ถ้าพ่อแม่ไม่เคร่งเครียดเรื่องการเรียนมากเกินไป และดูโดยรวมว่าลูกมีพัฒนาการทางสังคมที่ดี ช่วยเหลือตัวเองได้ มีการเล่นที่เหมาะสมกับวัย แล้วการเรียนก็อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย ก็น่าจะพอใจ เพราะการเจริญเติบโตของเด็กต้องอาศัยพัฒนาการทุกๆ ด้านพร้อมกันเป็นพัฒนาการโดยรวม มากกว่าที่จะเน้นด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ เด็กแต่ละคนมีศักยภาพและความบกพร่องไม่เหมือนกัน (Multiple Intelligence) พ่อแม่ควรจะมองที่ภาพรวม ด้านใดที่เป็นศักยภาพก็ส่งเสริมให้เขาใช้มันอย่างเต็มที่ ส่วนด้านที่เป็นความบกพร่องก็ให้การช่วยเหลือฟื้นฟูเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ถ้าพยายามแล้วยังไม่ได้ ก็ให้ถือว่าเขามีข้อจำกัด อย่าไปทำให้ลูกรู้สึกว่าไม่ได้เรื่อง หรือด่าว่าให้เสียกำลังใจ ถ้าเด็กสติปัญญาไม่ดีตั้งแต่แรก พ่อแม่ก็คงไม่สามารถไปเปลี่ยนระดับศักยภาพของเขาได้ แต่ช่วยให้เขาใช้ศักยภาพเท่าที่มีให้ดีที่สุด
ในกรณีที่เด็กเคยเรียนดีมาก่อน แล้วเรียนตกลง ต้องวิเคราะห์ปัจจัยที่เป็นสาเหตุ แล้วให้การช่วยเหลือทุกด้านไปพร้อมกัน
- ถ้ามีปัญหาเรื่องอารมณ์ ความวิตกกังวล พ่อแม่ต้องให้กำลังใจ คลายปัญหาที่เด็กกำลังเครียด เมื่อเด็กสบายใจ สมองก็จะปลอดโปร่งพอที่จะรับความรู้ได้ดีขึ้น
- ถ้ามีปัญหาที่การเรียนเฉพาะด้าน เช่น เป็นโรคขาดสมาธิ ก็อาจจะใช้ยาร่วมกับพฤติกรรมบำบัด พ่อแม่อาจจะช่วยเหลือโดยปรับการเรียนรู้ให้ง่ายขึ้น จัดการเรียนให้เป็นระเบียบแบบแผน แบ่งงานให้เป็นช่วงสั้น ๆ ซึ่งจะช่วยให้เด็กปรับตัวให้เข้ากับการเรียนได้ดีขึ้น
- ถ้าเด็กมีปัญหาการติด ไม่ว่าจะเป็นทีวี เกม หรือคอมพิวเตอร์ พ่อแม่ลูกควรช่วยกันวางระเบียบแบบแผนที่แน่นอน เช่น ในหนึ่งวันควรจะมีกิจกรรมอะไรบ้าง หรือลูกจะต้องทำหน้าที่บางอย่างก่อน จึงจะเล่นได้ และมีกำหนดเวลาว่าไม่เกินเท่าไร ถ้าเขารับผิดชอบตัวเองได้ ก็จะได้รับอนุญาตให้ทำต่อไป แต่ถ้าควบคุมตัวเองไม่ได้ ก็อาจจะให้งดสัก 2-3 วัน และเปิดโอกาสให้เขาแก้ไขตัวเองใหม่
- ถ้าเด็กวัยรุ่นมีผลการเรียนตกลง พ่อแม่ควรจะเอาใจใส่ ประเมินว่าปัญหาอยู่ตรงไหน แล้วช่วยกันให้เหตุผล ช่วยกันคิด ชี้ให้เห็นข้อดี ข้อเสีย โดยไม่ตำหนิติเตียนหรือดุว่ารุนแรง
ทั้งหมดนี้ต้องปฏิบัติอย่าง เอาจริงเอาจัง และสม่ำเสมอ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ผลการกระทำของตัวเอง และฝึกความรับผิดชอบตามวัยอันสมควร เพราะความรับผิดชอบในเรื่องเรียน ก็มีผลต่อเนื่องมาจากความรับผิดชอบต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันนั่นเอง
บางอย่างที่เกินเลยไปก็คงจะต้องกำหนดขอบเขตกันบ้าง ไม่ปล่อยแต่ก็ไม่ควรตื่นเต้นหรือถือเป็นเรื่องใหญ่ เด็กวัยรุ่นยังต้องการการสนับสนุน การดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่อยู่ตลอด แต่ไม่ใช่ในรูปแบบของการจ้ำจี้จ้ำไชมากเกินไป การกำหนดทุกอย่างที่เขาทำจะยิ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านมากขึ้น ความร่วมมือระหว่างพ่อแม่กับครูเป็นกุญแจแห่งการช่วยเหลือที่สำคัญที่สุด พ่อแม่ที่พบว่าลูกมีปัญหาด้านการเรียน ควรไปพบครูของลูกเป็นระยะ เพื่อดูว่าทางบ้านจะช่วยลูกอย่างไร แล้วทางโรงเรียนจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง