เพราะฉะนั้นการสอนลูกให้เข้าใจสภาวะอารมณ์ รู้จักควบคุมอารมณ์ตนเองในเบื้องต้น จะเป็นเกราะป้องกันลูกทำร้ายตัวเองได้
9 วิธีสร้างเกราะป้องกันลูกฆ่าตัวตาย
1. เตือนลูกว่าการทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่น และทำลายของเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ โดยเฉพาะทุกๆ ครั้งที่พ่อแม่อยู่ด้วยแล้วลูกไม่สามารถควบคุมอารมณ์โกรธ โมโห หรือเสียใจได้ พ่อแม่ต้องห้ามลูกก่อน ว่าอย่าทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่น ควรบอกลูกว่า เราไม่มีสิทธิ์ทำร้ายผู้อื่นทั้งต่อร่างกาย ทรัพย์สิน หรือแม้แต่คำพูดของเราเองก็ไม่ควรทำร้ายจิตใจคนอื่น และการทำร้ายตัวเองก็ทำให้พ่อกับแม่เสียใจมาก และนอกเหนือจากความเสียใจของพ่อกับแม่แล้วลูกเองก็จะรู้สึกเจ็บ และเสียใจยิ่งกว่า ความรู้สึกของลูกเป็นสิ่งสำคัญมากนะ
2. ให้สูดหายใจลึกๆ 3 ครั้งและนับ 1 ถึง 10 อย่างช้าๆ วิธีนี้ช่วยให้เด็กๆ เข้าใจว่าความรู้สึกเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ และผลกระทบจากอารมณ์เหล่านั้นก็อาจทำร้ายคนอื่นได้ ฉะนั้นการสูดหายใจลึกๆ 3 ครั้ง และนับ 1 ถึง 10 ช้าๆ จะช่วยให้เด็กอารมณ์สงบลงได้
3. ลูกต้องบอกความรู้สึกของตัวเองได้ การรับรู้ความรู้สึกของตนเองเป็นเรื่องที่ดี และการอธิบายความรู้สึกก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการระบายความรู้สึก แม้บางครั้งอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้ลูก แต่ย่อมดีกว่าการระเบิดอารมณ์หรือแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงแน่นอน
4. พ่อแม่ต้องไม่ใช้อารมณ์ตัดสินความรู้สึกลูก เมื่อลูกพูดระบายความรู้สึกออกมาแล้ว พ่อแม่ต้องมีความใจเย็น รับฟังอย่างตั้งใจ เข้าใจ และไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินสิ่งที่ลูกพูด
5. ลูกต้องรู้จักขอความช่วยเหลือ การพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นสามารถแก้ปัญหาหรือหาแนวทางแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ให้กับลูกได้ ซึ่งเด็กๆ เองก็จะเกิดความไว้วางใจและกล้าที่จะขอความช่วยเหลือ และต่อไปไม่ว่าจะมีปัญหาอะไร ลูกๆ ก็จะปรึกษากับคุณพ่อคุณแม่ตลอด แม้ว่าเขาจะโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม
6. เวลาจะช่วยให้ลูกสงบลง บางครั้งการแก้ปัญหาต่างๆ ก็ไม่ได้ช่วยให้อารมณ์ของลูกดีขึ้น ดังนั้นการเดินออกจากที่เกิดเหตุหรือการหาทางออกอื่น อาจจะช่วยให้ความรู้สึกของลูกผ่อนคลายลง
7. สร้างภูมิคุ้มกันด้านสังคมให้กับลูก เริ่มจากสังคมครอบครัวค่ะ ทำให้ลูกรู้สึกมีคุณค่าในสายตาคนรอบข้างและมีความภาคภูมิใจในตัวเองผ่านการสื่อสารภายในครอบครัว
8. เพิ่มทักษะแก้ไขปัญหา พ่อแม่ควรให้ลูกฝึกแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง เช่น ตั้งคำถามจำลองสถานการณ์ให้ลูกลองคิดแก้ปัญหา ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตนเอง มอบหมายงานตามความสามารถ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ลูกว่าสามารถทำได้ เป็นต้น
9. ส่งเสริมให้ลูกกล้าแสดงออก ในสังคมโรงเรียน คุณครูควรจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กกล้าแสดงออกร่วมกับเพื่อนๆ เป็นการส่งเสริมให้เขาได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ มากยิ่งขึ้นค่ะ
บ่อยครั้งที่เด็กๆ มักจะควบคุมอารมณ์ตนเองไม่อยู่ หลายคนร้องไห้งอแง บางคนก็ทำร้ายตัวเอง หนักเข้าก็ทำร้ายผู้อื่น อย่าปล่อยให้เป็นความเคยชินค่ะ เพราะสิ่งเหล่านี้อาจติดตัวลูกไปจนโต ทำให้ลูกเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จักการควบคุมอารมณ์ และเกิดผลเสียต่อตัวเขาเองได้