
หมดมุกแล้วจ้า พ่อแม่มือใหม่เล่นอะไรกับลูกวัยทารกเดือนดี
มีงานวิจัยบอกมามากมายว่ายิ่งเล่นกันลูก ยิ่งเสริมสร้างความฉลาด แต่ปัญหาก็คือ พ่อแม่จะเล่นอะไรกับลูกดี โดยเฉพาะกับทารก เพราะต้องคำนึงทั้งพัฒนาการตามวัย ความปลอดภัย ที่สำคัญเกมที่เล่นกับลูก ก็ต้องส่งเสริมการเรียนรู้ให้เขาด้วย
คำตอบมีอยู่นี่แล้วค่ะ
แม่หลับก็เล่นได้ เด็กๆ ชอบเล่นกับใบหน้าแม่อยู่แล้ว ลองนอนเล่นข้างๆ ลูก แกล้งหลับตาลืมตา แล้วยิ้มทักทายลูก เท่านี้ก็ทำให้ลูกทารกอารมณ์ดีแล้วค่ะ
เอ๊ะ...หายไปไหน เกมซ่อนของนั่นเอง เพียงให้คุณพ่อคุณแม่เอาลูกบอลหรือ
ของเล่นของลูกไปซ่อนในกล่องหรือภาชนะเล็กๆ ที่มีฝาปิดสัก 2-3 ใบ จากนั้นให้ลูกเปิดหา นอกจากเด็กๆ จะได้เรียนรู้การคงอยู่ของวัตถุสิ่งของแล้ว ยังได้ฝึกใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กอีกด้วย
เอ๊ะ..เสียงอะไร คล้ายๆ กับเกมเอ๊ะ...หายไปไหน คือนำ
ของเล่นมีเสียงไปซ่อนยังที่ต่างๆ จากนั้นเปิดเสียง
ของเล่น (หากเป็นเครื่องเขย่าพ่อแม่อาจต้องไปซ่อนพร้อมของเล่นเพื่อคอยเขย่า) แล้วให้ลูกตามหา
เล่นแบบเปียกๆ ช่วงเวลาอาบน้ำ ลองให้ลูกได้ตักน้ำตวงน้ำจากภาชะที่แตกต่างกันดูบ้าง เช่น ลองให้ใช้ช้อนพลาสติกตักน้ำในอ่างใส่ขันน้ำ หรือแก้วน้ำ เพื่อเรียนรู้ความแตกต่างของภาชนะ ให้ลองบิดและบีบฟองน้ำเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อมือ เป็นต้น
ต่อตึกแสนสนุก นำสิ่งของเครื่องใช้ในบ้านที่ไม่เป็นอันตรายกับเด็กๆ เช่น กระป๋องนมเก่า ถ้วยพลาสติกใบเล็กๆ กล่องกระดาษเปล่า ฯลฯ มาต่อให้เป็นรูปร่างต่างๆ อาจสมมติเป็นตึกในจินตนาการ เพื่อให้ลูกเกิดความคิดสร้างสรรค์และมีสมาธิจดจ่อ
ขับแข่งบรึ้นๆ เพียงลงนั่งตรงข้ามกับลูกแล้วผลัดกันรับส่งรถไปมา พยายามกระตุ้นให้ลูกส่งรถให้ถึงมืออีกฝั่งด้วยน้ำหนักที่พอดี เพื่อให้ลูกเรียนรู้เรื่องแรงและพละกำลัง ทั้งยังช่วยฝึกให้รู้จักแบ่งปันของเล่นอีกด้วย
นี่สีอะไร เมื่อเริ่มพูดอ้อแอ้ๆ ได้ก็เริ่มสอนคำศัพท์ให้ลูกเลยค่ะ ก่อนอื่นก็สอนให้ลูกรู้จักสีต่างๆ ก่อน แล้วจึงสำรวจภายในบ้านว่ามีสีอะไรบ้าง จากนั้นก็เอามาทายเล่นกับลูก เช่น แอปเปิ้ลสีอะไร ถ้ามีลูกแอปเปิ้ลแดง ลูกก็จะต้องตอบว่า “สีแดง” เกมนี้ยังช่วยสร้างคลังคำศัพท์ให้ลูกด้วย
จะเห็นว่าการเล่นของลูกไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย อย่างไรแล้วพ่อแม่ก็คือ
ของเล่นที่ดีที่สุด แค่กอดลูก อุ้มลูก คุยกับลูก เล่นกับลูกทุกวันสลับกันไป ก็ไม่รู้สึกว่าหมดมุก เพราะยังไงต่อให้พ่อแม่เล่นกับลูกซ้ำๆ แบบเดิมทุกวัน ลูกก็ไม่เบื่อค่ะ