อาหารที่เหมาะสำหรับเด็กวัย 1-3 ปี
เด็กวัย 1-3 ปีถือเป็นช่วงแห่งการเคลื่อนไหวอย่างแท้จริง และอาหารก็คือกำลังสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยเป็นรากฐานแห่งพัฒนาการของลูกได้ โดยเฉพาะอาหารหลัก 5 หมู่
-
-
-
- คาร์โบไฮเดรต : มีอยู่มากในข้าว แป้ง ขนมปัง เส้นก๋วยเตี๋ยว หัวมันต่างๆ และน้ำตาล หากเราใช้คาร์โบไฮเดรตไม่หมด ร่างกายก็จะสังเคราะห์เป็นไขมันเก็บไว้เป็นพลังงานสำรอง แต่ถ้ามากไปก็เหลือเกินสำรองกลายเป็นความอ้วนได้
- โปรตีน : แหล่งโปรตีนสำคัญๆ ได้แก่ เนื้อสัตว์ต่างๆ ไข่ ถั่ว ธัญพืช และนมสด เป็นต้น เป็นขุมพลังที่สร้างการเจริญเติบโตตั้งแต่กระดูก กล้ามเนื้อ ไปจนถึงเส้นผม และทำหน้าที่สร้างเนื้อเยื่อใหม่ ซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ชำรุด ควบคุมการทำงานของปฏิกิริยาเคมีในร่างกาย
- ไขมัน : เป็นสารอาหารที่ให้พลังงานสูงสุด และจำเป็นต่อการเจริญเติบโต เพราะเป็นที่ละลายวิตามิน เอ ดี อี และเค ทั้งนี้ ยังเป็นส่วนประกอบของระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น ระบบประสาท เนื้อเยื่อ และผนังเซลล์ สุดท้ายไขมันใต้ผิวหนังยังช่วยลดการกระทบกระเทือนของอวัยวะต่างๆ ด้วย
- วิตามินและแร่ธาตุ : เด็กๆ ที่วิ่งเล่นจนเหนื่อยอ่อน จะสูญเสียสังกะสีทางเหงื่อและปัสสาวะ โดยสังกะสีมีมากใน อาหารทะเล ไข่ จมูกข้าวสาลี ส่วนแหล่งอาหารที่มีแร่ธาตุอื่นๆ สูงได้แก่ เนื้อสัตว์ต่างๆ ผัก ถั่ว และผลไม้โดยเฉพาะกล้วย วิตามินในผลไม้ยังมีสารแอนตี้ออกซิแดนท์ ที่ช่วยบำรุงสมองและทำให้ระบบประสาททำงานได้ดี สามารถสั่งงานให้ร่างกายส่วนต่างๆ ทำงานได้อย่างปกติ
นอกจากนี้ความหวานของผลไม้ยังช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น แบบไม่มีพลังงานเหลือเกินความจำเป็น เพราะเป็นความหวานที่ได้จากน้ำตาลฟลุกโตสซึ่งให้พลังงานน้อย และทำให้เกิดฟันผุได้น้อยกว่าความหวานจากขนมต่างๆ ด้วย
แหล่งอาหารสำคัญของเด็กวัย 1-3 ปี
-
-
-
- นม – วัย 1-3 ปี ลูกสามารถดื่มนมวัวชนิดธรรมดาได้แล้ว และไม่ต้องกลัวว่าลูกจะอ้วน เพราะลูกอยู่ในวัยที่ใช้พลังงานทั้งวัน นมจะไปช่วยให้ร่างกายลูกเจริญเติบโตเร็วขึ้น ส่วนวัย 2 ขวบขึ้นไปหรือเมื่อลูกเริ่มเข้าโรงเรียนอนุบาล หากคุณพ่อคุณแม่จะเปลี่ยนให้ลูกมาดื่มนมไขมันต่ำ หรือนมพร่องมันเนยก็สามารถทำได้ในช่วงวัยนี้ ส่วนนมผสม เช่น นมช็อกโกแลต จะมีน้ำตาลผสมมากกว่านมสดทั่วไป แต่ในแง่ของคุณค่าของสารอาหารแล้วไม่แตกต่างกัน ดังนั้นถ้าหลีกเลี่ยงนมผสมเหล่านี้ได้ก็จะดี สารอาหารในนมนั้นจะมีแคลเซียมสร้างกระดูกให้หนาและแข็งแรง โดยควรได้รับนมวันละไม่ต่ำกว่า 3/8 ออนซ์ ร่างกายจึงจะได้แคลเซียมพอเพียงต่อการสร้างกระดูก
- ผลไม้ - เริ่มจากให้ทีละชนิด จะได้เรียนรู้รสชาติของผลไม้แต่ละอย่างที่แตกต่าง ให้หม่ำเป็นชิ้น(ขนาดพอคำ) เพราะจะได้เส้นใยจากผลไม้มากกว่าปั่นเป็นน้ำ เลือกชนิดที่มีเนื้อนิ่ม ยุ่ย เคี้ยวง่าย เช่น มะละกอสุก กล้วยสุก มะม่วงสุก เป็นต้นและสลับชนิดผลไม้และหน้าตาให้หลากหลาย เพื่อให้ได้วิตามินเอ ซี ครบถ้วนขาว
- แป้ง – ตัวการสร้างพลังงาน ซึ่งลูกจะชอบกินเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวโดยเฉพาะเส้นใหญ่ เพราะกินง่ายลื่นคอ ไม่แข็งแห้งเกินไป คุณควรปรับให้คาร์โบไฮเดรตมีความหลากหลาย เช่น เส้นก๋วยเตี๊ยว มักกะโรนี หรือขนมปัง
- เนื้อสัตว์ – ลูกสามารถกินเนื้อสัตว์ได้ทุกชนิดแล้ว สามารถให้ลูกลองกินเนื้อปลา อกไก่ฉีก หรือหมูสับ ตุ๋นปรุงรสเล็กน้อยเพื่อให้ลูกกินง่าย โดยสัดส่วนต้องมีปริมาณสูงในแต่ละมื้อ เพื่อเป็นสารอาหารในการเจริญเติบโต
ปัญหาการกินและการแก้ไขของเด็กวัย 1-3 ปี
หนูไม่กินผัก: ลูกอาจจะมีประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีเกี่ยวกับผัก เช่น ถูกบังคับให้กินเมื่อยังไม่พร้อม อีกทั้งกากใยของผัก เมื่อสัมผัสถูกลิ้นแล้วทำให้รู้สึกสากๆ ไม่นุ่มนิ่มเหมือนอาหารประเภทอื่น และไม่มีใครในบ้านกินผักให้ดูเป็นตัวอย่างเลย
-
-
-
- เด็กเล็กๆวัย 1-3 ปี มักจะชอบอาหารรสอ่อน ไม่ชอบผักหรือของที่จะต้องเคี้ยวมากๆ ควรเลือกผักที่นิ่มและมีรสหวานอ่อนๆ เช่น แครอต มะเขือเทศ
- เลือกผักที่ไม่มีกลิ่นฉุน
- ต้มหรือผัดให้เปื่อยนิ่มกินง่าย
- ปรุงรสชาติด้วยซอสปรุงรส เกลือเล็กน้อย และน้ำตาล เพื่อสร้างสุนทรีย์ในการกิน
- ชวนลูกปลูกผัก ง่ายๆ เพื่อสร้างบรรยากาศและแรงจูงใจในการกินผัก
ไม่กินเนื้อสัตว์ : เด็กๆ บางคนไม่ยอมกินเนื้อสัตว์ จะชอบกินแต่ข้าว ขนมปัง และหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์เพราะความเหนียวหรือกลิ่น แม้ว่าจะสับละเอียดแล้วแต่ลูกก็มักจะคายทิ้งออกมา
-
-
-
- หาสารอาหารที่ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ เช่น ไข่ เต้าหู้ หรือโปรตีน
- ให้ลูกดื่มนมเสริม
- พยายามปรับให้ลูกกินเนื้อสัตว์ เริ่มจากเนื้อไก่ ปลาน้ำจืด เพราะไม่มีกลิ่น กินง่าย
เบื่ออาหาร : มักจะเป็นในช่วงพ้นขวบปีแรกไปแล้ว เพราะเริ่มจะเรียนรู้เรื่องกินแบบผู้ใหญ่ และปฏิเสธอาหารที่ไม่น่าสนใจไม่จูงใจ แต่นอกจากนี้ก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้อีก เช่น อยู่ในช่วงเจ็บป่วย กินยาบางอย่างที่ทำให้ความอยากอาหารลดลง มีสิ่งอื่นที่น่าสนใจกว่าอาหาร หรือบรรยากาศในการกินไม่ดี ฯลฯ
-
-
-
- พยายามให้ลูกกินไข่ให้ได้วันละ 1 ฟองเพื่อการันตีว่าลูกได้สารอาหารที่สำคัญ
- งดของกินจุบจิบหรือให้ลูกกินอาหารให้เป็นเวลามากขึ้น
- พยายามหาเวลาให้ลูกได้ออกกำลังกาย หรือชวนให้ออกมาวิ่งเล่นนอกบ้าน
- กินข้าวกับลูกเพื่อสร้างบรรยากาศ
อมข้าว : เมื่อป้อนเข้าไปแล้วกว่าเจ้าหนูจะกินได้สักคำก็นาน เพราะอมไว้ ไม่ยอมเคี้ยวและกลืน พร้อมทำท่าเหมือนไม่อยากกิน อีกทั้งเด็กบางคนไม่ถูกฝึกให้เคี้ยว เพราะครอบครัวบดหรือปั่นมาตลอดก็จะทำให้มีปัญหาการกินในอนาคตได้
-
-
-
- ต้องงดอาหารทุกอย่างก่อนมื้ออาหาร ยกเว้นน้ำเปล่า เมื่อลูกหิวจะยอมกินเอง
- สร้างบรรยากาศที่ดีในการกิน อย่าลงโทษหรือบังคับให้เคี้ยว กลืน เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีกับมื้ออาหาร
- ฝึกลูกให้กินด้วยตัวเอง แม้จะเลอะเทอะบ้างก็ต้องยอม
- ชมเมื่อลูกกินข้าวได้มาก
- ฝึกให้ลูกเคี้ยวด้วยอาหารที่หยาบขึ้น เพราะช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหารโดยตรง และฝึกขากรรไกรด้วย
เลือกกิน : หนูน้อยบางคนช่างเลือกอาหาร ทำให้เสี่ยงต่อการขาดสารอาหารเป็นอย่างยิ่ง เพราะพอลูกไม่กินอาหารแปลกใหม่แล้วคุณพ่อคุณแม่ยอม ลูกก็ไม่มีความจำเป็นจะได้ทดลองอาหารชนิดอื่นๆ อีกเลย
-
-
-
- ให้ลูกได้ลิ้มลองอาหารแปลกใหม่เสมอ โดยค่อยๆ ป้อนทีละน้อย
- พยายามสร้างความรู้สึกที่ดีกับอาหารที่ลูกปฏิเสธ เช่น กินให้ดูเป็นตัวอย่างแล้วให้ลูกลองชิมดูบ้าง
- ลองดัดแปลงจัดปรุงอาหารให้ดูน่ากิน แปลกใหม่ไม่ซ้ำซาก
ติดฟาสฟูดส์ : อาหารฟาสต์ฟู้ดทั้งหลายที่กำลังนิยมกันนั้นเป็นอาหารที่มีกากใยน้อย ทำให้ขับถ่ายได้น้อย ทำให้มีสารตกค้างในร่างกายมากด้วย
-
-
-
- ตั้งเป็นกฎในบ้านเลยว่า จะให้ลูกกินได้เดือนละกี่ครั้ง
- ในมื้อเร่งด่วน คุณแม่อาจต้องวางแผนเตรียมอาหารไว้ล่วงหน้า จะได้ไม่ต้องพึ่งฟาสต์ฟู้ดอยู่บ่อยๆ
- ไม่ซื้อขนมกรุบกรอบทิ้งไว้ที่บ้านเป็นจำนวนมากๆ เปลี่ยนเป็นผลไม้ หรือถั่วต่างๆจะดีกว่า