กลัวลูกสมาธิสั้น เพราะติดทีวี
มีคำถามจะถามค่ะ คือลูกชายวัย 1 ขวบ 5 เดือน ชอบดูโทรทัศน์มาก เวลาพ่อแม่เปิดดู แกจะรีบเข้ามานั่งด้วย (ตามปกติจะเปิดทีวีน้อยมาก เพราะกลัวลูกติด แต่บางครั้งก็เปิด เพราะอยากดูข่าวสารบ้านเมือง ลูกหลับแล้วจึงเปิดดูละคร) พอปิดแกก็ร้องไห้ ชวนไปเล่นโน่นเล่นนี่ก็ไม่ยอม จะให้เปิดทีวีอย่างเดียว เราก็ต้องตามใจ เพราะไม่อย่างนั้นลูกจะร้องมาก แต่ก็กลัวลูกติดทีวี และกลัวแกสมาธิสั้นด้วยค่ะ เพราะภาพในทีวีนั้นเปลี่ยนเร็วมาก สมองลูกต้องปรับตาม จึงกลัวลูกเป็นสมาธิสั้น เพราะสมองไม่ได้จดจ่ออยู่กับอะไรนานๆ จะมีทางแก้ให้ลูกห่างทีวีได้อย่างไรคะ หรือพ่อแม่ต้องไม่เปิดทีวีเลยขณะที่ลูกอยู่
จริงๆ แล้ว เราสามารถให้ลูกวัยนี้ดูทีวีหรือวีดีโอรายการดีๆ ได้มั้ยคะ เด็กวัยไหนที่ระบบประสาทและสายตาของเขาพัฒนาได้สมบูรณ์จนสามารถดูทีวีได้คะ
ถ้า ดูคำถามให้ดีจะเห็นว่าสิ่งที่คุณแม่กังวลมี 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเรื่องที่ลูกวัยขวบครึ่ง เขามีอาการเมื่อถูกขัดใจ เช่น ไม่ให้ดูทีวี เขาก็จะมีการออกฤทธิ์ออกเดช เช่นร้องไห้ บางรายอาจจะรุนแรงถึงขนาดลงไปดิ้นกับพื้น พฤติกรรมแบบนี้เป็นพฤติกรรมของวัยขวบครึ่งที่ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะเด็กวัยนี้ยังไม่มีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ตัวเอง การที่พ่อแม่ช่วยสอนให้เด็กได้จัดการกับอารมณ์เหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม ก็จะเป็นตัวทำให้เด็กได้มีพัฒนาการในการควบคุมอารมณ์ที่ดีต่อไปในอนาคต
วิธีการที่สอนที่ดีที่สุดเมื่อลูกมีอาการเอาแต่ใจตัวเองด้วยการร้องไห้หรือลงไปดิ้นกับพื้น ออกฤทธิ์ออกเดช สามารถจะทำได้ 2 แบบ
แบบแรก ถือเป็นไม้นวม ก็คือใช้วิธีไม่สนใจ คุณพ่อคุณแม่ก็ย้ายไปทำกิจกรรมอย่างอื่น การที่เราหันเห ไม่สนใจ ก็จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ว่าพฤติกรรมนี้ไม่สามารถทำให้พ่อแม่ยอมตามได้ เขาก็จะเลิกพฤติกรรมอันนี้ไป วิธีนี้จะตรงกันข้ามกับวิธีที่พ่อแม่หลายคนใช้ ซึ่งเป็นวิธีที่ผิดก็คือยอมตามใจ เพราะไม่อยากให้ลูกต้องร้องไห้ สงสารลูก เด็กก็จะเรียนรู้ว่าพฤติกรรมที่ผิด ซึ่งคือการออกฤทธิ์ออกเดชนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเองได้ในสิ่งที่ต้องการ พัฒนาการด้านการควบคุมอารมณ์ก็จะไม่เกิดขึ้น
