“คุณหมอคะ เห็นคุณหมอย้ำหลายครั้งเรื่องให้ลูกทำการบ้านก่อนออกไปเล่นหรือไปห้างหรือไปงานเลี้ยง เรื่องมันสำคัญขนาดนั้นเลยหรือคะ คือว่าดิฉันกับสามีเถียงกันเรื่องนี้เป็นประจำว่าจะอะไรกันนักกันหนา”
สามี-ภรรยา คือ พ่อ-แม่ ควรลงรอยและพูดตรงกัน นี่เป็นเรื่องแรก ผลัดกันยอมได้คือผลัดกันยอม
เลื่อนมาเรื่องที่สอง เราจะยินยอมให้ลูกได้เที่ยวเล่นสนุกสนานก่อนการทำงานหนักมากน้อยเพียงใด หากยอมครั้งที่ 1 จะมีครั้งที่ 2 มาหรือเปล่า และครั้งต่อๆ ไป
ลูกหลานบ้านอื่นไปงานปาร์ตี้กันหมดแล้ว ลูกของเรายังนั่งทำการบ้านอยู่แล้วค่อยได้ไปงานปาร์ตี้ เราควรยืนยันเรื่องการบ้านต้องเสร็จก่อนแล้วไปเที่ยวเล่นหรือไม่
ลองคิดแบบนี้ อนาคตลูกของเราจะพบเรื่องยั่วยวนอีกมาก(seduction) เรื่องยั่วยวนมากับความสนุกสนานเสมอ เรื่องยั่วยวนและสนุกสนานนั้นทำงานทั้ง 2 ทิศทาง ทิศทางหนึ่งคือล่อลวงให้เราเข้าสู่ความสนุกสนานก่อนที่จะทำงานที่ต้องรับผิดชอบให้เสร็จ อีกทิศทางหนึ่งคือล่อลวงให้เราลุ่มหลงโงหัวไม่ขึ้นแล้วไม่สามารถถอนตัวไปทำงานที่ต้องรับผิดชอบ
กลับเข้าบ้าน เล่นเกมก่อนการทำบ้าน เล่นเกมแล้วถอนตัวออกมาทำการบ้านไม่ได้ มากกว่านี้คือไร้ความสามารถจะหยุดเล่นเกมชั่วคราวเพื่อไปอ่านหนังสือสอบ เราอยากให้ลูกอยู่ในวงจรนี้?
หรือเราอยากให้ลูกทำงานก่อนไปเล่น ผมเรียกว่า “ลำบากก่อนสบายทีหลัง” และมีความสามารถลุกขึ้นกลางงานปาร์ตี้ใดๆ กลับบ้านไปนอนเพราะพรุ่งนี้เช้ายังมีงานสำคัญรออยู่ ผมเรียกว่า “ถอนตัวจากความสนุก”
สมัยก่อนเราคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นนิสัย เป็นจิตใจที่เข้มแข็ง เป็นความมุมานะบากบั่น ซึ่งถูกบางส่วน ปัจจุบันเราพบว่าความสามารถเหล่านี้มิใช่เรื่องนิสัย จิตใจ หรือความมุมานะบากบั่น
แต่เป็นเพราะเด็กคนหนึ่งมีวงจรประสาทที่จะตั้งใจจดจ่อ (focus) ต่อภารกิจ ไม่วอกแวกไปตามสิ่งเร้าหรือสิ่งยั่วยวนทั้งภายนอกและภายใน (distraction) รวมทั้งสามารถประวิงเวลาที่จะมีความสุขหรืออดเปรี้ยวไว้กินหวาน (delayed gratification)
ความสามารถทั้ง 3 ประการนี้เป็นเรื่องของเซลล์ประสาท เส้นประสาท จุดเชื่อมต่อประสาท วงจรประสาท และร่างแหของระบบประสาทที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาในสมองตั้งแต่ช่วงวัย 4-7 ขวบโดยประมาณ
สามารถแสดงให้เห็นได้ในงานวิจัยเป็นตัวเลขที่เชื่อถือได้ว่าเด็กที่ถูก “ฝึก” มาดีกว่ามีสมาธิดีกว่า อดทนต่อสิ่งเร้ามากกว่า และอดเปรี้ยวไว้กินหวานนานกว่า
ช่วงอายุ 4-7 ขวบนั้นเป็นเวลาวิกฤต (critical period) ที่เราจำเป็นต้องฝึกให้เขาทำได้ หากทำไม่ได้วันนี้เขาอาจจะทำไม่ได้อีกเลยในวันข้างหน้า คือ neurons, axons, dendrites, synapses, neural circuits และ neural networks เด็กคนหนึ่งไม่สามารถเลิกยาบ้าได้ เพราะเขาไม่มีวงจรประสาทที่จะใช้เลิก
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล