1. เข้าแถวต่อคิวให้ลูกเห็น การเข้าคิวเป็นมารยาทขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรมี และถ้าไม่อยากให้ลูกโตไปเป็นคนขี้โกง ต้องไม่แซงคิวให้ลูกเห็น ไม่ว่าจะกรณีใดๆ ก็ตาม
2. รักษากฎกติกาของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย รักษากฎจราจร หรือกฎระเบียบข้อบังคับของหน่วยงาน องค์กร สถานที่ หรือแม้แต่กฎของโรงเรียน พ่อแม่ต้องสอนลูกให้เข้าใจและคอยอธิบายเหตุผลให้ลูกฟัง เช่น ทำไมเด็กนักเรียนต้องใส่ชุดนักเรียน ทำไมต้องแต่งกายสุภาพ ถูกระเบียบ เป็นต้น
3. ให้ลูกเล่นเป็นกลุ่ม โดยเฉพาะเด็กเล็กตั้งแต่ 1-3 ปี ที่ยังไม่มีทักษะการเข้าสังคม การเปิดโอกาสให้เขาได้เล่นร่วมกับคนจะช่วยฝึกให้ลูกรู้จักแบ่งปัน อดทน รอคอย โดยการสลับกันเล่น ซึ่งต้องมีเด็กมากกว่า 1 คน ส่วนสถานที่อาจจะเป็นสนามเด็กเล่น สนามหน้าบ้าน หรือเล่นภายในบ้านก็ได้ค่ะ
4.สะท้อนอารมณ์ลูกเมื่อเขาเจอปัญหา ลูกอาจมีโอกาสไม่ยินยอมพร้อมใจ เสียใจ หงุดหงิด หรือโดนเพื่อนแกล้งได้ หากได้เล่นกันเป็นกลุ่ม พ่อแม่ต้องคุยกับลูก ด้วยการสะท้อนอารมณ์ลูก เช่น หนูเสียใจใช่ไหมคะที่เพื่อนต้องเอาของของเขากลับคืนไป การบอกหรือสอนเขาตรงๆ แล้วสะท้อนอารมณ์กลับไปอย่างเหมาะสม จะช่วยให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่รับรู้ถึงปัญหาของเขา และเราสามารถช่วยลูกแก้ปัญหาได้ เช่น หนูอย่าไปเอาของคนอื่นเลย หรือเอาของชิ้นอื่นไปแลกเปลี่ยนดีไหม หนูอยากให้พ่อแม่ช่วยอะไรไหม เป็นต้น
5.เมื่อลูกทำผิดต้องไม่ตำหนิติเตียน ทั้งที่การเล่นนอกกติกา คดโกงคนอื่น เป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี แต่กรลงโทษด้วยการตี หรือตำหนิลูกอาจไม่ได้ผลเ่าที่ควรนัก เพราะฉะนั้นพ่อแม่อาจพูดถึงความรู้สึกของตนเองแทน เช่น ลูกลอกการบ้านเพืื่อนแบบนี้แม่เสียใจรู้มั้ย หรือ ลูกเอาของเล่นเพื่อนมาแบบนี้แม่ผิดหวังมากเลย ทั้งนี้เเพื่อให้ลูกรู้ว่าสิ่งที่เขาทำมีผลต่อความรู้สึกของพ่อแม่ ซึ่งวิธีนี้แม้ไม่หนักหน่วงเท่าการพูดตำหนิ แต่มักจะได้ผลมากกว่า
6.ให้ลูกรู้จักรับและให้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ยังไม่รู้จักการแบ่งปัน พ่อแม่อาจจะคุยกับลูกว่าของบางชิ้นที่ลูกรักเป็นพิเศษอาจจะไม่แบ่งใครเลยได้ ในขณะที่ของบางชิ้นรักเหมือนกันแต่แบ่งเพื่อนเล่นได้ เพื่อให้ลูกรู้จักแยกแยะว่าของบางอย่างไม่ได้แปลว่าลูกจะต้องอนุญาตให้ใครยืมได้หมด ที่สำคัญต้องให้กำลังใจและชมเชยลูกเสมอ เมื่อเขาเริ่มแบ่งปันเป็น เช่น ลูกอาจแบ่งขนมให้แม่เพียงชิ้นเล็กๆ ก็ให้ชมว่าหนูน่ารักนะคะที่แบ่งขนมให้คุณแม่ด้วย ค่อยๆ จากการที่เขาเริ่มแบ่ง ถึงจะดูแค่เล็กๆ น้อยๆ แต่เพียงลูกเริ่มทำก็เป็นเรื่องที่ดีแล้ว
7.พาลูกไปทำกิจกรรมจิตอาสา ลองชวนลูกเลือกของเล่น หรือเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วไปบริจาคค่ะ นอกจากจะช่วยฝึกให้เขารู้จักแยกแยะของที่จำเป็น และไม่จำเป็นแล้ว ยังช่วยฝึกให้ลูกรู้จักกิจกรรมจิตอาสาที่เขาอาจเข้าใจมากขึ้นเมื่อโตกว่านี้ได้
8. ซื่อสัตย์สุจริตให้ลูกเห็น คือการยึดมั่นในความสัตย์จริง และสิ่งที่ถูต้องดีงาม รู้จักแยกแยะถูกผิด ปฏิบัติต่อตนเองและผู้อื่นโดยชอบ ไม่คดโกง เช่น สอนให้เขาไม่หยิบของของคนอื่น ซื่อสัตย์ต่อการทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เพราะปัญหาทุจริตคอรัปชั่นที่เราพบกันบ่อยคือ การไม่ซื่อสัตย์ต่อเวลางาน ไม่รับผิดชอบต่องาน ทำให้งานที่ออกมาไม่มีคุณภาพ
9. สอนให้ลูกรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง คือมีจิตสำนึกในบทบาทและหน้าที่ของตัวเอง และปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด เคารพกฎเกณฑ์กติกา พร้อมให้ตรวจสอบการกระทำได้เสมอ หากมีการทำผิดก็พร้อมที่จะยอมรับและแก้ไข ที่สำคัญคือรับผิดชอบต่อผลของการกระทำของตนเอง เช่น เมื่อทำความผิด เมื่อลูกยอมรับว่าหนูเป็นคนทำเอง พ่อแม่ต้องบอกว่าไม่เป็นไร แล้วก็ช่วยกันแก้ไข ซึ่งจะทำให้เขารับผิดชอบกับสิ่งที่เขาทำ
10. สอนให้ลูกรู้จักคุณค่าในตัวเอง เด็กส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองทำสิ่งใดได้ดี พ่อแม่ต้องคอยสอนว่าลูกสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง เชื่อมั่นในตัวลูก แล้วลูกจะนับถือตนเองและแสดงออกมาในรูปแบบของทัศนคติในแง่บวกที่มีต่อตนเอง จากนั้นชื่นชมส่งเสริมให้เขาไม่เอาเปรียบคนอื่น