สำหรับ วิธีที่ 2 จะเป็นไม้แข็งขึ้นนิดนึง คือถ้าลูกยังคงออกฤทธิ์ออกเดชมากหลังจากที่เราพยายามที่จะไม่สนใจแล้ว เขาก็ยังไม่ยอมหยุด พ่อแม่ก็มีทางเลือกอีกทางก็คือ ให้เด็กอยู่ในที่ใดที่หนึ่งจนกว่าเขาจะมีพฤติกรรมดีขึ้น เราอาจจะเรียกว่าเป็นการจัดเวลานอกให้กับเด็ก หรือที่เรารู้จักว่า time out วิธีการก็คือให้เด็กอยู่ในสถานที่เฉพาะ เช่น อยู่ ที่มุมห้องจนกว่าจะหยุดร้องไห้ แล้วพ่อแม่ถึงจะยอมให้เขาออกไปทำกิจกรรมต่างๆ ตามที่เขาสนใจต่อไป เวลาที่ใช้ก็ควรจะเป็นเวลาสั้นๆ เพราะเด็กเล็กๆ ยังอดทนรอคอยในระยะเวลาที่ยาวนานไม่ได้ เช่น อาจจะเริ่มต้นโดยเวลาเพียง 1 หรือ 2 นาทีเท่านั้นก็พอเด็กก็จะได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นไม่ถูก เขาจะถูกลงโทษด้วยการให้อยู่ที่มุมใดมุมหนึ่งอยู่ ระยะหนึ่ง จนกว่าเขาจะเงียบ หรือจนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนดไว้
การลงโทษแบบนี้จะดีกว่าการลงโทษด้วยการตี เพราะการตีนั้นหลายๆ ครั้งพ่อแม่จะทำด้วยความรู้สึกโมโห แล้วจะทำให้เด็กรู้สึกว่าเอ๊ะ..เขาทำอะไรผิดถึงต้องได้รับผลที่รุนแรง จะทำให้เด็กมีลักษณะเก็บกดไปในทางน้อยใจหรือเสียใจในสิ่งที่เขารู้สึกว่าตัว เองไม่ได้ทำอะไรผิดมาก หรือในทางกลับกันอาจจะทำให้เด็กเป็นเด็กดื้อไม้ ไม่กลัวกับการถูก ตี เพราะฉะนั้นเราควรสอนให้เด็กรู้สึกถึงความสามารถที่จะควบคุมตัวเองดีกว่า
วิธีการที่ทำให้เด็กได้รู้ว่าตัวเองผิดโดยวิธีการนุ่มนวล จะช่วยทำให้เด็กได้เรียนรู้การที่จะพัฒนาความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ดีกว่า
สำหรับประเด็นที่สองที่คุณแม่เป็น ห่วงก็คือ เรื่องการดูทีวีของเด็กวัยขวบครึ่งว่าเหมาะสมหรือเปล่า หมอเองเห็นด้วยกับคุณแม่ที่กังวลว่าการที่เด็กวัยขวบครึ่งดูทีวีคงจะไม่เหมาะสม เพราะเด็กจะไม่สามารถพัฒนาสมาธิได้ ช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่เด็กกำลังจะพัฒนาสมาธิให้เหมาะสมได้ ในรายการทีวีนั้นเราจะเห็นว่ามันจะเปลี่ยนภาพตลอดเวลา ซึ่งทำให้เด็กไม่สามารถที่จะมีสมาธิจดจ่อกับงานใดงานหนึ่งให้สำเร็จได้ เพราะฉะนั้นวัยขวบครึ่งไม่ใช่วัยที่ควรจะดูทีวี
อีกอย่างลูกก็จะไม่ค่อยได้อะไรจากการดูทีวีมาก เพราะเด็กยังไม่มีความสามารถในการรับรู้ทางภาษาที่จะเข้าใจเรื่องราวในทีวี ส่วนใหญ่จะตื่นเต้นกับภาพที่เปลี่ยน เร็วๆ มากกว่า ทางที่ดีพ่อแม่ควรจะเลือกกิจกรรมอื่นๆ ที่เหมาะสมกับเด็กวัยขวบครึ่งให้ลูกมากกว่า
สุภาพรรณ เหล่าคง-ถาม
น.พ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์-ตอบ
................
รู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นออทิสติกหรือสมาธิสั้น
พ่อ แม่จะดูได้อย่างไร (แบบกว้างๆ) ว่าลูกเป็นสมาธิสั้นหรือออทิสติก และอาการจะแสดงออกมาตอนอายุเท่าไหร่ เห็นเด็กเป็นกันมาก ก็กังวล อยากมีแนวทางเพื่อสังเกตลูกของเราไว้ เพราะลูกชอบเอาหัวโขกพื้นหรือผนังก็ทำให้กังวลเหมือนกัน
ก่อนอื่นขอให้เข้าใจว่าโรค 2 โรคนี้ เป็นโรคที่แตกต่างกันอย่างมาก เรื่องของออทิสติกเป็นปัญหาของการเสียพัฒนาการในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม อย่างเช่น ความสามารถในการที่จะแสดงความรักความผูกพันตอบสนองกับพ่อแม่หรือบุคคลที่ ใกล้ชิด รวมทั้งพัฒนาการด้านภาษา อารมณ์ และพฤติกรรมที่เหมาะสมกับวัยด้วย จัดว่าเป็นการเสียพัฒนาการที่รุนแรง และจะเห็นได้ตั้งแต่ก่อนอายุขวบหนึ่งด้วยซ้ำไป
ขณะที่สมาธิสั้นจะเป็นปัญหาของการเสียพัฒนาการเฉพาะด้านสมาธิ ทำให้เด็กไม่สามารถทำอะไรได้นานๆ อยู่ไม่นิ่ง แล้วอาจจะส่งผลต่อพฤติกรรม เช่น ทำอะไรโดยหุนหันพลันแล่น ซึ่งจะเห็นได้ชัดหลังจาก 5-6 ขวบไปแล้ว เมื่อเด็กอายุประมาณ 3-5 ขวบ ส่วนใหญ่คำว่า "ซน" นั้น เราไม่ถือเป็นความผิดปกติ จนกว่าเด็กจะอายุ 5 ขวบไปแล้ว
ในกรณีที่คุณแม่มีลูกอายุขวบนึง ปัญหาที่น่าจะเป็นห่วงคงจะเป็นเรื่องของพัฒนาการในภาพรวมมากกว่า ถ้าคิดว่าลูกมีปัญหาพัฒนาการหลายๆ ด้าน ก็อาจจะเป็นข้อสงสัยที่ทำให้นึกถึงเรื่องออทิสติก และสามารถขอคำปรึกษากับหมอเด็กได้
เด็กที่เป็นออทิสติกจะไม่สามารถพัฒนาภาษาอย่างปกติได้ ตอนก่อน 1 ขวบ เด็กจะเริ่มเล่นเสียง อือ อา พอขวบนึงก็เริ่มที่จะเรียกพ่อ หลังจากนั้นก็จะพัฒนาไปตามลำดับ ในกรณีของเด็กที่เป็นเด็กออทิสติกจะไม่สามารถพัฒนาการทางภาษาได้อย่างเหมาะ สมกับวัยพ่อแม่ควรเฝ้าสังเกตดูว่าลูกมีลักษณะแบบนี้หรือเปล่า
พฤติกรรมที่พบบ่อยในเด็กออทิสติกจะไม่ใช่เรื่องของการโขกพื้นหรือผนัง แต่จะเป็นลักษณะของการเล่นอยู่ในโลกของตัวเอง เด็กอาจจะชอบทำอะไรซ้ำๆ ชอบสังเกตหรือดูอะไรที่เป็นลักษณะซ้ำๆ เช่น พัดลม หรือมีความสนใจเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถ ต้นไม้ หรือว่าสิ่งอื่นๆ รอบตัว ซึ่งอาจจะต่างกันไปในเด็กบางคน
สำหรับเรื่องการ เคลื่อนไหวก็อาจจะมีลักษณะท่าเดิน หรือวิธีการเดินเฉพาะตัวของเด็ก ซึ่งก็แตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคนเช่นกัน ทั้งหมดนี้คงต้องอาศัยการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดของกุมารแพทย์หรือ จิตแพทย์เด็ก
ส่วนสาเหตุของการที่เด็กเอาหัวโขก พื้นหรือผนัง มีได้หลายสาเหตุครับ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องของออทิสติกอย่างเดียว ที่พบบ่อยก็คือ เด็กอาจจะมีปัญหาถูกทอดทิ้งให้อยู่คนเดียว มาก คุณแม่อาจจะต้องนึกว่าช่วงกลางวันใครเป็นคนเลี้ยงลูก แล้วได้ใช้เวลากับลูกอย่างใกล้ชิดหรือเปล่า อย่างเช่น เมื่อเด็กตื่นมา ก็มีการดูแลเอาใจใส่ มีการสัมผัส กอด อุ้มตามเหมาะสม ไม่ใช่ทิ้งให้เด็กอยู่แต่ในเปล หรือในห้องคนเดียว ซึ่งจะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสังคมเสียไป การเอาหัวโขกพื้นในกรณีเช่นนี้อาจจะไม่ใช่ลักษณะของออทิสติก แต่อาจจะเป็นไปเพื่อเรียกร้องความสนใจได้
นอกจาก นั้นก็อาจจะมีสาเหตุอื่นๆ เช่น เด็กมีความบกพร่องของสมอง เนื้อสมองบางส่วนถูกทำลายเนื่องจากการติดเชื้อหรือเป็นผลมาจากการคลอด หรือเหตุทางสมองอื่นๆ ก็ตาม ก็อาจจะมีผลทำให้เด็กมีพัฒนาของสมองที่ผิดปกติ และก็อาจแสดงในลักษณะของการโยกตัวหรือเอาหัวโขกพื้นได้
โดยสรุปก็คืออยากให้คุณพ่อคุณแม่ให้ความสนใจ และพาลูกไปปรึกษากุมารแพทย์หรือจิตแพทย์เด็กเพื่อหาสาเหตุที่ต่อไป
ลูกนั่งกระโถนเมื่อไหร่ดี
การฝึกนั่งกระโถนของเด็กนั้น ควรฝึกเมื่ออายุเท่าไหร่ หากฝึกช้าหรือเร็วเกินไปจะเกิดผลอย่างไรบ้าง
ส่วนใหญ่พ่อแม่ไทยจะฝึกลูกตั้งแต่อายุขวบนึงขึ้นไป ส่วนการฝึกนั้นถามว่าการเร็วการช้าไปจะเป็นผลเสียหรือไม่ จุดนี้คงจะไม่สำคัญเท่ากับท่าทีในการฝึก เพราะการฝึกให้เด็กนั่งกระโถนเป็นการให้เด็กได้เรียนรู้การควบคุมการขับถ่าย ของตัวเองไปทีละขั้น
กว่าเด็กจะควบคุมการขับถ่ายได้ ต้องใช้เวลาไปจนกระทั่งถึงอายุ 3-4 ขวบเพราะฉะนั้นช่วงก่อนเวลานี้เป็นการฝึกเพียงเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้เท่า นั้นดังนั้นท่าทีที่ใช้ควรเป็นท่าทีที่ให้กำลังใจมากกว่าจะเป็นท่าทีบังคับ ขู่เด็ก เมื่อเรากำหนดเวลาให้เด็กนั่ง ก็ให้เขาได้นั่งสักพักนึง ระหว่างนั้นถ้าเขาสามารถขับถ่ายได้ เราก็ชมเขา ถ้าเด็กยังทำไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร ก็ใช้ท่าทีแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะฝึกเด็กอายุประมาณขวบเศษก็ไม่ถือว่าไว หากเราไม่ได้เร่งรัดเขา
โดยสรุปก็คือ ขอให้ถือว่ากระบวนการฝึกลูกนั่งกระโถน เป็นการช่วยให้เด็กสามารถควบคุมการขับถ่าย ไม่ใช่ทำให้เด็กขับถ่ายได้ทันที และควรใช้ท่าทีให้กำลังใจ จะช่วยให้เด็กสามารถขับถ่ายได้ดีขึ้นครับ
มีนา ยะหริ่ง-ถาม
น.พ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์-ตอบ
............
ร.ร.เร่งเรียน อยากย้าย แต่ลูกติดเพื่อน
ลูกอยู่อนุบาล 3 ในโรงเรียนในระบบ Teacher centered เหมือนโรงเรียนทั่วๆ ไปในประเทศไทยตอนนี้ หลังจากที่ได้อ่านหนังสือและร่วมสัมมนากับทางรักลูกจัด แม่รู้สึกเครียด อยากย้ายลูกไปโรงเรียนแนวใหม่ ที่สอนและรักเด็กที่จิตวิญญาณไม่ใช่เร่งวิชาการอย่างเดียว แต่มีปัญหาคือ ลูกมีความสุขกับโรงเรียนเดิมที่ริด
รอนจินตนาการของเด็กและการแสดงออกของเด็ก ลูกไม่ยอมย้ายโรงเรียนเพราะติดเพื่อนมาก ควรตัดสินใจอย่างไรดีคะ
สำหรับปัญหาเรื่องที่เรียนของลูกนั้น อันดับแรกอยากให้พิจารณาถึงความสะดวกนะครับ เราควรได้ให้เด็กเรียนในโรงเรียนที่ใกล้บ้าน หรือใกล้ที่ทำงานของพ่อแม่ สามารถที่จะไปมาได้โดยสะดวก แล้วโรงเรียนก็ดูแลเอาใจใส่เด็กได้ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม ขนาดห้อง และความสนใจของผู้บริหารโรงเรียนและครูที่มีต่อเด็กจะเป็นส่วนที่สำคัญที่ สุด เพราะการเรียนรู้ของเด็กจำนวนมาก ยังอยู่ทั้งในบ้านและในโรงเรียนถ้าโรงเรียนยังสอนแบบเก่าอยู่ แต่ที่บ้านเปิดอิสระให้เด็กคิด ให้เด็กได้สร้างสรรค์ ได้มีโอกาสที่จะทำอะไรเป็นตัวของตัวเองแล้ว ลักษณะเช่นนี้ก็จะช่วยชดเชยกันไป
แน่นอนถ้าสามารถ เลือกโรงเรียนที่มีลักษณะการเรียนการสอนที่ดี เน้นความคิดสร้างสรรค์ เอาเด็กเป็นศูนย์กลางได้ก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่ถ้าจะเอาตัวนี้เป็นตัวตั้งอย่างเดียว แล้วพ่อแม่ต้องลำบากเสียเงินเสียทองเกินกว่าฐานะตัวเองจะทำได้ ไม่สะดวกในการเดินทาง เอาข้อดีข้อเสียทั้งหมดมาคำนวนแล้วอาจจะไม่คุ้มก็ได้ สู้ใช้ศักยภาพของคุณพ่อคุณแม่เองเสริมในส่วนที่โรงเรียนขาด เช่น เรื่องของความเป็นตัวของตัวเอง ความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก นี่ก็ให้เป็นทางเลือกในการตัดสินใจเลือกอีกทางนึง
สำหรับการย้ายโรงเรียนนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่ การตัดสินใจเรื่องแบบนี้เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ เพราะฉะนั้นถ้าคุณพ่อคุณแม่ได้โรงเรียนที่ถูกใจ และคิดว่าเหมาะสมกับลูกตามที่ว่ามาข้างต้น คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถบอกลูกตรงๆ ได้ว่าเราจะย้ายโรงเรียน เรื่องนี้ต้องถือว่าเป็นการตัดสินใจของพ่อแม่ แม้เราอยากจะฝึกลูกเรื่องการตัดสินใจและมีส่วนร่วม ซึ่งควรฝึกตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ขึ้นมาจนกระทั่งเรื่องใหญ่ไปตามวัยและความสามารถของเขา แต่บางเรื่องก็ต้องดูให้เหมาะกับวัย พ่อแม่ปัจจุบันนี้หลายคนยอมตามลูกทุกอย่าง เพราะว่าอยากให้ลูกเป็นผู้ตัดสินใจเอง ที่จริงเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่ คงต้องเป็นการตัดสินใจของพ่อแม่เป็นสำคัญ
การที่เราตัดสินใจไปแล้วอาจจะขัดกับการตัดสินใจของลูก ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราก็รับฟังเหตุผลของลูก แต่เราก็บอกเหตุผลของเราเองว่าพ่อแม่มีเหตุผลอย่างไร แล้วเราก็ทำไปตามที่เห็นเหมาะสมครับ
อยากให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง
ลูกติดเพื่อนมาก เท่าที่เห็นเด็กผู้หญิงที่ก้าวเข้าสู่วัยรุ่น จะติดเพื่อนมาก เชื่อเพื่อนทั้งๆ ที่ผิด ไม่อยากให้ลูกเป็นแบบนี้ จะทำอย่างไรให้ลูกเป็นตัวของตัวเองและเชื่อเพื่อนน้อยลง
อยากให้แยกครับ การติดเพื่อนของเด็กวัยเล็กกับเด็กวัยรุ่นไม่เหมือนกันนะครับ เด็กวัยเล็กจะติดเพื่อนในแง่ที่ว่าเขาได้เล่นสนุกกับเพื่อนวัยเดียวกัน แต่ไม่ได้ติดมาก เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาตรงนี้ก็ไม่ยากอะไร เมื่อเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่สักพัก เด็กก็จะปรับตัวได้ เด็กเล็กๆ จะมีความสามารถในการปรับตัวได้สูง
อย่างไรก็ตาม การฝึกให้ลูกเป็นตัวของเองได้ตั้งแต่เล็กก็เป็นสิ่งที่ดีนะครับ วิธีการฝึกที่สำคัญก็คือ ให้ลูกได้มีความภูมิใจในตนเอง ซึ่งวิธีที่สำคัญก็คือ ช่วยลูกค้นหาลักษณะที่เป็นจุดเด่นของตัวเอง แล้วให้เขาได้ขยายจุดเด่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสามารถเฉพาะตัว หรือความสนใจเฉพาะด้านใดๆ ก็ตาม เด็กแต่ละคนจะมีแตกต่างกัน บางคนเก่งด้านศิลปะ บางคนสนใจกีฬา บางคนก็เด่นเรื่องการมีน้ำใจโอบอ้อมอารี ฯลฯ ลักษณะแต่ละด้านของลูกที่เด่นนั้น เราควรภูมิใจในตัวเขา ก็จะทำให้ลูกได้พัฒนาสิ่งเหล่านี้ต่อไปโดยมีความรู้สึกเชื่อมั่นในตนเองมาก ขึ้น ที่ตรงกันข้ามกับลักษณะเช่นนี้ ก็คือการที่ลูกถูกตำหนิติเตียนอยู่เรื่อย ซึ่งจะทำให้เด็กขาดความมั่นใจในตนเอง เชื่อคนอื่นได้ง่าย
ประเด็น ที่สองที่จะช่วยลูกได้ก็คือให้เขารู้สึกว่าเขาทำอะไรได้ด้วยตนเอง การฝึกลูกแต่เล็ก ให้ดูแลตัวเองตั้งแต่เรื่องของการอาบน้ำ กินข้าว มีระเบียบวินัยพอสมควรในเรื่องของเวลา เช่น การตื่น การนอน รวมทั้งควรให้เด็กได้มีบทบาทในการช่วยงานบ้านด้วย ลักษณะเช่นนี้จะทำให้เด็กค่อยๆ ฝึกตัวเองให้เป็นคนสามารถควบคุมสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตนเอง สิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เขาเติบโตเป็นคนที่มีความมั่นใจในตน เอง ซึ่งจะส่งผลในการที่จะพึ่งตนเองต่อไป
คุณ ว.นารี-ถาม
น.พ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์-ตอบ
.............
แค้นน้องและแม่ เพราะรักลูกไม่เท่ากัน
การที่แม่แสดงการรักลูกคนเล็กมากนั้น ส่งผลให้ลูกคนโตมีอาการเก็บกด ก้าวร้าวจนโตเป็นผู้ใหญ่ ไม่ได้ต้องการเรียกร้องความรักจากแม่เหมือนเมื่อครั้งยังเป็นเด็กเล็กๆ แล้ว เพราะตอนนี้โตพอที่จะรู้ว่าแม่นั้นรักลูกมากทั้งหมด แต่การแสดงออกเข้าข้างลูกคนเล็ก ตั้งแต่น้องเกิดจนปัจจุบัน 20 กว่าปี ความแค้นก็สะสมมานาน น้องทำผิด แม่ก็มาว่าพี่ทำ ไม่ว่าจะแก้ตัวอย่างไร เวลาทะเลาะกันแม่จะเข้าข้างน้องทุกๆ ครั้ง ลึกๆ น้องรู้สึกสงสารพี่ แต่ด้วยความเคยชินว่าแม่ต้องเข้าข้างตัว ไม่เคยยอมแพ้ แต่น้องไม่เคยเกลียดพี่เลย รู้ว่าบางครั้งทะเลาะกันบ้าง เดี๋ยวตนเองก็มีคนเข้าข้าง แต่พี่นั้นรู้ว่าไม่ใช่ความผิดของน้อง
พี่เก็บกดแล้วก็เกลียดน้องมาก มากจนถึงที่สุด ทุกครั้งที่น้องทำผิด แม่จะมาว่าพี่ อย่างเช่น เลี้ยงสุนัขคนละตัว ต่างก็ทำลายเข้าของเสียหายทั้งคู่ทุกครั้งที่สุนัขของน้องทำ แม่จะไม่ว่า แต่ถ้าสุนัขของพี่ทำเสียหาย แม่จะอารมณ์เสียอย่างรุนแรง และด่าว่าอย่างหยาบคาย จนมีอยู่ครั้งหนึ่งสุนัขของพี่ทำเสียหาย พี่จึงเอาสุนัขของตนไปเข้ากรงและปล่อยสุนัขของน้องออกมาเพื่อสร้างสถานการณ์ ระหว่างที่ทำอย่างนั้น รู้สึก guilty จิตใจต่ำเหลือเกิน ใจหนึ่งไม่อยากทำ แต่อีกใจกลัวถูกด่าและอยากรู้ว่าแม่จะเป็นอย่างไร พอแม่กลับมา แม่เห็นสุนัขตัวน้องอยู่ข้างนอก แม่ไม่ว่าสักคำ ความแค้นถูกเรียกขึ้นมาอีก ในสำนึกสอนว่าเราทำถูกแล้ว ไม่รู้สึกด้วยซ้ำว่าตนเองผิด และอยากทำอย่างนี้อีก
หรืออย่างเราใช้รถคันเดียวกัน พี่ทำความสะอาดทุกครั้งที่ใช้ น้องถูกสอนถูกฝึกให้เห็นแก่ตัวตั้งแต่เกิด ไม่ค่อยได้ทำ แต่ฉลาดที่เรียนรู้ใจแม่ จะมาถูๆ เช็ดๆ เฉพาะที่แม่เห็นเท่านั้น ถ้าแม่ไม่อยู่ก็จะไม่ทำ พอสกปรกกลับมา จะมาด่าว่าพี่ทุกครั้ง พี่ต้องลงไปเช็ดรถทั้งน้ำตาและความแค้น น้องไม่รู้สึกเกลียดพี่เลย รู้สึกสงสารพี่ แต่ความสบายมีมากกว่าก็ได้แต่ปล่อยให้พี่ทำไป ตัวพี่แค้นและเกลียดน้องมาก ใจหนึ่งรู้ว่าเป็นน้อง อีกใจหนึ่งอยากทำลาย แอบทำลายข้าวของน้องบ่อยๆ เพียงเพื่อระบายอารมณ์ แต่พอห่างออกจากบ้าน ห่างแม่ ความรู้สึกรักน้องก็กลับมา รู้สึกที่ทำลงไป ทำให้ตัวเองต่ำลง ทุกครั้งที่อยู่ใกล้แม่ อารมณ์จะพาตัวเองลงต่ำทุกครั้ง และแม่ก็จะระบายความแย่ๆ ของลูก ให้ญาติทุกคนฟัง เล่าแต่เรื่องน่ารักของน้องให้ญาติฟัง ญาติทุกคนก็เห็นด้วยกับคำพูดของแม่
คุณหมอคิดว่าพี่จะทำอย่างไร ทิ้งแม่ไปอยู่ที่อื่นดีมั้ย ตัวเองจะได้จิตใจสูงขึ้น แต่ขอบอกตรงๆ น้องๆ ทุกคนไม่เคยมีใครเห็นแก่แม่สักคน ทุกคนอยู่บ้านอย่างสบาย เพราะแม่ไม่เคยว่า ไม่เคยเรียกร้องอะไร และไม่เคยช่วยสักอย่าง พี่ต้องทนอยู่เพราะสงสารแม่ ไม่เคยมีใครช่วยแม่เลย คิดมา 2 ปีกว่าแล้ว ไม่กล้าตัดสินใจ ทุกครั้งที่จะไปก็สงสารแม่ ไม่มีใครช่วยสักคน แต่พอพี่ไปช่วย ก็จะโดนด่าทุกครั้ง และทุกครั้งที่น้องทำผิด แม่ก็จะระบายอารมณ์ลงกับพี่ทุกครั้ง ไม่กล้าว่าน้องๆ สักคำเดียว อยากให้คุณหมอนำเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์แก่คนเป็นแม่คนอื่นๆ ด้วยค่ะ
เป็นการเล่าชีวิตของตัวเองที่วัยเด็กได้รับการเลี้ยงดูในลักษณะที่เกิดความ รู้สึกน้อยใจ ว่าพ่อแม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่ไม่ได้รักตัวเองเหมือนกับรักน้อง ความรู้สึกว่าไม่ได้รับความรักที่เท่าเทียม ยังฝังใจมาจนถึงปัจจุบัน และทำให้เกิดความรู้สึกที่เก็บกดอย่างมาก ก็คงจะเป็นอุทาหรณ์ที่ดีสำหรับพ่อแม่ที่อ่านหนังสืออยู่ในเวลานี้ จะได้เป็นข้อคิดในการที่จะเลี้ยงลูกในวัยนี้ต่อไป
จริงๆ แล้วการที่พี่มีน้องขึ้นมา เราสามารถถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับครอบครัวอย่างยิ่งในหลายๆ ด้าน ด้านหนึ่งก็คือได้ให้ความรู้สึกกับคนเป็นพี่ว่าการมีน้องเป็นสิ่งที่ดี มีคนเอาของขวัญมาให้ มาแสดงความยินดีในโอกาสที่มีน้อง เขาเองก็ได้มีโอกาสที่จะใกล้ชิดกับน้องเวลาที่อาบน้ำ ประแป้ง ฯลฯ พ่อแม่ต้องพยายามให้คนพี่ได้เข้ามามีส่วนด้วย อย่ากันเขาออกไป เวลาน้องหลับก็มีเวลาในการที่จะคุยกันและก็ทำกิจกรรมกับเขา
และเป็นโอกาสที่ดีอีกด้านคือสามารถดึงบทบาทของพ่อเข้ามา เพราะเมื่อมีลูก 2 คน พ่อก็จะมีโอกาสกับลูกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกคนโต ในการที่จะแบ่งเวลามาใช้ ในการที่จะทำกิจกรรมกับลูกคนโต พาลูกคนโตนอน เล่านิทานให้ฟังก่อนนอน ทั้งหมดนี่จะถือเป็นโอกาสที่สำคัญของการที่ได้มีน้อง ถ้าทำอย่างนี้ได้ปัญหาในเรื่องการอิจฉากันในระหว่างน้องกับพี่ก็จะน้อยลง
จุดสำคัญอีกจุดหนึ่งคือเวลาที่พี่น้องทะเลาะกัน พยายามอย่าหาว่าใครถูกใครผิด เวลาเด็กเกิดขัดแย้งกัน มักจะมีความผิดทั้งคู่ แต่ว่าต่างคนต่างก็จะมองว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายผิด ทางที่ดีก็คือใช้วิธีแยกกันซะ แล้วก็ให้ต่างคนทำเรื่องของตัวเอง โดยที่เราไม่ต้องสนใจว่าเป็นเรื่องเคร่งเครียดในครอบครัว
ในกรณีจำเป็นจริงๆ เช่น มีการทำร้ายร่างกายกันค่อนข้างรุนแรง เราอาจจำเป็นต้องลงโทษบ้าง เช่น ให้ไปนั่งสงบสติอารมณ์อยู่ในมุมหนึ่ง หรือบางครั้งอาจจะต้องทำโทษด้วยการตี แต่เป็นการตีด้วยความรัก ไม่ใช่เป็นการทำร้ายเด็ก ลักษณะเช่นนี้เด็กก็จะเรียนรู้และก็ยอมรับได้ ซึ่งกรณีเช่นนี้ควรจะให้มีเฉพาะเรื่องที่จำเป็นจริงๆ โดยส่วนใหญ่เราควรจะให้เด็กได้เรียนรู้ว่าถ้าเขาเล่นดีๆ กันไม่ได้ ก็ต้องแยกกันไปเล่น เด็กก็จะไม่ฝังจิตฝังใจในเรื่องที่ว่าใครแพ้ใครชนะแล้วก็อิจฉากัน
สำหรับในกรณีของคุณวนาในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว สิ่งที่หมออยากจะบอกก็คือความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่คุณมีจนถึงปัจจุบันว่าแม่ก็ยังลำเอียง (ทั้งๆ ที่แม่ ซึ่งตอนนี้ก็เป็นผู้สูงอายุแล้ว มีคุณเป็นผู้เลี้ยงดู) ทำให้ตัวเองรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจนั้น จริงๆ เรื่องนี้อาจจะมีส่วนทั้งที่เป็นจริง และในส่วนที่เราอาจจะรู้สึกมากไป มีคนบอกว่าเวลาคนเรามีความคิดว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือไม่ได้รับความรักนั้น เวลามีเหตุการณ์อะไรสักนิดสักหน่อยเกิดขึ้นเราจะรู้สึกเสมอ
จริงๆ แล้ว คุณแม่อาจจะแสดงอารมณ์กับคุณ เนื่องจากเป็นวัยของเขาด้วยส่วนหนึ่ง แล้วเขาก็อาจจะแสดงอารมณ์กับน้องคนอื่นๆ ด้วย แต่ว่าสิ่งที่เรารู้สึกมาก ก็คือเวลาเขาลงกับเรา ส่วนเวลาที่เกิดเหตุการณ์อย่างอื่นเราจะรู้สึกน้อย เพราะอย่างนั้น ด้วยความคิดและความรู้สึกแบบนี้ก็จะซ้ำเติมตัวเราเอง ให้มีความเจ็บปวดในจิตใจเหมือนกับที่คุณได้เขียนบอกมา
ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดก็คือเราควรรู้สึกและคิดเสียใหม่ว่า การที่เราได้พยายามทำหน้าที่ของลูกที่มีความกตัญญูรู้คุณ เป็นสิ่งที่สำคัญและนับว่าเป็นลูกที่ประเสริฐที่สุดแล้วการทำหน้าที่นี้เราไม่ได้หวังผลตอบแทน ไม่ว่าเขาจะรู้สึกนึกคิดยังไง จะแสดงออกมากับเรายังไงก็ตาม มันไม่สำคัญเท่ากับว่าเราได้ทำในสิ่งที่ดี
ส่วนการที่ถ้าเราทำสิ่งที่ดีแล้ว เขาแสดงออกมาในทางที่ดี เราก็ยินดีด้วย ถ้าเขาไม่แสดงออกในสิ่งที่ดีอย่างที่คุณหวังอยากให้เป็นได้ ก็ทำใจเป็นกลาง ยังไงก็คิดเสียว่าเราได้ทำในสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญก็คือ การพยายามเห็นคุณค่าของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องเอาไปผูกติดกับเรื่องของคุณแม่ ตัวของคุณวนาเองมีครอบครัว หรือมีกิจกรรมอะไรที่ตัวเองทำแล้วรู้สึกว่าได้รับความสบาย สงบสุข มีประโยชน์ มีคุณค่า ก็พยายามให้จิตใจของตัวเองอยู่กับสิ่งเหล่านั้นดีกว่าจะมาคอยรู้สึกนึกถึง อยู่แต่เรื่องของคุณแม่ ถ้าเราทำได้แบบนี้ ปัญหาที่จะกดดันจิตใจก็จะลดน้อยลง
อย่างไรก็ตาม ก็ขอชื่นชมที่ได้เล่าเรื่องของตัวเองมา เพื่อจะได้เป็นอุทาหรณ์ให้กับคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายในการเลี้ยงดูลูกๆ ให้เติบโตขึ้นโดยที่ไม่ต้องมีความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำ ใจครับ
คุณวนา-ถาม
น.พ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์-ตอบ
..............
น.พ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
filename="F:DATARLPROOF2001-01Ci122-1.irc"
ถาม-ตอบสุขภาพจิต/เดือนม.ค.
เนื่อง จากคุณหมอวัณเพ็ญ บุญประกอบต้องเดินทางไปต่างประเทศ "รักลูก" ได้เชิญคุณหมอชาตรี วิฑูรชาติ มาตอบจดหมายแทนชั่วคราว พร้อมกันนี้ได้เชิญคุณหมอยงยุทธวงศ์ภิรมย์ศานติ์ มาตอบจดหมายประจำในคอลัมน์นี้ด้วยอีกท่านหนึ่ง