ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการประกาศให้ Coding เป็นหลักสูตรการเรียนอย่างเป็นทางการ โดยมุ่งเน้นเสริมสร้างทักษะการใช้ชีวิตให้เป็นระบบ มีเหตุ มีผล และมุ่งหวังให้เยาวชนไทยใช้ชีวิตก้าวทันโลกในศตวรรษที่ 21 แต่ทราบไหมว่า Coding ไม่ใช่แค่เรื่องของคอมพิวเตอร์เท่านั้น
รองศาสตราจารย์ ยืน ภู่วรวรรณ นักวิทยาการคอมพิวเตอร์อดีตรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้คำจำกัดความว่า โค้ด คือ รหัสหรือการทำสัญลักษณ์ การโค้ดดิ้ง คือการเขียนสัญลักษณ์เพื่อบอกลำดับขั้นตอน ลำดับความคิด เพื่อสื่อสารให้เข้าใจกัน ดังนั้น Coding จึงหมายถึงกระบวนการทางความคิดที่มีหลักการ เหตุผล และการเชื่อมโยง
ก่อนเข้าสู่การเรียน Coding อย่างเต็มตัว การเตรียมความพร้อมให้เด็กปฐมวัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ เราเรียกช่วงเรียนรู้นี้ว่า “Pre Coding” ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานวิธีคิด ผ่านกิจกรรม กิจวัตรประจำวัน หรือเกมง่ายๆ โดยไม่ใช้จอ เพื่อฝึกวิธีคิดอย่างเป็นระบบ และการจะให้ลูกเรียนรู้ Pre Coding ได้นั้น พ่อแม่จำเป็นต้องเข้าใจพัฒนาการการเรียนรู้ตามช่วงวัยของเขา เพื่อส่งเสริมทักษะ และ เลือกกิจกรรมให้สอดคล้องตามวัย
รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม ได้แนะนำพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยไว้เป็น 4 ขั้นทักษะ ดังนี้
ขั้นที่ 1 ทักษะการสังเกต – การสังเกตสามารถเริ่มได้จากสิ่งเล็กน้อยรอบตัว เช่น ของเหมือนกันแต่ขนาดไม่เท่ากัน การเดินของมดเวลาออกมาหาอาหารและเดินกลับรัง หรือ การฟังเพลงแล้วจับจังหวะของโน๊ต เมื่อลูกรู้จักสังเกตจะเกิดเป็นการตั้งคำถาม เกิดความคิดที่จะต่อยอดไปยังเรื่องอื่นๆ
ขั้นที่ 2 ทักษะการวิเคราะห์ – เมื่อสังเกตเห็นความแตกต่างของสิ่งรอบตัว หรือ เห็นวิธีที่สิ่งนั่นทำงาน ลองตั้งคำถามให้ลูกได้ฝึกฝนการคิด วิเคราะห์ และหาคำตอบ สมมติฐานที่เกิดจากความคิดวิเคราะห์ จะนำไปสู่การวางแผนอย่างเป็นขั้นตอนก่อนลงมือทำ
ขั้นที่ 3 ทักษะการวางแผนและเชื่อมโยง – การวางแผนของเด็กๆ ทำได้ง่ายมาก เช่น ขีด เขียน ลากโยง หรือ วาดเป็นรูปร่างต่างๆ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความคิดและสมมติฐาน ในขั้นตอนนี้ลูกจะได้ฝึกการเชื่อมโยงความคิดอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อนำไปสู่การทดลองและพิสูจน์ความคิดนั้นว่าจริงหรือไม่
ขั้นที่ 4 ทักษะการยืดหยุ่นความคิด แก้ปัญหา – หลายครั้งที่ลงมือทำตามแผนอาจจะไม่สำเร็จ ดังนั้นในขั้นตอนนี้ลูกจะได้ฝึกฝนเรื่องการแก้ไขปัญหา โดยย้อนกลับไปที่การคิดวิเคราะห์ว่าถูกต้องหรือไม่ แผนการที่วางไว้ผิดพลาดหรือต้องปรับเปลี่ยนตรงไหนเพื่อให้ได้ผลที่ดีขึ้น หรือ ดีกว่า
ทั้ง 4 ทักษะข้างต้นนี้ คุณพ่อคุณพ่อแม่ส่งเสริมได้ในทุกขั้นตอนผ่านกิจกรรมง่ายๆ และเมื่อลูกมีกระบวนการคิดอย่างเป็นขั้นตอนดีแล้วก็ท้าทายให้ยากขึ้น เช่น การให้ลูกทำกิจวัตรประจำวันเองในตอนเข้า การจัดกระเป๋าเดินทางที่ต้องมีการจัดเรียงให้ถูกต้อง หากเป็นเกมหรือ Activity Sheet ลองเริ่มจาก เกมเขาวงกตให้ลูกลากเส้นหาทางออก โดยท้าทายให้แต่ละด่านยากขึ้นเรื่อยๆ หรือ เริ่มมีโจทย์บัตรคำ มีสัญลักษณ์ซ้าย ขวา บอกทิศทางให้ลูกได้ลองวางแผนลำดับความคิดว่าต้องทำอย่างไรให้ออกจากเขาวงกตให้ได้
ค้นหาเกมเขาวงกตง่ายๆ ที่ลูกสามารถเล่นได้ และมีตัวการ์ตูนน่าสนใจ
เปิดเครื่องปริ้นท์ จากนั้นเชื่อต่อสัญญาณ Wifi ของเครื่องเข้ากับโทรศัพท์มือถือเพื่อสั่งปริ้นท์ได้ทันที
ควรเลือกกิจกรรมจากง่าย ไปยาก เพื่อท้าทายให้ลูกฝึกฝนทุกวัน