เมื่อโลกร้อนก่อโรคร้าย
จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่กรมควบคุมโรค พบว่า ในช่วง10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโรคที่จัดว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ และโรคอุบัติซ้ำที่รุนแรงเกิดขึ้นหลายชนิดที่มีสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อน และเป็นโรคที่ประเทศไทยต้องเฝ้าระวังถึง 13 โรคด้วยกันค่ะ ซึ่งจะขอหยิบยกเฉพาะบางโรคที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อลูกน้อยของเราได้ มาขยายความให้คุณพ่อคุณแม่สามารถรับมือได้อย่างทันท่วงทีค่ะ
Ø โรคไข้เลือดออก
จากเวทีการประเมินสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อในภาวะโลกร้อนระดับนานาชาติยอมรับว่า หนึ่งในโรคที่มีแนวโน้มเพิ่งสูงขึ้น คือโรคไข้เลือดออก เพราะนอกจากจะเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัยแล้ว ขณะนี้ ยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำโรค ได้ขยายเวลาออกหากิน จากเดิมที่หากินเฉพาะช่วงกลางวันเป็นหากินทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน (ช่วง5 ทุ่มไปแล้ว) ยิ่งไปกว่านั้นยังพบด้วยว่า ยุงลายตัวผู้ ที่แม้จะไม่ได้ดูดเลือดเป็นอาหารแบบตัวเมีย แต่ก็มีเชื้อไวรัสที่ก่อโรคไข้เลือดออกเช่นกัน ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากโดยปกติแล้ว ยุงจะเติบโตได้ดีในที่ที่มีอากาศอบอุ่นถึงค่อนข้างร้อน เมื่อโลกร้อนขึ้นก็เท่ากับเพิ่มพื้นที่ในการขยายพันธุ์มากขึ้น เช่น ตามภูเขาสูง และแม้เมื่อดูจากสถิติโรคไข้เลือดออกของไทยจะพบว่ามักระบาดในช่วงฤดูฝน แต่ด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวน ก็จำเป็นที่ต้องเฝ้าระวังด้วยเช่นกัน
Ø โรค ชิคุนกุนยา หรือ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย
เกิดจากเชื้อไวรัส Chikungunya virus ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ มักพบการระบาด ในช่วงฤดูฝนที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะกับการเพาะพันธุ์ของยุงลาย พบได้ในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งต่างจากไข้เลือดออก และหัดเยอรมันที่ส่วนมากพบในผู้อายุน้อยกว่า15 ปี อาการที่พบคือ มีไข้สูงฉับพลันร่วมกับอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูกหรือข้อ ปวดกระบอกตา หรือมีเลือดออกตามผิวหนัง และอาจมีอาการคันร่วมด้วย
Mom can do: ถ้าพบเด็กอาการไข้สูง ซึม คลื่นไส้ อาเจียน กินอาหารและน้ำไม่ได้ควรรีบพาไปพบแพทย์ ไม่ควรให้ยาแอสไพรินลดไข้ เพราะจะทำให้เลือดออกง่าย ถ้าให้พาราเซตามอลก็อย่าให้ถี่เกินกว่า 6 ชั่วโมง เพราะยาพาราเซตามอลขนาดสูงเป็นพิษต่อตับได้ ที่สำคัญควรหมั่นดูแลไม่ให้ภาชนะมีน้ำขังทั้งในบ้านและรอบบ้าน อาจใส่ทรายอะเบทในอัตรา 1 กรัมต่อน้ำ10 ลิตร ลงไปในภาชนะน้ำก็จะสามารถป้องกันการวางไข่ของยุงลาย นอกจากนี้ต้องระวังไม่ให้ลูกถูกยุงกัด โดยอาจใช้สเปรย์ตะไคร้หอม ให้ลูกใส่เสื้อผ้าที่มิดชิดและนอนในห้องที่มีมุ้งลวด
Ø โรคไข้กาฬหลังแอ่น
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Neisseria meningitidis เป็นโรคที่พบไม่บ่อย แต่อันตรายถึงชีวิตได้ โดยมากเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเชื้อนี้จะติดต่อทางน้ำลายหรือเสมหะ
Ø โรคมือเท้าปากจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71
เกิดจากเชื้อไวรัส ในกลุ่ม Enteroviruses ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ มีอาการตั้งแต่เล็กน้อย หายได้เองจนถึงอาการรุนแรงโดยเฉพาะจากเชื้อ Enterovirus71 มีแนวโน้มการเพิ่มของผู้ป่วยที่เสียชีวิตโดยที่ไม่มีอาการของโรคมือเท้าปาก ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มคำจำกัดความโรคที่ต้องเฝ้าระวังกลุ่มอาการไข้ (ตั้งแต่ 38 องศา) และปอดบวมน้ำไม่ว่าจะมีอาการผื่นที่มือปากเท้าหรือไม่
Mom can do :สอนให้ลูกล้างมือโดยฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนกินอาหาร กินอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ไม่ใช้แก้วน้ำ หลอดดูด ช้อน และขวดนม ร่วมกับผู้อื่น เลี่ยงพาลูกไปในสถานที่แออัด คุณแม่ควรหมั่นล้างมือบ่อยๆ และรีบล้างมือเมื่อเช็ดน้ำมูก น้ำลาย หรือเปลี่ยนผ้าอ้อมและเสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระของลูก
Ø โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (ซาร์ส)
เกิดจากเชื้อไวรัส 2 ชนิด ได้แก่ ไวรัสในกลุ่ม Corona Virus ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหวัดธรรมดา และไวรัสอยู่ในกลุ่ม Paramyxo Virus ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัด คางทูมและโรคติดเชื้อทางเดินหายใจระบาดผ่านทางละอองจากการจามหรือไอ และเนื่องจากไวรัสนี้สามารถมีชีวิตภายนอกร่างกายเป็นเวลา 3-6 ชั่วโมง การสัมผัสกับวัตถุที่ปนเปื้อนละอองที่มีไวรัส เช่น โทรศัพท์ อาจเกิดการติดเชื้อหากมือสัมผัสตา จมูก หรือปาก ได้
Mom can do :เลี่ยงการพาลูกเดินทางไปยังพื้นที่มีการระบาดของโรค หากคุณพ่อคุณแม่หรือคนใกล้ชิดเพิ่งกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง เมื่อกลับถึงบ้านควรทำความสะอาดร่างกาย เสื้อผ้า เครื่องใช้ต่างๆ และแยกตัวเอง ไม่สัมผัสใกล้ชิดใคร อย่างน้อย 7 วัน แต่ถ้ามีไข้ ต้องรีบไปโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่ว โมง โดยแจ้งว่า เพิ่งกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง
Ø โรคทูลารีเมีย หรือโรคไข้กระต่าย (Rabbit Fever)
เป็นโรคติดต่อจากสัตว์ถึงคน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Francisella tularensi สัตว์รังโรคอยู่ในสัตว์ป่าที่เลี้ยงลูกด้วยนม รวมทั้งสัตว์ฟันแทะ เช่น กระต่าย หนู กระรอก กวาง แพรีด๊อก ซึ่งสามารถติดต่อมายังสัตว์เลี้ยง โดยมีเหลือบ เห็บ หมัด หรือยุง เป็นแมลงนำโรค
Mom can do : เนื่องจากเป็นโรคติดต่อโดยการถูกแมลงนำโรคกัด หรือติดโดยสัมผัสกับเลือด สารคัดหลั่ง ของสัตว์ที่ป่วยด้วยโรคนี้ หรือการหายใจเอาละอองฝอยเข้าไป ดังนั้น หากที่บ้านเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ ควรพาไปฉีดวัคซีนอย่างสม่ำเสมอ และดูแลบริเวณเลี้ยงสัตว์ให้สะอาดอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม ปราการสำคัญในการปกป้องลูกน้อยจากโรคเหล่านี้คือ การดูแลสุขภาพลูกให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการกินอาหารครบ 5 หมู่ และหลากหลาย ส่งเสริมให้ลูกได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และไม่พาตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค จะช่วยลดโอกาสเกิดโรค เหล่านี้ได้ ที่สำคัญ ช่วยกันประหยัดทรัพยากร ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม จะช่วยเยียวยาโลกของเราได้อีกทางหนึ่งค่ะ#