เคยสังเกตเห็นลูกทำหน้านิ่วคิ้วขมวดมั้ยคะ นั่นแสดงว่าเขากำลังรู้สึกกังวลใจอะไรบางอย่างอยู่ ควรรีบคลายความกังวลนั้นให้เจ้าตัวน้อย เพื่อหัวใจวัยเยาว์จะได้มีความสุข พร้อมต่อการเรียนรู้ในทุกๆ วันค่ะ
ความกังวล (Anxiety) คือพัฒนาการที่เกิดขึ้นและจะเปลี่ยนแปลงไปตามวัย เป็นองค์ประกอบหนึ่งของพัฒนาการทางอารมณ์ที่มีมาตั้งแต่เด็กเล็ก – เด็กโต ซึ่งความกังวลนั้นเป็นสิ่งสะท้อนความก้าวหน้าด้านสติปัญญาของเด็ก เพราะถ้าเขาไม่มีความกังวล ไม่รู้สึกต้องการการตอบสนองใดๆ นั่นหมายถึงสัญญาณที่ผิดปกติแล้วค่ะ
ความรู้สึกกังวลในเด็ก จึงเป็นเรื่องดีที่เด็กๆ ได้แสดงออกมา ทั้งเป็นวิถีที่จะช่วยให้มนุษย์มีชีวิตรอด หลีกหนีจากอันตรายต่างๆ ได้ การแสดงความกังวลในเด็ก จึงช่วยให้พ่อแม่รับรู้ และตอบสนองความต้องการนั้น เพื่อให้ความกังวลหายไปค่ะ
แต่ถ้าลูกน้อยมีความกังวล แล้วคุณพ่อคุณแม่ไม่สนใจ จะส่งผลเสียต่อพัฒนาการด้านอารมณ์ ทำให้เป็นเด็กขาดความมั่นใจ ขี้กลัว ไม่กล้าเผชิญสิ่งใหม่ เป็นเด็กอารมณ์หงุดหงิดง่าย ไม่ได้ดั่งใจก็จะโวยวายก้าวร้าว ซึ่งอาจขัดขวางพัฒนาการด้านอื่นๆ ของลูกน้อยไปด้วยได้
รู้ได้อย่างไร...ว่าลูกกังวล
เป็นเรื่องง่ายมากๆ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ใกล้ชิดกับลูกที่จะสามารถรับรู้ความรู้สึกกังวลของลูก ได้ โดยการสังเกตภาษากาย และสายตาที่เจ้าตัวน้อยถ่ายทอดออกมา เมื่อลูกอยู่ในสถานการณ์ที่มีความกังวล เขาจะแสดงออกด้วยด้วยการเอาตัวเองมาติดชิดใกล้กับคุณพ่อคุณแม่ เพื่อให้รู้สึกอุ่นใจ โดยรู้สึกไว้ใจว่าคุณพ่อคุณแม่จะสามารถปกป้องดูแลเขาได้
ลูกน้อย 0-4 เดือน เมื่อได้ยินเสียงดังๆ เขาจะแสดงอาการกลัว กังวล โดยการร้องไห้เสียงดัง เพื่อส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจากคุณแม่
ลูกน้อย 6-7 เดือน จะเริ่มแยกแยะคนที่อยู่รอบๆ ตัวได้ ระหว่างคนคุ้นเคยกับคนแปลกหน้า เขาจึงชอบอยู่กับคนที่คุ้นเคยมากกว่า ถ้ามีคนแปลกหน้ามาเล่นด้วย หรือมาขออุ้มก็จะร้องไห้ไม่เข้าหาคนนั้นเลย
ลูกน้อย 8-9 เดือน เมื่อเจอคนไม่คุ้นเคยจะไม่ยอมให้อุ้ม จะรู้สึกไม่ไว้ใจ และจะแสดงความกังวลออกมาด้วยการร้อง การโผเข้ากอดคุณพ่อคุณแม่ หากลูกมีอาการอย่างนี้ อย่าบังคับให้เขาอยู่กับคนที่ไม่คุ้นเคย แต่ค่อยๆ ปรับ โดยปล่อยให้คนอื่นอุ้ม หรือเล่นกับเขา โดยที่มีคุณพ่อคุณแม่คอยอยู่ข้างๆ ตลอด จนเขาเริ่มคุ้นเคย จึงปล่อยให้อยู่กับคนอื่นได้
นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องแสดงสีหน้ามั่นใจ หรือคอยบอกว่าคนนี้ไม่เป็นอะไร เป็นเพื่อนคุณแม่นะ ซึ่งลูกจะสามารถอ่านสีหน้าท่าทางของคุณพ่อคุณแม่ได้ว่าคนๆ นี้ปลอดภัย ไว้ใจให้อุ้มได้
แต่ระหว่างที่ลูกกำลังคลานไปหาคนอื่น หรือให้คนอื่นอุ้มอยู่ ในใจเขาก็ยังกังวลอยู่ โดยจะหันกลับมาดูคุณพ่อคุณแม่ คอยสังเกตว่าคุณพ่อคุณแม่อยู่ในสายตาตัวเองอยู่หรือไม่ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าปลอดภัยอยู่นะ คุณพ่อคุณแม่ยังอยู่ใกล้ๆ ไม่ไปไหนไกล เขาก็จะอุ่นใจ และกล้าที่จะเผชิญหน้ากับคนอื่น และเรียนรู้สิ่งรอบตัวได้อย่างสบายใจค่ะ
ช่วยลดความกังวลให้ลูกน้อย
ต้องเริ่มจากตัวคุณพ่อคุณแม่ก่อนค่ะ เพราะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเจ้าตัวน้อย โดยวิธีลดความกังวลให้ลูกในแต่ละช่วงวัย คือ
ลูกวัย 0-6 เดือน ต้องตอบสนองความต้องการพื้นฐานอย่างสม่ำเสมอ รวดเร็ว นุ่มนวล เช่น การโอบกอด การให้นมแม่เมื่อลูกหิว อุ้มลูกเข้าอกทุกครั้งที่ให้นม เพื่อให้รู้สึกอบอุ่น พูดคุยกับลูกด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน ทั้งหมดนี้จะช่วยให้เจ้าตัวน้อยรู้สึกได้ถึงพื้นที่ปลอดภัยของเขาที่คุณพ่อ คุณแม่มอบให้ รู้สึกอุ่นใจ ลดความกังวลต่างๆ ลงได้
ลูกวัย 6-12 เดือน ช่วงวัยนี้ลูกน้อยจะแสดงออกถึงความกังวลต่างๆ ได้อย่างชัดเจน ซึ่งความกังวลนี้จะกระตุ้นให้ลูกกลับมาเกาะติดคุณพ่อคุณแม่เพิ่มมากขึ้น คล้ายๆ กับว่าเขาต้องการหาพื้นที่ปลอดภัยให้ตัวเอง ถือเป็นสัญญาณที่ดีของการมีพัฒนาการด้านสังคม และเป็นอารมณ์ที่ปกติของลูก
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องแสดงออกด้วยความรักว่าคุณพ่อคุณแม่รับรู้ถึงความไม่สบายใจ ของลูกนะ เป็นห่วงนะ และพร้อมที่จะปกป้องลูกอยู่ ในขณะเดียวกันคุณพ่อคุณแม่ควรสร้างสถานการณ์ให้ลูกได้เจอคนใหม่ เจอคนอื่นๆ หรือเจอสิ่งของแปลกใหม่ สถานที่ใหม่ๆ เพื่อให้ลูกก้าวข้ามความกังวลไปให้ได้ เพื่อที่เขาจะได้เรียนรู้โลกกว้างได้อย่างมั่นใจมากขึ้น
ความกลัวและความกังวลเป็นพัฒนาการปกติตามวัยของลูกน้อย และเริ่มแสดงออกได้ชัดเจนหลังอายุ 6 เดือน เมื่อคุณพ่อคุณแม่คือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเจ้าตัวน้อย ก็ถือเป็นตัวช่วยเสริมทำให้ลูกเรียนรู้โลกรอบตัวอย่างมีความสุขและปรับตัว ได้ตามวัยอย่างเหมาะสมแล้วค่ะ