คุณแม่ที่มีลูกน้อยวัย 1-3 ปี มักจะพบว่าลูกกินแต่นม ไม่ยอมกินข้าว ไม่ว่าคุณแม่จะใช้เคล็ดลับหรือกลวิธีใดๆ ทั้งหลอกล่อ คะยั้นคะยอ สารพัดวิธีที่จะพิชิตเจ้าตัวน้อย แต่ก็ไม่เป็นผลแถมลูกน้อยยังเมินหน้าหนีปฏิเสธการกินข้าวเอาเสียดื้อๆ จนทำให้คุณแม่กังวลใจอยู่ไม่น้อยเลยใช่ไหมคะ วันนี้เราจึงมีวิธีง่ายๆเพื่อให้ลูกน้อยของคุณแม่ยอมกินข้าวมาฝากค่ะ
วิธีมัดใจลูกน้อยให้ยอมกินข้าว
1. ควรลดปริมาณนม คุณแม่ควรจำกัดให้ลูกน้อยกินนมวันละ 2-3 กล่อง และไม่ควรให้กินนมก่อนกินข้าว เพราะจะทำให้ลูกอิ่ม หรืออาจทิ้งช่วงห่างระหว่างมื้ออาหาร (นมกับข้าว) อย่างน้อย 4 ชั่วโมง แนะนำให้คุณแม่ทำตารางเวลาการให้อาหารไว้ เพื่อสะดวกในการประเมินความเหมาะสมของอาหารและระยะห่างของอาหารแต่ละมื้อ
2. งดขนมและน้ำหวาน เช่น ขนมขบเคี้ยว ไอศครีม น้ำอัดลม น้ำหวาน เพราะ ขนมและน้ำหวานจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ลูกไม่รู้สึกหิว และไม่อยากกินข้าวได้ง่าย
3. ตักอาหารน้อยๆ คุณแม่ควรตักข้าวลงในถ้วยหรือจานสำหรับเด็กให้ลูกน้อย ถ้าไม่พอจึงค่อยเติม ไม่ควรตักข้าวพูนจานหรือในปริมาณมากๆ เพราะจะยิ่งทำให้ลูกไม่อยากกินอาหาร อีกทั้งยังทำให้ลูกเป็นโรคอ้วนได้
4. ควรฝึกให้ลูกกินข้าวเอง คุณแม่ควรฝึกให้ลูกน้อยรู้จักกินข้าวด้วยตัวเอง โดยอาจจะให้เขานั่งกินกับเพื่อนหลายๆ คน หรือกินข้าวพร้อมกันกับครอบครัวก็ได้ เพื่อช่วยให้กินข้าวได้หมดจาน หรือกินได้มากขึ้น
5. ควรสร้างระเบียบวินัยการกินให้ลูก โดยเริ่มจากเมื่อถึงเวลากินข้าว ไม่ควรให้ลูกลุกออกไปไหนจากโต๊ะกินข้าว ถึงเวลากินควรกินให้เสร็จเรียบร้อยแล้วค่อยไปเล่น ไม่เปิดโทรทัศน์ขณะที่กินอาหาร ไม่วางของเล่นไว้บนโต๊ะกินข้าว เพราะจะดึงความสนใจจากอาหารที่อยู่ตรงหน้า เป็นต้น
ทั้งนี้เพื่อให้ลูกน้อยกินข้าวได้มากขึ้นและไม่เบื่ออาหาร คุณแม่ควรสังเกตพฤติกรรมการกินของลูก เช่น เริ่มอมข้าว บ้วนข้าว สะบัดหน้า หากมีพฤติกรรมเหล่านี้ควรเลิกป้อนแล้วเก็บอาหาร เพราะเป็นสัญญาณของการเบื่ออาหารและมักจะไม่ยอมกินต่อ และเมื่อลูกไม่ยอมกินข้าว คุณแม่ก็ไม่ควรคะยั้นคะยอเดินตามป้อนข้าวลูก ไม่ควรบังคับหรือต่อว่าลูก และไม่ควรให้กินขนมหรือของหวานตามที่ลูกขอโดยเด็ดขาด
Tips : ถ้าหากคุณแม่กลัวว่าการที่ลูกไม่ยอมกินข้าวจะทำให้ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ คุณแม่สามารถเสริมวิตามินและธาตุเหล็กได้ด้วยการให้เขากินขนมปัง หรือผลไม้ทดแทนได้ค่ะ