เด็กเล็กๆ วัย 2-3 ปี มักเริ่มอยากรู้อยากลอง เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น พอเข้าสู่ช่วง 3-6 ปี จะเริ่มมีจินตนาการความคิดสร้างสรรค์และพร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้มากกว่าเดิม ซึ่งทุกการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจะมีการพัฒนาโครงข่ายเส้นไยประสาทสมองที่แตกแขนงมากขึ้นตลอดเวลา
เด็กวัย 3 ปีขึ้นไป จะคิดริเริ่มอยากทำสิ่งต่างๆ หรืออาจใฝ่ฝันอยากเป็นดารา นักแสดง นักดนตรี นักกีฬา ตามไอดอลที่เขาชื่นชอบ โดยเขาอยากเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่ชอบได้มากมาย แม้จินตนาการและความใฝ่ฝันของเด็กวัยนี้จะยังไม่ใช่ทิศทางที่กำหนดชีวิตชัดเจนเหมือนวัยรุ่นตอนปลายที่จะรู้ว่าตัวเองต้องการทำอาชีพอะไรก็ตาม
หากพ่อแม่รู้จักสังเกตว่าลูกชอบอะไร เปิดโอกาสในการรับฟังและส่งเสริมในสิ่งที่เขาชอบก็อาจทำให้เขาค้นพบว่า เขามีความสามารถพิเศษอะไรที่ซ่อนอยู่ในตัวเองได้
กลับกันถ้าพ่อแม่คอยห้ามปรามในสิ่งที่ลูกคิดริเริ่ม เขาจะกลายเป็นเด็กที่ไม่มั่นใจในการคิดริเริ่ม และหากบางครอบครัวนำความใฝ่ฝันและความคาดหวังของพ่อแม่มาใส่และบีบให้ลูกทำสิ่งต่างๆ มากไป เขาจะรู้สึกไม่สนุก เครียด กดดัน ทำสิ่งนั้นได้ไม่ดี และอาจเกิดปัญหาทางอารมณ์และมีพฤติกรรมต่อต้านได้
แล้วเราจะรู้หรือมีวิธีค้นหาสิ่งที่ลูกชอบ เพื่อจะส่งเสริมได้อย่างไร
1. เริ่มจากการสังเกต เด็กทุกคนมีความสนใจความถนัดไม่เหมือนกัน ซึ่งเขาจะแสดงออกให้พ่อแม่เห็น ถ้ารู้จักสังเกตว่าลูกชอบอะไรก็จะนำไปสู่การส่งเสริมที่ตรงจุดได้
2. เปิดโอกาสรับฟังความเห็นและความรู้สึกของลูกบ้าง เช่น ไปเรียนเปียโนวันนี้สนุกไหม หนูรู้สึกยังไง ถ้าหนูชอบเราไปกันใหม่ไหม ถ้าไม่ชอบอยากลองเปลี่ยนไปเล่นอย่างอื่นไหม
3. ให้ลูกได้มีส่วนตัดสินใจทำในสิ่งที่ชอบ วิธีนี้จะทำให้เด็กรู้สึกดีที่คุณรับฟังและเปิดโอกาสให้เขาได้ร่วมตัดสินใจ จะทำให้เขากล้าริเริ่มทำในสิ่งที่ชอบและสนุกกับสิ่งที่เขาได้เลือกทำ
4. พยายามหาข้อมูลเพื่อเลือกกิจกรรมที่หลากหลายให้ลูกได้ลอง จนรู้ว่าชอบอะไรไม่ชอบอะไรจะได้รู้ความชอบความถนัดของลูก
5. ส่งเสริมและชื่นชม เช่น รู้ว่าลูกอยากเล่นเปียโน ก็ส่งเสริมให้เขาได้เรียนและเมื่อเขาทำได้ดีก็ชื่นชมให้กำลังใจ ซึงจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เขาสนุกที่จะทำต่อ
6. ควรส่งเสริมความสามารถให้หลากหลาย ไม่ควรจำกัดอยู่แค่การเรียนทางวิชาการ ควรส่งเสริมทักษะในหลายๆ ด้าน เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ ทักษะทางสังคม และทักษะการช่วยเหลือตัวเองได้ตามวัย เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ลูกพึ่งตัวเองได้ตามวัย เวลามีความเครียดจากการเรียนเขาก็สามารถผ่อนคลายมาเล่นดนตรีกีฬา ในสิ่งที่ชอบได้
พบว่าเด็กที่มีทักษะความสามารถพิเศษอื่นๆ นอกเหนือจากการเรียน เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองมีดี มีความเชื่อมั่น สามารถปรับตัวและแก้ปัญหาได้ดีกว่าเด็กที่ถูกกวดขันเรื่องการเรียนทางวิชาการอย่างเดียว
7. อย่าคาดหวังและกดดัน เด็กบางคนอาจมีความชอบและทำได้ดีในบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นดนตรี กีฬา ศิลปะฯ แต่ความชอบในวัยนี้ยังไม่ใช่ตัวกำหนดอนาคตว่าเด็กจะทำอาชีพในด้านนั้นๆ เพราะกว่าที่เด็กจะรู้ว่าตัวเองอยากทำอาชีพอะไร ต้องเป็นช่วงที่เข้าสู่วัยรุ่นตอนปลายถึงผู้ใหญ่ตอนต้น
เด็กที่มีทักษะและมีจุดเด่นในหลายด้าน จะมีความมั่นใจ ภูมิใจในตัวเอง โดยในหลายๆ รายจะพบว่าทักษะเหล่านี้อาจพัฒนาไปเป็นอาชีพที่เขาชอบ ซึ่งจะทำให้เด็กเอาตัวรอดในอนาคตได้