จากการศึกษาพบว่าเด็กไทยอายุ 2-5ปี ได้รับประสบการณ์ไม่ดี จากการที่พ่อแม่และครูใช้วินัยเชิงลบ (Negative Discipline) ซึ่งไม่ใช่เพียง “ห้าม” “ไม่” “อย่า” “หยุด” แต่ยังรวมถึงการประชดประชัน ข่มขู่ เช่น “เดี๋ยวให้ตำรวจจับ” หรือเปรียบเทียบกับเด็กอื่น ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีสถิติว่าทุกๆ 20นาที เด็กไทยเผชิญกับวินัยเชิงลบสูงสุด 43 ครั้ง น้อยสุด 7 ครั้ง มาดูกันว่าในแต่ละวันที่เด็ก2-5ปี อยู่กับพ่อแม่หรือครู เด็กได้รับประสบการณ์อะไรบ้าง
86% ของเวลาทั้งวัน เด็กเผชิญกับวินัยเชิงลบ (Negative Discipline)
7% พ่อแม่หรือครูไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ต่างคนต่างอยู่
4% พ่อแม่หรือครูสั่งสอนดูแลให้กินอิ่ม นอนหลับ ทำการบ้าน
3% พูดคุย เล่น
แสดงให้เห็นว่าเด็กแทบไม่ได้รับการพัฒนา แทบไม่มีการพูดคุย เล่น ซึ่งเป็นการทำงานของสมองส่วนหน้า แต่สมองส่วนอารมณ์ถูกกระตุ้นอยู่ถึง 86% ขัดขวางการพัฒนาสมองส่วนหน้า รวมไปถึงการสร้าง Attachment ฐานที่มั่นทางใจที่สนับสนุนให้ลูกกล้าออกไปสำรวจ เรียนรู้โลก และทำให้ลูกรู้สึกว่าถ้าทำอะไรพลาดพลั้งยังมีคนให้โอกาส รวมทั้งสร้างทัศนคติ และการมองโลกในแง่ดี
ซึ่งเด็กที่เติบโตโดยหวาดระแวงโลก มองโลกในแง่ร้าย พัฒนาการของทักษะสมองEF อาจจะพัฒนาไม่ดีเท่าที่ควร
ทั้งนี้ทั้งนั้นพ่อแม่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นพ่อแม่ที่ Positive ได้ด้วยการสร้าง ความผูกพันแบบมั่นคงปลอดภัย (Secure Attachment) คือ ความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย มั่นใจ ทำให้จิตใจเป็นสุขสงบ เกิดความมั่นคงทางอารมณ์ เมื่อมีปัญหารู้สึกไม่โดดเดี่ยว ความรู้สึกเชื่อมั่น (Trust) ว่ามีคน (พ่อแม่) เข้าใจ สามารถช่วยเหลือ เป็นที่พึ่งพิงได้ โดยพ่อแม่ตอบสนองความต้องการปัญหาของเขา ร่วมทุกข์ร่วมสุข และยอมรับเขา
ที่มา ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล จากคู่มือพ่อแม่ พัฒนาทักษะสมองEF Executive Functions ตั้งแต่ปฏิสนธิ-3ปี สนับสนุนโดย สสส.และ RLG Institute