส่วนสาเหตุที่เด็กไทยเป็นโรคนี้มากที่สุด มาจากการที่เด็กขาดธาตุเหล็กจากการกินอาหารที่ไม่เหมาะสม โดยเด็กอาจไม่ได้กินอาหารที่มีธาตุเหล็ก หรืออาจกินร่วมกับอาหารที่ขัดขวางไม่ให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ครับ
ลักษณะอาการและผลกระทบ
เด็กจะเบื่ออาหาร เพราะธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญของเอนไซม์หลายๆ ประเภทในร่างกาย เมื่อขาดธาตุเหล็กไปความรู้สึกอยากอาหารจึงน้อยลงครับ เด็กจะมีอาการเฉื่อยชามากกว่าปกติ อ่อนเพลียและเหนื่อยง่าย อาจเป็นลมได้บ่อยครั้งครับ และสิ่งที่สังเกตเห็นได้ทางกายภาพ คือ เด็กจะมีภาวะซีดที่เปลือกตาล่าง ริมฝีปาก เล็บจะนิ่มเว้าลงไปเป็นรูปช้อน
อย่างไรก็ตามการที่จะยืนยันว่าหนูเป็นโรคนี้ได้ จะต้องใช้การตรวจเลือดจากห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ที่แน่ชัดอีกครั้ง ซึ่งหากลูกมีอาการที่กล่าวมาข้างต้น คุณพ่อคุณแม่สามารถพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียดอีกครั้งได้เลยครับ
โลหิตจางรักษาและป้องกันยังทัน
สำหรับการรักษาและป้องกันโรคโลหิตจางในเด็กนั้นทำได้ดังนี้ครับ
• กินยา ลูกอาจต้องกินยาธาตุเหล็กติดต่อกันสักประมาณ 2-4 เดือนครับ
• กินอาหาร ลูกต้องปรับพฤติกรรมการกินทั้ง 3 แบบ คือ
1. กินอาหารที่มีธาตุเหล็กสม่ำเสมอ เช่น สัตว์เนื้อแดง ไข่แดง เครื่องในสัตว์ ตับ เลือดหมู และผักใบเขียว
2. ลดอาหารที่ขัดขวางการรับธาตุเหล็ก ได้แก่ ชา กาแฟ ธัญพืช และกลุ่มนมชนิดต่างๆ
3. ทานอาหารที่ช่วยดูดซึมธาตุเหล็ก ได้แก่ ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว มะเขือเทศ ส้ม ฝรั่ง
No.3 โรคน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์
เกิดจากการที่เด็กได้รับพลังงานจากอาหารที่ไม่เพียงพอและไม่เหมาะสม ผู้ใหญ่อาจไม่ใส่ใจการกินของเด็กมากพอ ปล่อยไปตามนิสัยการกินที่ไม่ดี เด็กไม่อยากกินก็ไม่ให้กิน เช่น เด็กบางคนอาจกินข้าวแค่ 1-2 มื้อต่อวัน หรือชนิดของอาหารที่เด็กกินไม่เหมาะสม และให้พลังงานไม่มากพอครับ
ลักษณะอาการและผลกระทบ
มีการเจริญเติบโตช้าผิดปกติ ตัวเล็กมาก น้ำหนักตัวน้อย ผอมไม่มีแรง เบื่ออาหาร เจ็บป่วยบ่อย เนื่องจากร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอภูมิคุ้มกันจึงลดลง พัฒนาการและสติปัญญาไม่ดี ทำให้เด็กไม่มีโอกาสพัฒนาตามวัยอย่างเหมาะสมครับ
น้ำหนักตัวน้อย… ป้องกันด้วยโภชนาการที่ดี
• การบริโภคอาหารในแต่ละวันอย่างเหมาะสม แต่ละมื้อควรมีอาหารที่หลากหลาย คุณพ่อคุณแม่ควรปรุงอาหารที่มีพลังงานสูงเหมาะกับเด็ก และควรฝึกให้เด็กกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ด้วยครับ
• หากลูกเป็นเด็กกินยาก คุณพ่อคุณแม่ห้ามใช้อารมณ์กับเด็ก บังคับขู่ หรือตีเด็ดขาดเลยนะครับ คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามเสนอทางเลือกให้เขา ให้เขาได้เลือกเมนูเอง มีอิสระในการตัดสินใจด้วยตนเองบ้าง
ทั้ง 3 โรคที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ทั้งนั้นเลยนะครับ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่อย่าได้วางใจไปนะครับ ทางที่ดีลองหันมาสำรวจพฤติกรรมการกินของเจ้าหนูกันดีกว่า หากยังไม่เหมาะสม รีบจัดการให้ถูกต้องเลยครับ