การสอนเรื่องสิทธิหน้าที่ให้ลูกตั้งแต่เล็ก เช่น อะไรที่ลูกควรทำ อะไรที่ไม่ควรทำ สอนให้ลูกรู้จักสิทธิในร่างกายตนเอง รู้จักสิทธิความเป็นเจ้าของของที่ตนเองมี เช่น ของเล่น ของใช้ส่วนตัว ห้ามให้ใครมาก้าวล่วงหรือหยิบฉวยไป เมื่อลูกรู้จักสิทธิของตนเองแล้วต้องสอนลูกให้รู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น ไม่แตะต้อง ทำร้าย หรือทำลาย ร่างกายและสิ่งของของผู้อื่นด้วย
ควรบอกลูกเสมอว่าอย่าให้ใครมาเอาเปรียบ และควรบอกเพื่อนไปตรงๆ ว่าลูกไม่ชอบ ไม่อยากให้ทำ ที่สำคัญลูกต้องพูดกับเพื่อนดีๆ อย่าทำร้ายร่างกายกันเด็ดขาด
ลูกอาจจะไม่อยากทะเลาะกับเพื่อน เลยยอมปล่อยให้เพื่อนหยิบของไปก่อน เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากให้ลูกถูกเอาเปรียบพ่อแม่อาจจะสอนลูกให้ตั้งเงื่อนไขกับเพื่อน เช่น ลูกแบ่งดินสอให้เพื่อนใช้ได้นะ แต่เพื่อนต้องขออนุญาตลูกก่อน ถ้าเพื่อนไม่ขอลูกจะไม่ให้
ลูกอาจจะถูกเพื่อนยืมของไปแล้วไม่คืน พ่อแม่ควรใช้โอกาสนี้สอนลูกว่าหากครั้งต่อไปเพื่อนยืมของแล้วไม่คืน ลูกสามารถปฏิเสธเพื่อนได้ แต่ทั้งนี้พ่อแม่ควรให้ลูกเป็นคนตัดสินใจว่าจะให้เพื่อนยืมหรือไม่ และหากเพื่อนไม่คืนลูกจะมีวิธีแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เช่น ขอคืนตรงๆ บอกว่าจำเป็นต้องใช้ บอกคุณครู หรือแจ้งพ่อแม่ของเพื่อน เป็นต้น
บางทีลูกเราไม่ได้หัวอ่อนจนถูกเพื่อนเอาเปรียบ แต่อาจเป็นเพราะลูกไม่มีความมั่นใจในตนเอง เพราะฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่จะสร้างความมั่นใจให้กับลูก เช่น ปล่อยให้ลูกได้เล่นอย่างอิสระ มีความคิดสร้างสรรค์ ให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตนเอง ไม่เปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น ไว้วางใจและปล่อยให้ลูกตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ชื่นชมเมื่อลูกทำดี ฯลฯ เพราะเด็กที่มีความมั่นใจในตนเองมักจะเป็นเด็กที่ไม่คล้อยตามคนอื่น เขาจะมีความมั่นคงทางอารมณ์ ความรู้สึก และยอมรับเหตุผลต่างๆ ได้
ที่สำคัญ เมื่อลูกถูกเอาเปรียบ พ่อแม่อย่าเพิ่งเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหาให้เขาค่ะ แต่ควรให้ลูกได้คิด และตัดสินใจด้วยตัวเองว่าเขาจะต้องทำอย่างไร หากมีแนวโน้มว่าลูกจะกลายเป็นเด็กหัวอ่อน ยอมเพื่อน เมื่อนั้นจึงเป็นบทบาทของพ่อแม่ที่จะเข้าไปให้คำปรึกษาแก่ลูก
อ้างอิง : หมอเสาวภา เลี้ยงลูกเชิงบวก นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ลูกเก่ง ดี สร้างได้ก่อนวัยเรียน สำนักพิมพ์ รักลูกบุ๊กส์