สวัสดีครับ ผมเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว ตอนนี้ลูกชายอายุ 9 ขวบ เขาเป็นคนรับผิดชอบมากจนบางทีผมรู้สึกว่ามากไป อะไรที่ไม่เป็นไปตามแผนจะโมโหโวยวาย บางทีพอทำอะไรไม่ทันเวลาก็จะพาลหยุดทำเอาดื้อๆ ไม่รู้เกิดจากอะไรครับ
ชีวิตของพวกเราพ่อแม่จะพบเรื่องที่อธิบายไม่ได้หรือไม่รู้ที่มาที่ไปได้อยู่เรื่อยๆ หากเราเดาก็จะผิด หากเราพาไปพบจิตแพทย์เด็กทุกเรื่องชีวิตก็น่าจะยุ่งมาก
ปัญหาที่เราพบมักเป็นยอดภูเขาน้ำแข็ง เป็นปลายเหตุ เป็นผลรวมของอะไรหลายๆ อย่างแล้วมาปรากฏอาการดังที่เห็น ครั้นพยายามย้อนไปดูว่าตัวเองเลี้ยงผิดตรงไหนก็จะไม่พบ
เรื่องจะง่ายกว่ามากหากเราจัดการรากฐานเสียใหม่ ต่อไปนี้คือคำแนะนำ 5 ข้อ
1.การเล่นเป็นการระบายของเสียในใจเสมอ อะไรที่มากไป ไม่ว่าจะเกิดจากอะไรสามารถระบายทิ้งไปด้วยการเล่น ความกลุ้มใจ กังวลใจ คับข้องใจ ความเครียด ความโกรธ ความกลัว เหล่านี้ระบายทิ้งไปด้วยการเล่นได้ทั้งนั้น การเล่นเท่ากับการเปิดฝาท่อน้ำเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นที่ดูจะสกปรกเล็กน้อย เราจึงแนะนำการเล่นดินเล่นทรายเป็นอย่างแรกเสมอ หากไม่รู้จะทำอะไรให้ลงไปเล่นดินเล่นทรายกับลูก
2.การถอยกลับไปที่ขวบปีแรกใหม่ เพื่อสร้างพ่อที่มีอยู่จริงเป็นเรื่องลองทำได้ ชวนเขาอ่านนิทานด้วยกัน ทำอาหารด้วยกัน ไปไหนมาไหนด้วยกัน เป็นเรื่องทำได้แม้ว่าจะ 9 ขวบแล้ว เขาตัวใหญ่เกินกว่าที่เราจะอุ้มกอดบอกรักแล้ว แต่เรายังนอนเล่นด้วยกัน กินเที่ยวด้วยกัน แล้วโอบไหล่เดินด้วยกันในที่สุด เมื่อพ่อมั่นคง อะไรๆจะดีเอง
3.การควบคุมตัวเองได้ไม่ดีพอ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมความคิด อารมณ์ หรือการกระทำ เหล่านี้คือ Executive Function (EF) ที่ยังไม่แข็งแรงพอ เราแนะนำให้ชวนทำงานบ้านด้วยกัน เพราะการทำงานคือการสร้าง EF ตรงๆ การทำงานเป็นเรื่องยาก ไม่สนุก และต้องการทักษะแก้ปัญหา หากเราชวนเขาทำงานเท่ากับชวนเขาบริหาร EF จะส่งผลให้การควบคุมอารมณ์ดีกว่าเดิม
4.เด็กที่มีความรับผิดชอบเป็นเรื่องดี ดีกว่าเด็กที่ไม่มีความรับผิดชอบ หากเขารับผิดชอบมากไป สมบูรณ์แบบมากไป เอาจริงเอาจังมากไป เราชี้ให้เห็นข้อดีของคุณลักษณะและนิสัยเหล่านี้ได้ว่าเป็นเรื่องดีและเราพอใจ เท่ากับส่งสัญญาณให้เขาทราบว่าเขาปกติดีและโอเค ก่อนที่จะบอกกล่าวทีหลังว่าจะปล่อยบางเรื่องผ่านไปบ้างก็ลองทำได้ กล่าวคือการแสดงความเข้าใจอารมณ์โกรธของเขาจะเป็นเรื่องสำคัญ ก่อนที่จะทำอย่างอื่น และหลายครั้งขอเพียงรู้ว่าพ่อเข้าใจเขาก็มีทางถอยแล้ว
5.สำหรับเด็ก 9 ขวบ เข้าใกล้วัยทีนเต็มที คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวได้ทำหน้าที่มาอย่างดีที่สุดแล้ว นับจากวันพรุ่งนี้ถึงเวลาที่เราจะลดบทบาทของตนเองลงบ้าง จากพ่อเริ่มกลายเป็นเพื่อน ชวนคุย นั่งฟัง แล้วจึงร่วมคิด สำคัญที่สุดคือนั่งฟัง ฟังว่าเขารู้สึกอย่างไร เช่น รู้สึกอย่างไรเวลาผิดพลาด อย่าพยายามทายใจ ไม่ควรขัดบทสนทนา ไม่ควรซักถาม ไม่ควรแนะนำ ฝึกเป็นผู้ฟังที่ดี ฟังเก่งๆ แล้วเขาจะหาทางออกได้เอง
การทำ 5 ข้อนี้ จะเท่ากับกวาดปัญหาใต้น้ำให้หมดไป และป้องกันปัญหาอื่นในอนาคตไปในตัว
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล