ความกลัวเป็นพัฒนาการตามวัยอย่างหนึ่งของเด็กๆ เด็กหลายคน แต่ถ้าลูกบอกว่าลูกกลัวผี โดยไม่เคยมีสัญญาณมาก่อน เตรียมหาสาเหตุและวิธีแก้ว่าทำไมลูกถึงกลัวผีกันได้เลยค่ะ
พัฒนาการตามวัย ความกลัวเป็นความรู้สึกที่อยู่ในใจของเด็กๆ อยู่แล้ว เด็กแต่ละวัยมีความกลัวที่แตกต่างกัน เช่น ทารก มักจะกลัวสิ่งแวดล้อมแปลกๆ กลัวคนแปลกหน้า เด็กวัย 1-3 ปี เริ่มกลัวความมืด กลัวการอยู่คนเดียว เมื่อโตขึ้นมาอีกหน่อยในวัยอนุบาล ก็เริ่มกลัวสิ่งที่อยู่ในจินตนาการ เช่น ผี ปีศาจ เป็นต้น
เพื่อนเล่าให้ฟัง เด็กหลายคนพ่อแม่ คนเลี้ยงดูไม่เคยพูดถึงเรื่องผี หรือให้ดูสื่อเกี่ยวกับผี ปีศาจ แต่เมื่อไปโรงเรียน เจอครู หรือเพื่อนเล่าให้ฟังก็มักเกิดจินตนาการ และความกลัวผีขึ้นมาได้
พ่อแม่ขี้กลัว ถ้าพ่อแม่เคยแสดงความกลัวให้ลูกเห็น ลูกจะเฝ้าดูพฤติกรรม และซึมซับได้ เช่น ถ้าพ่อแม่กลัวผี ก็มีแนวโน้มว่าลูกกลัวผีเช่นกัน
ถูกขู่ การขู่เด็กก็ดี หลอกเด็กให้ตกใจกลัวบ่อยๆ ก็ตาม อาจสร้างบาดแผลใจให้ลูกเป็นเด็กขี้กลัว เมื่อมีใครมาหลอกเรื่องผี ลูกก็กลัวได้โดยไม่มีเหตุผล
ขาดความอบอุ่น ลูกไม่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด ขาดความเอาใจใส่จากพ่อแม่ ทำให้ขาดทักษะต่างๆ จนเป็นเด็กขาดความมั่นใจและขี้กลัว ลูกมีประสบการณ์รุนแรงฝังใจ เช่นอาจจะถูกทิ้งไว้ตามลำพัง เคยพลัดหลงกับพ่อแม่ ได้รับอุบัติเหตุ หรือเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกกลัวอย่างรุนแรง
ฟังลูกพูด ให้ลูกเล่าถึงสิ่งที่กลัว ลูกอาจจะเล่าว่าใต้เตียงมีผี ไม่อยากนอนคนเดียว เพราะจะมีผีออกมา ให้พ่อแม่ฟังที่ลูกเล่า อย่าพยายามบอกว่าผีไม่มีจริง หรือปฏิเสธความคิดลูก และกล่าวหาว่าเป็นเรื่องไร้สาระค่ะ เพราะจะยิ่งทำให้ลูกขาดความมั่นใจในตนเอง
อธิบายให้ลูกเข้าใจด้วยเหตุและผล อธิบายในสิ่งที่เราไม่อยากให้ลูกทำอย่างใจเย็น ด้วยเหตุและผล เช่น แทนที่จะบอกลูกว่า รีบนอนได้แล้วเดี๋ยวผีมาหลอก เปลี่ยนใหม่เป็นว่า หนูควรรีบนอนได้แล้ว เพราะพรุ่งนี้หนูจะต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปโรงเรียนให้ทันเวลา ถ้าหนูนอนดึกไปกว่านี้ หนูจะนอนไม่พอ พอถึงเวลาตื่นทำให้ไม่อยากตื่น ที่สำคัญจะทำให้หนูไปโรงเรียนไม่ทัน เป็นต้น
พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่กลัวอย่างไร้เหตุผล พ่อแม่คือต้นแบบที่ดีของลูก การใช้เหตุผลในการดำเนินชีวิต จะช่วยให้ลูกซึมซับรับรู้เรื่องเหตุและผลมากขึ้น และไม่กลัวอะไรๆ อย่างไร้เหตุผลได้ เช่น ทำไมเราถึงควรกลัวงูมากกว่าผี นั่นเป็นเพราะเรารู้ว่างูสามารถกัดทำร้ายเราจนถึงแก่ชีวิตได้ ส่วนผีนั้นเราไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีจริงหรือไม่ และถึงแม้ว่าพิสูจน์ได้ว่ามีจริงก็ไม่มีเหตุอันใดที่จะทำให้เขามาทำร้ายเรา เป็นต้น
แก้ไขความเข้าใจผิด หากผู้ใหญ่ในบ้านหลอกให้ลูกกลัวผี เช่น ปู่ย่าตายาย จำเป็นอย่างยิ่งที่พ่อแม่ต้องอธิบายให้ท่านฟังว่าเพราะเหตุใดจึงไม่ควรหลอกหลานเช่นนั้นที่สำคัญคือ ต้องแก้ไขความเข้าใจผิดให้แก่ลูกด้วย เช่น ที่คุณยายบอกว่า ไม่ให้หนูเล่นซ่อนแอบตอนกลางคืน เพราะอาจถูกผีจับตัวไป ที่จริงแล้ว ไม่มีผีที่ไหนมาจับตัวลูกไปได้ แต่คุณยายพูดไปอย่างนั้น เป็นเพราะห่วง กลัวว่าลูกจะไปเล่นไกลหูไกลตาและหลงหายไปมากกว่า เป็นต้น
ลดการข่มขู่ ไม่หลอกทุกรูปแบบให้เด็กหวาดกลัว และเบี่ยงเบนความสนใจไปยังสิ่งอื่น ทำซ้ำ ๆ สม่ำเสมอ เพิ่มทักษะในการช่วยเหลือตนเอง การตัดสินใจ และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ จะส่งผลให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเอง มากขึ้น ฝึกลูกให้เผชิญกับสิ่งที่น่ากลัวทีละน้อย ค่อยเป็นค่อยไปและคอยให้กำลังใจเป็นระยะ จนเขาสามารถเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวได้ แต่ถ้าลองแล้วยังไม่ได้ผล ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อทำการบำบัดรักษาต่อไป
อ้างอิง : กรมสุขภาพจิต