ล่าสุดองค์การอนามัยโลกออกประกาศว่าเบิร์นเอ๊าท์ซินโดรม (Burn Out Syndrome) กลุ่มอาการเฉพาะที่เกิดในสถานที่ทำงาน ไม่วินิจฉัยในพื้นที่อื่น รายละเอียดรอข้อสรุปจากตำราแพทย์ด้านจิตเวชศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม เราควรทำความเข้าใจเบิร์นเอ๊าท์(Burn Out) ในความหมายทั่วไปก่อน เบิร์นเอ๊าท์เป็นภาวะที่คนเราทำงานเกินกำลังจนหมดสภาพ หมดสิ้นทั้งแรงกายและแรงใจที่จะทำต่อ ไม่มีความสุขกับงาน และไม่มีแรงจูงใจ มากกว่านี้คือไม่มีความคิดสร้างสรรค์อะไรเหลือแล้ว ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ที่เห็นไปทำงานทุกวันนั้นเป็นเพียงการทำงานประจำ (routine) ที่ไม่ต้องการความสามารถอะไรมากมาย
องค์ประกอบแรกของเบิร์นเอ๊าท์เป็นเรื่องภาระงานที่มากเกินตัว (overload) อย่างไรก็ตามเวลาเราพูดว่าภาระงานมากเกินตัว เราควรคิดด้วยว่าเป็นเพราะเราบริหารจัดการไม่เป็นหรือเป็นเพราะภาระงานมากเกินกว่ามนุษย์คนหนึ่งจะทำงานได้จริง ลำพังข้อนี้เราก็สามารถทบทวนและใคร่ครวญตนเองได้มาก
แต่ภาระงานมิใช่องค์ประกอบเดียว ลำพังภาระงานที่มากไม่ได้ทำให้คนจำนวนมากเบิร์นเอ๊าท์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนวัยหนุ่มสาวหรือวัยกลางคนที่กำลังร้อน (hot) สุดๆ รวมทั้งแม่คน คนจำนวนมากทำงานได้สารพัดโดยไม่เบิร์นเอ๊าท์แม้ว่าจะเหนื่อยไปจนถึงเหนื่อยมาก เมื่อได้นอนหลับดีแล้วหรือแม้กระทั่งหลับได้ไม่ดีเพราะต้องขึ้นเวร (ได้แก่งานที่ทำเป็นกะ) คนเหล่านี้ก็พร้อมจะลุกขึ้นแล้วลุยต่อไปโดยไม่ปริปากบ่น องค์ประกอบที่สองที่จะมาซ้ำเติมองค์ประกอบแรกจึงเป็นเรื่องบรรยากาศในที่ทำงาน และเรื่องใหญ่ที่สุดของบรรยากาศในที่ทำงานคือความมีอิสระในการทำงาน
องค์ประกอบประเภทเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง ลูกค้า กฎระเบียบ การตรวจสอบ การประเมินผล เหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่ที่ทำงานทั่วไปต้องมี ไม่ว่าจะเป็นงานออฟฟิศที่มีระบบงานอย่างเป็นทางการ หรืองานค้าขายส่วนตัวที่ไม่มีระบบงานอย่างเป็นทางการก็ต้องมีกระบวนการที่เอ่ยชื่อมาทั้งสิ้น องค์ประกอบเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความมีอิสระในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคิดค้นงาน คือความคิดสร้างสรรค์
ในที่ทำงานทั่วไป คนเรามักจะเบิร์นเอ๊าท์เมื่อพบภาระงานมากเกินตัวและขาดอิสระในการทำงาน ความขาดอิสระในการทำงานนั้นเองที่ทำให้เจ้าตัวไม่สามารถบริหารจัดการงานและ/หรือเวลาได้ จึงกลายเป็นองค์ประกอบสองอย่างที่หมุนวนทำร้ายตนเอง กลายเป็นวงจรร้าย (viscious cycle) ที่ซ้ำเติมภาวะเบิร์นเอ๊าท์ให้จมลงไปเรื่อยๆ
กลับมาที่งานของความเป็นแม่ งานของความเป็นแม่เหมือนงานทุกชนิดคือมีเวลาจำกัด มีความจำเจ และมีผู้ร่วมงานทุกระดับ ได้แก่พ่อแม่ พ่อแม่คู่สมรส ลุงป้าน้าอาของลูก ตัวลูก เพื่อนบ้าน และสังคมที่คอยแต่จะเปรียบเทียบและคาดหวัง หากภาระงานมากแล้วพบองค์ประกอบที่สองที่บีบรัดแน่นหนามิให้คุณแม่ขยับตัว ไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ดั่งใจ ไม่สามารถบริหารจัดการงานและ/หรือเวลาได้ตามที่ตนเองเห็นสมควร ใช่ครับ คุณแม่เบิร์นเอ๊าท์ได้
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล