ของเล่นเต็มบ้านรกไปหมด ใครๆ ก็ซื้อมาให้ลูก เล่นแล้วก็ไม่เก็บ ทำอย่างไรดีคะ
เราอยู่ในยุคสมัยของความเยอะ ทุกอย่างรอบตัวล้วนเยอะแยะไปหมดทุกสิ่งอัน ของเยอะ ทางเลือกเยอะ รวมทั้งของเล่นเยอะ ของเล่นที่มีประโยชน์น้อยที่สุดคือของเล่นสำเร็จรูป และของเล่นอิเล็คทรอนิกส์ ของเล่นสำเร็จรูปลดจินตนาการของเด็กๆ ในขณะที่ของเล่นอิเล็กทรอนิกส์สร้างความตื่นเต้นอย่างฉาบฉวยแล้วจะน่าเบื่อในเวลารวดเร็ว
หากสังเกตดีๆ คุณแม่พบว่าลูกเล่นของเล่นเพียงไม่กี่ชิ้น และของเล่นที่เขาจะเล่นบ่อยที่สุดมักเป็นของเล่นที่เขาจำเป็นต้อง “สร้าง” หรือ “เสริม”อะไรบางอย่างลงไปด้วยตัวของเขาเอง เช่น ตุ๊กตาหุ่นยนต์ที่แขนขาเคลื่อนไหวไม่ได้และไม่มีปีก หุ่นยนต์นั้นกลับจะมีไอพ่นออกที่เท้าและเหาะได้ด้วยจินตนาการ โดยที่เขาเองถือหุ่นนั้นวิ่งไปรอบห้อง มากไปกว่านี้คือส่งเสียงไอพ่นด้วยการลากเสียงยาวแล้วเสริมด้วยเสียงมิสไซล์ที่พุ่งออกจากหน้าอกระเบิดสัตว์ประหลาดตรงหน้าร่างแหลกไป
คำแนะนำที่ง่ายและได้ผลมากคือทิ้งของเล่นออกไปครึ่งหนึ่ง คุณแม่ควรหาวันหยุดสักครึ่งวัน จะมีหรือไม่มีเขาอยู่ด้วยก็ได้ แต่ถ้าไม่มีจะดีกว่า ใช้เวลาแบ่งของเล่นออกเป็นสามกอง
กองแรกคือเขาเล่นบ่อยมาก กองที่สองคือเขาเล่นนานๆ ครั้ง กองที่สามคือเขาไม่เล่นอีกแล้ว อาจจะมีกองที่สี่ได้ด้วยคือของเล่นราคาแพงที่ญาติๆ ซื้อมาให้ในวันเกิด
จัดวางของเล่นกองแรกให้เรียบร้อย เก็บของเล่นกองที่สองขึ้นในที่ที่หยิบง่าย เอาของเล่นกองที่สามไปเก็บตายรอเวลาทิ้ง และจัดหาที่วางของเล่นกองที่สี่เผื่อปู่ย่าตายายมาเยี่ยมวันไหนจะได้รีบคุ้ยออกมาวางให้ท่านดีใจ หากท่านทำงานนี้กับลูกจะพบว่าทำได้ยากเพราะเขาจะเก็บเอาไว้ทุกชิ้น ท่านควรทำคนเดียว จนกระทั่งเรียบร้อย แล้วจึงพาเขาเดินตรวจงาน
เพื่อแสดงให้เขาเห็นว่าเรามิได้ทิ้งของของเขาแต่เรายืนยันว่าจะเก็บขึ้น ส่วนใหญ่เขาจะยินดีที่เราช่วยทำ แล้วเขาจะยังคงเล่นเฉพาะของที่ชอบเล่นไม่กี่ชิ้นต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เขาจะลืมของเล่นกองที่สามไปในที่สุดเมื่ออายุโตขึ้นแล้วค่อยมาคุยกันอีกรอบว่าจะทิ้งหรือไม่ทิ้ง
การมีของเล่นมากเกินไปนอกจากจะไม่ช่วยพัฒนาอะไรอีกแล้วยังทำให้เขาคุมความสนใจได้ลำบากเพราะมีตัวเลือกมากเกินไป สมาธิในการเล่นของแต่ละชิ้นก็ลดลง เปลี่ยนของเล่นบ่อยเกินไป ครั้นเราลดจำนวนของเล่นลงจะพบว่าเขาเล่นของเล่นแต่ละชิ้นได้นานมากขึ้น ตั้งใจจดจ่อกับรายละเอียดของของเล่นแต่ละชิ้นมากขึ้น และมีการตัดสินใจที่เร็วขึ้น
ไม่ว่าของเล่นจะเหลือมากน้อยเพียงไร วินัยการเก็บของเล่นหลังจากการเล่นเป็นวินัยที่เรายืนยันเสมอว่าต้องทำ หากเขาไม่ทำเราจับมือทำ แต่เรื่องจะง่ายหากเรา “เล่น” เก็บของเล่นหรือ “แข่ง” เก็บของเล่น สนุกกว่านี้คือแข่งกันนับจำนวนของเล่น เท่ากับสอนคณิตศาสตร์ไปในตัว
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
จิตแพทย์และนักเขียน ขวัญใจพ่อแม่ชาวโซเชียล