คุณหมอแนะนำ 10 เรื่องที่ต้องระวังที่สุดในการดูแลเด็กแรกเกิด
การเลี้ยงลูกทารกไม่ได้ยากอย่างที่คิด กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมี 10 เรื่องแนะนำในการดูแลลูกทารกแรกเกิดมาบอกพ่อแม่มือใหม่ ให้นำไปปรับใช้ได้อย่างถูกต้องค่ะ บอกเลยว่าบางเรื่องก็เพิ่งรู้วันนี้เอง!
10 เรื่องควรรู้ในการดูแลเด็กแรกเกิด
- เด็กแรกเกิดมีไข้
เด็กอาจจะมีอาการร้องไห้ ดูไม่สบายตัว ให้คุณแม่ใช้ที่วัดอุณหภูมิวัด หากได้อุณหภูมิมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส แสดงว่าเจ้าตัวเล็กอาจจะมีไข้ ให้เช็ดตัวลูกโดยการ นำผ้าขนหนู ชุบน้ำอุณหภูมิห้อง เช็ดตัวลูกเพื่อลดไข้ ควรทำนานประมาณ 10-20 นาทีหรือตามความเหมาะสม หลังการเช็ดตัวลดไข้ประมาณ 15 นาทีให้วัดอุณหภูมิซ้ำ หาก อุณหภูมิไม่ลดลงหรือยิ่งสูงขึ้น ร่วมกับ ซึม ไม่ยอมกินนมแม่ ต้องรีบพามาหาคุณหมอค่ะ
- เด็กแรกเกิดมีภาวะตัวเหลือง
เป็นภาวะปกติที่พบได้ในเด็กแรกเกิด 2-3 วันหลังคลอดค่ะ โดยเฉพาะทารกที่คลอดก่อนกำหนด และมักหายไปได้เองภายใน 2 สัปดาห์ โดยไม่มีอันตราย อาการของตัวเหลืองคือตาและผิวหนังของทารกจะดูมีสีเหลือง ซึ่งเกิดจากการที่มีสารสีเหลืองที่เรียกว่า “บิลิรูบิน”ในเลือดสูงกว่าปกติ (บิลิรูบิน เป็นสารที่เกิดจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดงที่หมดอายุ ซึ่งจะถูกกำจัดออกจากร่างกายทางตับ)
ในกรณีที่สงสัยว่าทารกจะตัวเหลืองมากกว่าธรรมดาจำเป็นต้องเจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับ บิลลิรูบินในเลือด เนื่องจากภาวะตัวเหลืองที่มากกว่าปกติ อาจทำอันตรายต่อสมองได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้การรักษาเพื่อป้องกันอันตรายดังกล่าว การรักษาในปัจจุบันมี 2 แนวทาง คือ การส่องไฟ และการเปลี่ยนถ่ายเลือด
- เด็กแรกเกิดมีภาวะตัวเย็น
ปกติอุณหภูมิเด็กแรกเกิดนั้น จะอยู่ที่ประมาณ 36.5-37.5 องศาเซลเซียส กรณีที่ลูกตัวเย็น ควรสังเกตว่าปลายมือปลายเท้าเขียวคล้ำ และดูซึม ๆ หรือไม่ หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ เนื่องจากเด็กอาจมีภาวะติดเชื้อได้
- เด็กแรกเกิดแหวะนม หรืออาเจียน
เป็นภาวะปกติที่พบได้บ่อย เกิดเนื่องจากหูรูดกระเพาะอาหารยังไม่แข็งแรง ทำให้นมไหลย้อนขึ้นมา คุณแม่แก้ไขได้ด้วยปรับการให้นมใหม่ โดยให้ทารกดูดนมในปริมาณน้อย ๆ แต่ดูดบ่อยขึ้น และอุ้มเรอประมาณ 10-15 นาทีหลังมื้อนมทุกครั้ง จะช่วยลดอาการแหวะนมได้ หากลูกมีอาการสำรอก อาเจียน มีน้ำดีหรือเลือดปน น้ำหนักไม่ขึ้นตามเกณฑ์ ให้รีบนำมาพบคุณหมอด่วนที่สุดค่ะ
- เด็กแรกเกิดสะอึก
สะอึกเป็นภาวะปกติที่พบได้ในเด็กแรกเกิด กินนมเสร็จก็สะอึกทันที สามารถลดภาวะสะอึกได้โดยอุ้มเรอในท่าปกติ หรือลดปริมาณนมในแต่ละมื้อ แต่ให้บ่อยครั้งขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นทารกจะสะอึกน้อยลง
วิธีอุ้มเราแก้สะอึกในเด็กเล็ก
- อุ้มพาดบ่า จับลูกพาดขึ้นบ่า มือข้างหนึ่งประคองตัวลูก มืออีกข้างลูบหลังเบา ๆ จนกว่าจะเรอ การเดินไปมาจะช่วยให้ลมออกง่ายยิ่งขึ้น
- นั่งบนตัก แล้วใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้จับประคองคางลูกไว้ โดยให้ตัวลูกเอนไปข้างหน้าเล็กน้อย แล้วใช้มือลูบขึ้นเบา ๆ ช้า ๆ ลูบจากเอวด้านหลังขึ้นมาจนถึงต้นคอ เพื่อไล่ลม แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ลองหมดแล้วทุกวิธีก็ไม่หาย คุณพ่อคุณแม่ยังกังวลก็ปรึกษาคุณหมอได้ค่ะ
- เด็กแรกเกิดมีอุจจาระผิดปกติ
ในช่วง 1-2 วันแรกหลังคลอด จะเห็นว่าอุจจาระของทารกจะมีลักษณะเหนียว สีดำอมเขียว เราเรียกว่า ขี้เทา หลังจากนั้นเมื่อเจ้าตัวเล็กได้รับนมแม่มากขึ้น จะถ่ายอุจจาระบ่อยอย่างน้อยวันละ 3-4 ครั้ง ส่วนใหญ่อุจจาระจะมีลักษณะเละ ๆ สีเหลืองทอง บางรายก็อาจจะมีถ่ายเหลวคล้ายท้องเสีย แต่จริง ๆ แล้วอาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่กินนมแม่ โดยเฉพาะถ้าได้รับส่วนหน้ามากกว่านมส่วนหลัง ส่วนอุจจาระที่ผิดปกติในทารกแรกเกิด คือมีมูกเลือดปนหรือแข็งเป็นเม็ดมะเขือ และเพราะลูกอาจจะถ่ายบ่อย คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นทำความสะอาดก้นและอวัยวะสืบพันธุ์ของลูก และเปลี่ยนผ้าอ้อมทุกครั้งหลังถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ
- เด็กแรกเกิดตาแฉะ หรือท่อน้ำตาตัน
ตาแฉะ น้ำตาไหล หรือมีขี้ตามาก อาจเกิดจากท่อน้ำตาตีบ หากมีขี้ตาให้ใช้สำลีที่สะอาดชุบน้ำต้มสุกหรือน้ำเกลือ เช็ดทำความสะอาดจากหัวตาไปหางตา และใช้นิ้วก้อยนวดบริเวณหัวตาข้างจมูก เพื่อช่วยเปิดท่อน้ำตา แต่ถ้ามีภาวะแทรกซ้อน ตาแดงอักเสบ ต้องรีบพาไปหาคุณหมอค่ะ
- เด็กแรกเกิดสะดืออักเสบ หรือ สะดือยังไม่หลุด
โดยปกติสะดือจะหลุดประมาณ 2-4 สัปดาห์หลังคลอด คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยกล้าเช็ดสะดือเพราะกลัวลูกเจ็บ จึงทำให้สะดือยิ่งหลุดช้าขึ้น ดังนั้นควรเช็ดทำความสะอาดสะดือทุกครั้ง เมื่อต้องอาบน้ำลูก อย่าปล่อยให้สะดือแฉะ ต้องคอยดูแลสะดือให้แห้งอยู่เสมอ เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบ บวม แดง หรือมีหนอง และมีกลิ่นเหม็น หากมีอาการดังกล่าวควรปรึกษาคุณหมอค่ะ
- เด็กแรกเกิดมีพังผืดใต้ลิ้น
พังผืด หรือ เยื่อบาง ๆ บริเวณโคนลิ้นที่พบในเด็กเล็กถือเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่บางรายมีพังผืดยึดติดมากกว่าปกติ คือมาจนถึงบริเวณปลายลิ้น ทำให้เกิดปัญหาในการขยับบริเวณปลายลิ้น หรือการเคลื่อนไหวของลิ้นไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลต่อการดูดนมแม่ การแก้ไขภาวะพังผืดใต้ลิ้นจะใช้วิธีการขลิบ โดยในเด็กเล็กต่ำกว่า 4 เดือนหรือฟันยังไม่ขึ้นนั้น ใช้เวลาไม่นาน หลังขลิบ สามารถดูดนมแม่ได้ทันทีและกลับบ้านได้ แผลมักหายเองใน 1-2 สัปดาห์
- เด็กแรกเกิดมีผื่นชนิดต่าง ๆ
- ผดผื่นร้อน เกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ โดยผดแต่ละชนิดจะขึ้นอยู่กับความลึกของการอุดตันของต่อมเหงื่อที่ชั้นผิวหนัง ถ้าอุดตันที่ผิวหนังตื้นก็จะเห็นเป็นตุ่มใส แต่ถ้าเป็นผิวหนังชั้นกลางอาจเห็นเป็นตุ่มแดง มักพบ บริเวณหน้าผาก คอ หลัง ข้อพับ ผื่นผดร้อนมักจะหายได้เอง วิธีป้องกันคือไม่สวมใส่เสื้อผ้าหนาหรือห่อผ้าหนาจนเกินไป ในฤดูร้อนก็อาจจะต้องอาบน้ำหรือเช็ดตัวบ่อยขึ้น
- ผื่นผ้าอ้อม เป็นผื่นแดงบริเวณอวัยวะเพศ ต้นขา ก้น ท้องน้อย เกิดจากความเปียกชื้นและระคายเคืองจากการสัมผัสปัสสาวะและอุจจาระ วิธีป้องกันคือ ดูแลผิวไม่ให้อับชื้น เปลี่ยนผ้าอ้อมเมื่อเปียก หรือมีอุจจาระ และทาครีมกันผื่นผ้าอ้อม
- ผื่นผิวหนังอักเสบที่เกิดจากต่อมไขมัน เนื่องจากรูเปิดของต่อมไขมันยังทำงานได้ไม่ดี ลักษณะเป็นตุ่มแดงและมีสะเก็ดเหลืองที่หนังศีรษะ คิ้ว หู ใบหน้า เริ่มพบได้ตั้งแต่เดือนแรก และมักจะหายได้เอง หลังอายุ 3เดือน อาจจะดูแลบาบางลงได้ด้วยการใช้น้ำมัน เช่น น้ำมันมะกอก นวดทิ้งไว้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง ให้สะเก็ดมันนุ่ม แล้วค่อยเช็ดหรือสระออก สะเก็ดก็จะหลุดออกได้ง่ายขึ้น
การดูแลเด็กแรกเกิด คุณพ่อคุณแม่ควร ดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด สังเกตอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเจ้าตัวน้อย ว่าผิดปกติหรือไม่ เพื่อเป็นการป้องกันและลดโอกาสที่จะเกิดปัญหาสุขภาพของลูกในอนาคตค่ะ
รักลูก Community of The Experts
พญ.สินดี จำเริญนุสิต
กุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรม