หนี่งในคำถามฮิตติดลมบนของพ่อแม่ก็คือ “ทำไมลูกกินซ้ำซาก” กังวลว่าจะส่งผลถึงสุขภาพในอนาคต สำหรับทางแก้ทำได้ไม่ยากครับ
ก่อนแก้ต้องรู้....กินซ้ำๆ ซากๆ ไม่ดีแน่
การที่ปล่อยให้ลูกได้รับสารอาหารซ้ำซาก ถ้าอาหารที่ลูกชอบกินซ้ำ จำเจ ขาดสารอาหารชนิดใดจะทำให้ลูกขาดสารอาหารชนิดนั้นจนอาจมีผลเสียต่อการเจริญเติบโตและภูมิต้านทาน หรือถ้าอาหารนั้นมีสารอาหารชนิดใดมากเกินไปลูกก็จะได้รับมากเกินและสะสมในร่างกาย เช่น ถ้าอาหารมีไขมันสูงจะทำให้ลูกอ้วน และอาจส่งผลให้ร่างกายไม่เจริญเติบโตสมวัย ไม่แข็งแรง เจ็บป่วยบ่อยและผลเสียต่อพัฒนาการสมองของลูกได้
กินยากอยู่ที่เลี้ยงดู
ทางแก้กินซ้ำซาก
1.พ่อแม่รวมถึงคนในครอบครัวต้องทำและกินให้เป็นแบบอย่างให้ลูกเห็นจะได้เลียนแบบ
2.ทำอาหารให้มีหน้าตา ลักษณะ รส ชวนกินและเหมาะกับวัยของลูก ไม่หยาบแข็งกระด้าง หรือ มีรสหรือกลิ่นที่ลูกไม่ชอบ
3.เมื่อเริ่มต้นต้องใจเย็นๆ ให้ค่อยๆ เติมหรือผสมอาหารที่อยากให้ลูกกิน เช่น เนื้อ ผัก ฯลฯ ลงไปในปริมาณน้อยๆ จนลูกไม่รู้สึกปฏิเสธ เมื่อลูกคุ้นเคยกินได้แล้วจึงค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้นตามที่ลูกสามารถรับได้
4.ตักอาหารที่ต้องการให้ลูกกินปริมาณน้อยๆ วางตรงหน้าระยะลูกเอื้อมถึง ให้ลูกสามารถตักกินเองได้ หมดแล้วค่อยตักเพิ่ม
5.ปล่อยให้ลูกตัดสินใจและเลือกตักอาหารกินเอง ไม่บังคับหรือคะยั้นคะยอมากจนทำให้ลูกรู้สึกเครียดและต่อต้าน
6.ชมเมื่อลูกเริ่มกิน ชมอีกครั้งเมื่อลูกกินเสร็จ
7.ถ้าลูกไม่กิน ให้วางเฉยไม่รุกเร้าหรือพูดจาบังคับ ขู่
8.หมดเวลากิน (ไม่เกิน 30-35 นาที) ให้เก็บ และไม่ให้ลูกกินนม อาหารอื่นหรือขนมทดแทนหรือกินระหว่างมื้อ เพื่อให้ลูกรู้สึกหิวและอยากกินอาหารมื้อถัดไป
9.ทำอาหารใหม่ที่ต้องการให้ลูกกินวางไว้ให้ลูกเห็นบ่อยๆ ประมาณ 10-15 ครั้ง ลูกมักจะเริ่มคุ้นเคยและอาจลองกิน เมื่อลูกเริ่มตักกินเองให้ชมเชย ให้กำลังใจหรือให้รางวัลเป็นดาวเด็กเก่ง เด็กดี หรือของเล็กน้อย เช่น สติกเกอร์สะสมแต้ม
10.ทำบรรยากาศการกินที่โต๊ะอาหารให้ดี สนุกสนาน ชวนรับประทาน ไม่จู้จี้ จุกจิก ชวนทะเลาะหรือขัดแย้งจนเสียบรรยากาศ
เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ลูกอยากลองชิมอาหารใหม่บ้างแล้วละครับ
3 ปัจจัยแวดล้อมลูกกินซ้ำซาก
1.พ่อแม่ทำอาหารให้ลูกกินซ้ำซาก ไม่หลากหลาย จนติดเป็นนิสัย
2.พ่อแม่หรือคนเลี้ยงมีพฤติกรรมการกินจำเจ ซ้ำซาก ลูกจึงเลียนแบบและมีนิสัยการกินเช่นเดียวกัน
3.พฤติกรรมการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม ไม่เข้าใจธรรมชาติของลูก