เด็กแรกเกิด- 4 เดือน
สิ่งที่พ่อแม่ต้องตระหนักอยู่เสมอคือ ลูกน้อยแรกเกิดนั้นช่วยตัวเองไม่ได้เลย ช่วงนี้แกมักจะกินและนอนเป็นหลัก คนที่ต้องดูแลอย่างเต็มที่คือพ่อแม่ และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ นั้นจะมาจากความเผลอเรอของผู้ใหญ่เสียเป็นส่วนใหญ่
* หายใจไม่ออก
การที่ลูกหายใจไม่ออก เป็นเพราะที่นอนนุ่มเกินไป หรือที่นอนเล็กกว่าเตียง จนเหลือเป็นช่องพอที่จะทำให้หน้าลูกตกลงไป จนจมูกของลูกถูกปิดจนหายใจไม่ออกเป็นอันตรายได้ เพื่อความปลอดภัยควรเลือกที่นอนเนื้อแน่น กดแล้วคืนตัวได้ง่าย ขนาดพอดีกับเตียง และควรให้ลูกนอนหงายหรือนอนตะแคง ให้ปลายเท้าลูกชิดขอบเตียง เมื่อลูกดิ้นและถีบตัวขึ้น ผ้าห่มจะได้ไม่ปิดคลุมหน้าลูก
รวมถึงหลังๆ มีข่าวบ่อยครั้งที่เด็กอ่อนเสียชีวิตจากการถูกพ่อแม่นอนทับด้วย ตรงนี้ก็ต้องระวังด้วยค่ะ
* โดนของแหลมตำ
ของแหลมที่ว่าก็ประเภทเข็มกลัดทั้งหลายที่ใช้กลัดผ้าอ้อมหรือตรึงผ้าบนเบาะนั่นแหละค่ะ ถ้าใช้ไม่ระวังกลัดไปถูกเนื้ออ่อนๆ ของลูก หรือไม่ก็เข็มหมดสภาพ บิดเบี้ยวซ่อนปลายไม่สนิท หลุดมาตำพุงลูกได้ เพราะฉะนั้นเวลาใช้ต้องตรวจดูให้ดีค่ะ เดี๋ยวลูกจะเจ็บตัวเสียเปล่าๆ
* สำลักนม อุดหลอดลม
ลูกวัยเล็กนี้ขณะกินนมพ่อแม่ต้องคอยดูด้วยนะคะ ไม่ปล่อยลูกดูดนมตามลำพังหรือ ใช้หมอนหนุนขวดแทนมือเรา (เพราะแม่จะไปทำงานอื่น) เพราะลูกอาจแหวะและสำลักนม เข้าหลอดลมได้
เด็ก 5-7 เดือน
* ตกจากที่สูง
วัยนี้เริ่มซนสุดๆ เริ่มพลิกตัว และรู้จักขยับแขนขา เคลื่อนไหวเองได้แล้ว จึงไม่ควรวางใจปล่อยลูกไว้ตามลำพัง เพราะเพียงชั่วครู่เดียว ลูกอาจจะกลิ้งตกลงมาจากเตียงหรือที่สูงอื่นๆ เป็นอันตรายได้
ทางป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ ทุกครั้งที่ต้องปล่อยลูกอยู่บนเตียงตามลำพัง ควรยกที่กั้นเตียงขึ้นเสมอ ไม่ควรเปลี่ยนเสื้อผ้าลูกบนเตียงหรือบนโต๊ะ ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ต้องเตรียม อุปกรณ์ให้พร้อม และไม่ลุกไปจนกว่าจะเสร็จและอุ้มลูกลงมาเรียบร้อยแล้ว
* ของติดคอ
ลูกวัยนี้ชอบเอาของทุกอย่างเข้าปาก จึงต้องระวังไม่ให้ลูกเล่นของเล่นชิ้นเล็กๆ รวมไปถึงชิ้นส่วนเล็กๆ จากของเล่นที่อาจจะหลุดร่วงออกมา เช่น กระดุม เสื้อหรือลูกตาตุ๊กตา ลูกปัดที่ติดมากับของเล่น เมล็ดผลไม้เล็กๆ และควรดูแลพื้นให้ปลอดจากสิ่งของเหล่านี้ เพราะถ้าลูกเก็บกินเข้าปากและไปติดคอเข้าจะเป็นอันตรายมากทีเดียว
* จมน้ำ
ต้องไม่ปล่อยลูกไว้ในอ่างน้ำหรือในห้องน้ำตามลำพัง แม้เพียงแป๊บเดียวก็ไม่ได้ มีหลายรายต้องเศร้าใจ เพราะลูกหน้าจมน้ำในอ่างหรือกาละมังเสียชีวิตหรือมีปัญหา พัฒนาการมาแล้ว เพราะฉะนั้นต้องตระหนักไว้เลยว่าไม่ควรปล่อยลูกให้อยู่กับน้ำตามลำพัง แม้วินาทีเดียว
เด็ก 8-12 เดือน
เป็นช่วงเวลาที่เด็กเริ่มเคลื่อนไหวด้วยตัวเองได้มากขึ้น เริ่มคลาน ยืน และ เดิน แกจะสนุกกับการสำรวจสิ่งแปลกใหม่ จึงเป็นช่วงหนึ่งที่เจ้าตัวเล็กจะเจ็บตัวได้มากที่สุดช่วงหนึ่งเลยทีเดียว
* ศีรษะกระแทก
เมื่อลูกเริ่มยืนได้ ระดับความสูงของลูกมักจะพอดีกับมุมโต๊ะ เมื่อไม่ระวังจึงมักชนกับมุมหรือเหลี่ยมโต๊ะหรือเก้าอี้จนได้รับบาดเจ็บ หัวร้างข้างแตกได้
ทางป้องกันที่ดีคือ ถ้าไม่จำเป็นต้องใช้ก็ย้ายของใช้ที่มีมุมแหลมๆ เก็บไว้ก่อน หรือใช้ผ้าหุ้มหรือใช้ที่ครอบปิดมุมแหลมๆ นั้นเสีย
* ไฟดูด น้ำร้อนลวก
เป็นอีกเรื่องที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะปลั๊กไฟเตี้ยๆ ตามเสาที่ลูกเอื้อมได้หรือจับถึงแล้ว ควรหาที่ครอบปลั๊กไฟปิด เสียให้เรียบร้อย เพื่อกันลูกเอานิ้วไปแหย่เล่นได้
เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน เช่นเตาอบ ที่ปิ้งขนมปัง กาน้ำร้อน หรือแก้วนม แก้วกาแฟที่ชงร้อนๆ แล้ววางไว้ในระดับที่เด็กวัยนี้เอื้อมถึง หรือดึงผ้าปูโต๊ะของร้อนตกรวกใส่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อจะใช้อุปกรณ์ที่อันตรายเหล่านี้จึงควรระวัง อย่าให้เด็กเข้าใกล้หรือเล่นได้เป็นอันขาด
* กลืนสารพิษ
เพราะความซุกซนและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้เจ้าตัวน้อยกินสารพิษต่างๆ ที่มี อยู่ในบ้านเช่น น้ำยาล้างจาน ยาฆ่าแมลง แอลกอฮอล์ น้ำยาล้างเล็บ ยา ฯลฯ เข้าไป ได้ เพื่อความปลอดภัยคุณพ่อคุณแม่ จึงควรเก็บสารพิษที่อาจเป็นอันตรายไว้ในที่มิดชิดและพ้นมือลูก