ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสอนลูกให้รู้จักยับยั้งชั่งใจได้ง่ายๆ ผ่านกิจวัตรประจำวันดังนี้
1. สอนลูกเข้าคิว และรู้จักอดทนรอคอย การเข้าคิวเป็นพื้นฐานของระเบียบวินัย แถมยังฝึกให้ลูกรู้จักลำดับก่อนหลัง รู้จักสิทธิ์ของตนเองและเคารพในสิทธิ์ของผู้อื่น การเข้าคิวรอไม่ว่าจะเข้าห้องน้ำ ซื้อของ จ่ายเงิน รอรับของ รอเข้าสวนสนุก ฯลฯ เหล่านี้ล้วนฝึกความอดทนรอคอย ให้แก่ลูก
2. สอนลูกให้เคารพกฎกติกา ลูกอาจจะยังเล็กเกินที่จะเรียนรู้กฎหมายบ้านเมือง แต่เรื่องใกล้ตัวเช่น กฎระเบียบในบ้าน กฎที่โรงเรียน หรือแม้แต่ข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับคุณพ่อคุณแม่ก็เป็นสิ่งสำคัญ ลูกจะละเมิดหรือเพิกเฉยไม่ได้ เช่น ถ้าลูกไม่ยอมกินข้าวตามเวลา หลังอาหารมื้อนั้นเสร็จแล้วพ่อแม่ต้องเก็บทุกอย่างไว้ และให้ลูกรอจนกว่าจะถึงเวลาอาหารมื้อต่อไป หรือถ้าไปเดินห้างสรรพสินค้า พ่อแม่ตกลงกับลูกว่าสามารถซื้อของเล่นได้เพียง 1 ชิ้น พ่อแม่ก็ต้องยืนยันกับลูกว่า 1 ชิ้นเท่านั้น ถ้าลูกร้องจะเอาเพิ่ม จะพากลับบ้านทันที ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลูกรู้จักระงับความรู้สึกของตนเอง
3. ให้ลูกช่วยทำงานบ้าน การทำงานบ้านนอกจากจะฝึกความรับผิดชอบของเด็กแล้ว ยังช่วยฝึกความอดทน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการยับยั้งชั่งใจด้วย
4. ควบคุมการใช้โซเชียล โดยเฉพาะคลิปวิดีโอในชาแนลต่างๆ ที่อาจแฝงเรื่องความรุนแรง คำหยาบคาย หรือพฤติกรรมของผู้ใหญ่บางคนที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากเด็กยังไม่มีวิจารณญาณ เพราะฉะนั้นการปล่อยให้ลูกใช้โซเชียลมีเดียตามลำพังอาจเกิดผลเสียได้ ซึ่งวิธีควบคุมการใช้สื่อโดยเฉพาะ YouTube เดี๋ยวนี้มี YouTube Kids แล้วค่ะ ช่วยให้การดูวิดีโอของเด็กปลอดภัยมากยิ่งขึ้น (ทำความรู้จัก YouTube Kids)
5. ปลูกฝังลูกเป็นผู้ให้ ผู้ให้ย่อมเป็นผู้ที่ถูกรัก การให้เป็นการส่งความสุข ซึ่งลูกไม่จำเป็นต้องให้สิ่งของหรือเงินทอง เพียงแค่มีความรู้สึกปรารถนาดีต่อผู้อื่น มีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่นตามกำลังละความสามารถของตน
6. รู้จักคุณค่าในสิ่งต่างๆ เพราะทุกอย่างย่อมมีคุณค่าในตัวเอง ทั้งของเล่นของใช้พ่อแม่ไม่ควรซื้อให้ลูกมากจนพอดี เพราะอาจทำให้ลูกไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่มี ในวันหยุดอาจจะชวนลูกรดน้ำต้นไม้รอบบ้าน แล้วอธิบายความสำคัญของต้นไม้ให้ลูกฟัง เช่น “ต้นไม้ต้นนี้ช่วยกันแดด ให้ร่มเงาทำให้หนูไม่ร้อน หนูต้องช่วยพ่อแม่ดูแลต้นไม้นะ” เป็นต้น
7. พูดขอบคุณและขอโทษบ่อยๆ การขอบคุณเมื่อมีผู้อื่นหยิบยื่นไมตรีให้เราเป็นเรื่องที่พึงกระทำ และการขอโทษกับสิ่งที่ผิดพลาดไม่ใช่เรื่องน่าอาย พ่อแม่ควรพูดขอบคุณลูกที่ช่วยทำงานบ้าน และควรกล่าวขอโทษเมื่อทำผิดต่อลูก เป็นต้น
8. นั่งสมาธิฝึกสติ การนั่งสมาธินอกจากจะฝึกจิตใจให้สงบแล้ว สมาธิยังช่วยควบคุมความคิดและอารมณ์ของเด็กๆ ได้อีกด้วย
การจะเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กดีมี EF โดยหลักแล้วพื้นฐานจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่มักจะส่งผลต่อลูกโดยตรง เพราะฉะนั้นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรให้ลูกตั้งแต่เด็กๆ และตอบสนองความต้องการของลูกอย่างเหมาะสม จะทำให้เขาเติบโตเป็นเด็กที่มองโลกในแง่ดี มีการยับยั้งชั่งใจ รู้จักคิดไตร่ตรอง (Inhibit Control) และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ค่ะ