คุณพ่อคุณแม่อาจเข้าใจว่าการบ้านของเด็กวัยอนุบาลนี้เป็นเรื่องเล็กๆ ขอบอกว่าไม่เล็กอย่างที่คิดนะคะ เพราะการบ้านของวัยอนุบาล ถึงแม้จะใช้เวลาในการทำไม่นาน (ในความคิดของผู้ใหญ่) แล้วมีจำนวนไม่เยอะ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ นะคะ ที่ว่าเรื่องไม่เล็ก เป็นเพราะงานชิ้นเล็กชิ้นนี้ค่ะ ที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้และปลูกฝังพฤติกรรมรวมถึงทัศนคติในแง่ดีที่มีต่อการบ้านและการ เรียนในอนาคตด้วย
เพื่อต้องการให้เกิดกิจกรรมที่เชื่อมโยงชีวิตระหว่างที่โรงเรียนและบ้าน การบ้านในวัยนี้จึงช่วยเตรียมพร้อมในด้านต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาตัวเองให้พร้อม พัฒนากล้ามเนื้อ พัฒนาความรู้สึกรับผิดชอบ และพัฒนาความรู้สึกที่ดีต่อการนำกิจกรรมหรืออะไรก็ตามที่ได้รับมอบหมายจาก โรงเรียนมาทำที่บ้าน นอกจากนี้การบ้านยังเป็นการเตรียมความ พร้อมให้กับลูกในอนาคต เพราะต่อไปลูกของเราต้องเรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้น การบ้านในวัยนี้จึงต้องช่วยสร้างความรู้สึกที่ดีและความพร้อมที่จะเข้าไป เรียนรู้ในชั้นสูงต่อไป ถ้าลูกได้รับการเตรียมความพร้อมมาแล้ว เวลาที่เขาทำการบ้านเขาจะมีความสุข แล้วความรู้สึกดีๆ เหล่านี้จะถูกปลูกฝังจนกลายเป็นตัวตนของเขาขึ้นมา เด็กจะทำโดยไม่รู้สึกเบื่อหน่ายหรือรู้สึกว่าถูกบังคับให้ต้องมาทำการบ้าน
เด็กอนุบาลเป็นวัยที่กำลังเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว ทุกสิ่งทุกอย่างคือการการบ้านที่นำไปสู่การเรียนรู้ การพัฒนา การฝึกฝนในด้านต่างๆ เป็นการบ้านที่ไม่ได้เน้นเรื่องความถูกผิด แต่มุ่งไปว่าลูกได้เรียนรู้อะไรจากการบ้านมากกว่า
ผู้ปกครองหลายคนไม่รู้ว่าตัวเองมีส่วนสำคัญอย่างมากกับการเรียนรู้ของลูก เช่น ถ้าพ่อแม่มาดูแลเอาใจใส่เวลาที่เขาทำการบ้าน นั่งอยู่ใกล้ๆ ยิ้มแย้ม ให้ลูกได้ทำด้วยตัวเอง จะผิดจะถูกไม่เป็นไร แต่สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ พ่อแม่ให้ความสำคัญ ลูกจะรู้สึกว่าการบ้านเป็นสิ่งที่สำคัญขนาดพ่อแม่ยังต้องสนใจกับการบ้านของ เขาเลย พอเขาไปเรียนในชั้นประถมต้องมีการบ้าน เขาจะทำด้วยความรับผิดชอบ ด้วยความรู้สึกที่ดีกับการทำการบ้านเพราะถูกเตรียมพร้อมมาแล้วตั้งแต่อนุบาล
พ่อแม่ต้องเข้าใจด้วยว่า เนื้อหาของการบ้านเด็กวัยอนุบาลไม่ใช่สิ่งที่เน้นมากนัก เนื้อหาเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการจัดกิจกรรม ให้เด็กได้ประสบการณ์ในการทำงาน และเกิดพัฒนาการด้านต่างๆ ขึ้น เนื้อหาจึงเป็นแค่สื่อ ไม่ได้เป็นตัวหลักของการที่เด็กจะทำการบ้าน ผิดถูกจึงไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่ที่สำคัญน่าจะเป็นกระบวนการในการทำ เพราะเราจะนำมาใช้ในการสังเกตพัฒนาการด้านต่างๆ
พ่อแม่ที่ยิ้มแย้ม มีความสุข เอาใจใส่กับการทำการบ้านของลูก มีความสำคัญต่อการปลูกฝังทัศนคติในการทำการบ้านของลูก เขาจะเห็นว่าการทำการบ้านเป็นสิ่งสำคัญ และมีความรู้สึกดี ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเรียนในอนาคต แต่หากเมื่อไรที่เรามีพฤติกรรมดังต่อไปนี้ก็จะทำให้การเรียนรู้ของลูกเป็นไป ในทางลบทีเดียวล่ะ
ไม่สนใจการบ้านของลูก อยากจะทำอะไรก็ทำไป ทำการบ้านแทนลูก บ่นหรือไม่พอใจเวลาที่เจ้าตัวซนทำงานช้า ดุหรือเร่งรัดเอาคำตอบเวลาที่ลูกทำผิด ต้องทำให้ถูกทุกข้อ
แต่ละข้อที่ว่ามามีผลต่อพัฒนาการของเด็กวัยนี้ทั้งนั้นค่ะ เพราะเจ้าตัวเล็กเขาจะเรียนรู้พฤติกรรมเหล่านี้ แล้วซึมซับ เก็บสะสมไปเรื่อยๆ จนเมื่อเขาเข้าเรียนในชั้นประถม สิ่งที่เราเพาะพันธุ์เอาไว้จะเริ่มแสดงผล อย่างถ้าเราเร่งๆ ลูกเวลาที่เขาทำการบ้าน ความรู้สึกที่มีกับผู้ใหญ่จะเป็นไปในแง่ลบ แล้วเขาจะเริ่มคิดว่าเจ้าการบ้านนี่เป็นตัวการที่ทำให้เขาต้องมานั่งรีบๆ ทำ แล้วมาโดนผู้ใหญ่เร่ง อารมณ์เสีย เขาจะไม่มีความสุขเลยเวลาทำการบ้าน
ความยากหรือความละเอียดของการบ้านควรค่อยๆ เพิ่มตามลำดับชั้น อนุบาล 1 อาจเป็นแค่การลากเส้น อนุบาล 2 อาจมีเรื่องของรูปทรง มิติ เพิ่มเข้ามา อนุบาล 3 มีเรื่องจำนวนให้เด็กเริ่มนับ อย่างนี้เป็นต้น แล้วอย่าไปติดว่าการบ้านของลูกควรจะเป็นการอ่านหรือเขียนอย่างเดียว การวาดรูประบายสีก็เป็นการบ้านที่ช่วยให้เด็กฝึกทักษะได้ เช่น ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมือ การแยกสีต่างๆ ส่วนการบ้านที่เป็นการคัดเขียนตัวอักษรแล้วต้องใช้เวลานานๆ เกิน 10-15 นาที เด็กๆ ของเราไม่มีสมาธิได้นานขนาดนั้น นอกจากถูกเราบังคับ แล้วการบ้านแบบนี้ไม่สอดคล้องกับตาและมือที่จะต้องพัฒนา
พ่อแม่หลายคนยังไม่เข้าใจธรรมชาติของเด็กอยู่มากค่ะ กลับไปยึดติดว่าลูกเรียนอนุบาลควรได้การบ้านที่เป็นการคัดหัดเขียน ลูกควรจะเขียนหนังสือได้ อ่านหนังสือออก แท้จริงแล้วธรรมชาติของเด็กวัยนี้ยังไม่จำเป็นเรียนรู้มากถึงขนาดนั้น คุณพ่อคุณแม่มักวิตกกังวลกลัวว่าลูกจะเรียนได้ช้าไม่ทันคนอื่น แต่ในความเป็นจริงแล้วการเร่งลูกเรียน จะมีปัญหาที่ตามมาทีหลังมากกว่าอีก เพราะการไปเร่งการเรียนรู้ให้กับเด็ก เท่ากับเราไปฝืนธรรมชาติ ทำให้เด็กไม่ได้พัฒนาคุณลักษณะภายในบางประการ อย่างการพัฒนาบุคลิกภาพ การควบคุมอารมณ์ การพัฒนาทางสังคม การยอมรับความเป็นผู้นำ
ความรัก ความเอื้ออาทร และความเป็นห่วงเป็นใยต่อลูก มีอยู่ในตัวของพ่อแม่ทุกคนค่ะ แต่ต้องไม่ลืมที่จะเติมความเข้าใจลงไปด้วย เพราะเด็กมีธรรมชาติที่เป็นของเขาเอง ถ้ารู้และเข้าใจ เราจะได้ลูกที่มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ทั้งกายและใจเลยล่ะค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลวิชาการจาก ดร.วัฒนา มัคคสมัน ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนวรรณสว่างจิต