เพื่อสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในโรงเรียนทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้หารือร่วมกับกรมสุขภาพจิตเกี่ยวกับการทดสอบด้านจิตใจของเด็กนักเรียน โดยกรมสุขภาพจิตจะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และทักษะที่ใช้สำหรับการประเมินสุขภาพจิตของนักเรียน ให้กับครูและบุคลากรของ สพฐ. เพื่อให้ทราบว่านักเรียนแต่ละคนมีสภาพจิตใจอยู่ในระดับใด และสามารถจัดกลุ่มนักเรียนให้ง่ายต่อการดูแลได้
ในการประเมินจะมีการแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มเด็กสุขภาพจิตปกติและไม่ปกติ เช่น ชอบทำร้ายตัวเอง ชอบทำร้ายผู้อื่น เป็นต้น เมื่อมีการประเมินแล้ว กรมสุขภาพจิตก็จะให้ความรู้กับครูว่าสามารถเยียวยา ดูแลรักษาพัฒนากับเด็กแต่ละกลุ่มอย่างไร และหากเด็กกลุ่มไหนที่มีสุขภาพจิตอยู่ในระดับที่เกินความสามารถของครู จะมีการประสานบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ช่วยดูแลร่วมด้วย กล่าวคือโรงเรียนดูแลสุขภาพทางกาย ส่วนกรมสุขภาพจิตเป็นผู้ดูแลสุขภาพจิต ซึ่งจะสามารถดูแลเยียวยาเด็กได้อย่างตรงจุด
นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า "จะมีการนำร่องในกลุ่มโรงเรียนคุณภาพชุมชนและโรงเรียนมัธยมดีสี่มุม จังหวัดละ 1 แห่ง จะเริ่มในปีการศึกษา 2564 นี้ การร่วมมือครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ทำให้ สพฐ.และหน่วยงานที่มีองค์ความรู้ทางด้านสุขภาพจิต ได้เข้ามาช่วยเหลือกัน รวมถึงจะมีการต่อยอดถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้ปกครองด้วย เนื่องจากเราต้องการที่จะให้ทุกคนร่วมกันดูแลการสังเกตเด็ก เพื่อให้เด็กได้มีทั้งกำลังกาย กำลังใจที่ดี มีความพลัง ความสุข พร้อมที่จะเรียนรู้ในแหล่งการเรียนรู้ที่ดี”
อ้างอิง : เดลินิวส์