รู้ไหมคะว่าโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงขณะตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้กับแม่ตั้งครรภ์ทุกคน โรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ต้องรักษาแบบไหน และจะมีผลต่อพัฒนาการทารกในครรภ์หรือไม่ คุณหมอมีคำตอบค่ะ
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ Myasthenia Gravis เป็นโรคที่มักเกิดกับกล้ามเนื้อเล็ก ๆ บริเวณใบหน้า โดยมีการทำงานสื่อสารกันระหว่างเส้นประสาท และกล้ามเนื้อลายผิดปกติ ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง จนเกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ตาตก แขนขาอ่อนแรงยกไม่ขึ้น และถ้าอาการรุนแรงมากก็อาจส่งผลต่อการหายใจและทรวงอกได้ ซึ่งอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น มักเป็นๆ หายๆ และอาการจะค่อยเป็นค่อยไป ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของผู้ป่วย โดยปัจจัยที่ทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น ได้แก่ การติดเชื้อ เป็นไข้ อากาศร้อนหรือเย็นเกินไป ความเครียด การออกกำลังกายหรือออกแรงมากเกินไป มีโรคเกี่ยวกับไทรอยด์ หรือการตั้งครรภ์
โดยทั่วไปอัตราการเกิดของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง Myasthenia Gravis จะมีไม่มากนัก เพราะถ้าระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเราไม่มีความผิดปกติ และญาติพี่น้องไม่ได้ป่วยเป็นโรคนี้ โอกาสที่จะเกิดกับคุณแม่ก็มีน้อยมาก
เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าคุณแม่มีความเสี่ยงของการเกิดโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง คุณแม่ตั้งครรภ์จะต้องระมัดระวังในการดูแลตนเองเพิ่มขึ้น ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ออกกำลังกายหรือทำงานจนหักโหมเกินไป เพราะคุณแม่ที่เป็นโรคนี้มีโอกาสเหนื่อยง่าย หรือเกิดโรคง่ายกว่าคนที่ไม่ไม่ได้ตั้งครรภ์ นอกจากนี้จะมีการรักษาด้วยยาซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อทารกในครรภ์
ถึงแม้ว่าโรคนี้จะป้องกันไม่ได้ แต่ถ้าคุณแม่รู้ตัวก่อนตั้งครรภ์ก็ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อดูแลอาการอย่างใกล้ชิด และควรกินยาอยู่ไม่ให้ขาด เพื่อลดความรุนแรงของอาการที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งคุณแม่อาจช็อก หมดสติ เพราะหัวใจล้มเหลวก็เป็นได้
เนื่องจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นแอนติบอดี้ที่ไม่ดีในร่างกาย เมื่อคุณแม่ป่วยลูกก็จะได้แอนติบอดี้นี้ แม้ว่าลูกจะไม่ได้เป็นโรคนี้ แต่จะได้รับผลกระทบเกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อ และระบบหายใจที่อาจมีปัญหาหลังคลอด ซึ่งแพทย์ก็จะเฝ้าระวังและดูแลอาการอย่างใกล้ชิด ประมาณ 3-4 สัปดาห์ อาการก็จะค่อยๆ หายขาดไปเอง
เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์: นพ.นพดล สโรบล สูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์