เด็กทารกตกเตียงเป็นอันตรายจากการนอนที่พ่อแม่มักไม่ระวัง เพราะบางครั้งอุบัติเหตุตอนทารกนอนหลับก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ เรามีวิธีป้องกันและการดูแลทารกตอนนอนมาแนะนำค่ะ
อุบัติเหตุตอนนอนที่อาจเกิดกับลูกทารก อันตรายถึงขั้นทำให้ลูกเสียชีวิตได้
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร กล่าวว่า เด็กทารกในวัยแรกเกิด – 4 เดือน เป็นวัยบอบบางที่พ่อแม่ต้องดูแลไม่ให้คลาดสายตา เพราะอาจจะเกิดอันตรายต่อเด็กได้ รวมถึงการนอนของเด็กด้วย หากเด็กนอนด้วยท่านอนที่ไม่เหมาะสมและที่นอนที่ไม่ปลอดภัย อาจเป็นสาเหตุให้เด็กเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้เช่นเดียวกัน จึงแนะนำว่า การนอนของเด็กแรกเกิด – 4 เดือน พ่อแม่ควรจัดท่านอนที่เหมาะสม ที่นอนที่ปลอดภัย
5 คำแนะนำการนอนของเด็กแรกเกิด – 4 เดือน
- แยกที่นอนมาอยู่ด้านข้างผู้ใหญ่ ด้วยระยะห่างประมาณเอื้อมมือระหว่างผู้ใหญ่หรือติดชิดกับผู้ใหญ่ เพราะอาจจะเผลอหลับนอนเบียดหรือทับเด็กจนหายใจไม่ออกหรือโดนผ้าห่ม หมอนของพ่อแม่ทับเด็กโดยไม่รู้ตัว
- ที่นอนของเด็กควรสูงประมาณ 2 ฟุต หากจำเป็นต้องนอนด้วยเตียงนอนควรมีที่กันตก
- ขอบเตียงต้องมีระยะห่างของรั้วน้อยกว่า 15 เซนติเมตร และมีที่นอนพอดีกับเตียงไม่มีช่องห่างระหว่างที่นอนกับขอบเพราะอาจเกิดการติดศรีษะระหว่างช่องห่าง
- ต้องระวังผ้าห่ม หมอน มุ้ง เพราะอาจปิดทับจมูกทำให้หายใจไม่สะดวกหรืออุดกั้น
- ไม่ควรนั่งอุ้มจนหลับ เพราะผู้ปกครองอาจจะเผลอปล่อยเด็กออกจากมือทำให้ตกลงมาได้
ท่านอนที่เหมาะสำหรับเด็ก นอนด้วยท่านอนหงายไม่ใช่นอนคว่ำ เพราะอาจกลั้นทางเดินหายใจ และลองเปลี่ยนท่าให้นอนเรื่อยๆ เพื่อให้เด็กได้นอนหลับสบายที่สุด
เด็กแรกเกิด – 4 เดือน ควรนอนตะแคงหรือนอนหงายเป็นท่าที่เหมาะกับการพัฒนาการของกล้ามเนื้อที่ยังไม่ค่อยแข็งแรงทำได้เพียงหันซ้ายขวาและสามารถมองเห็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวและฝึกการมองได้ วัย 5-6 เดือน แล้วกระดูกคอจะเริ่มแข็งแรง และวัย 7-12 เดือนสามารถนอนได้ทุกท่าเพราะเด็กพลิกตัวด้วยตนเองได้แล้วที่สำคัญผู้ปกครองต้องสังเกตเด็กและสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็กจะต้องไม่มีอะไรมาปิดหน้าระหว่างที่เด็กหลับ โดยเฉพาะเด็กที่มีนิสัยชอบคว้าสิ่งของรอบตัว
พญ.นนธนวนัณท์ สุนทรา กล่าวว่า เด็กอายุเกิน 1 ปี ที่เริ่มยืนได้ ควรจัดให้นอนเตียงเด็กอย่างถูกวิธีคือ
- เตียงเด็กต้องมีราวกันตกที่มีซี่ราวแนวตั้งตรง ไม่ใช่แนวนอน และห่างกันไม่เกิน 15 เซนติเมตร
- ราวกันตกจะต้องมีตัวยึดแน่น เด็กไม่สามารถเหนี่ยวให้เคลื่อนไหวได้เอง ไม่อ้า ไม่เผยอ จนเกิดช่องห่างจากเตียงจนลำตัวเด็กลอดตกได้
- เบาะที่นอนต้องพอดีกับเตียงและไม่มีช่องว่างระหว่างเบาะกับราวกันตก
- มุมเสาทั้ง 4 มุมต้องเรียบ มีส่วนนูนได้ไม่เกิน 1.5 มิลลิเมตร
- ผนังเตียงด้านศีรษะและเท้าต้องไม่มีการตัดตกแต่งให้เกิดร่องและรู
- จากขอบบนของเบาะที่นอนถึงราวกันตกด้านบนต้องมีความสูงไม่ต่ำกว่า 65 เซนติเมตร และ
- เด็กที่มีความสูงเกินกว่า 89 เซนติเมตร มีความเสี่ยงต่อการปีนราวกันตกและตกจากที่สูงได้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องระวังหากพบว่าเด็กแน่นิ่ง ตัวซีดหรือเขียวคล้ำให้จับเด็กนอนหงาย พยายามปลุกหรือเรียก
- สังเกตการหายใจโดยดูการเคลื่อนไหวของหน้าอก หน้าท้อง ถ้าเรียกไม่รู้ตัวลักษณะเหมือนไม่หายใจ ให้กดทรวงอกบริเวณ สันอกทันที สลับกับการเป่าปากหรือเป่าจมูก-ปากเด็กในเวลาเดียวกันและรีบตามหน่วยฉุกเฉิน 1669 เพื่อนำส่งโรงพยาบาลให้ทันเวลาต่อไป