เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับเด็กชายวัย 6 เดือน ที่อาศัยอยู่ในเขตอาดาจิ ณ เมืองหลวงโตเกียว จากการตรวจสอบพบว่า เด็กชายได้เสียชีวิตลงเนื่องจากการดื่มน้ำผลไม้ผสมน้ำผึ้งที่มีเชื้อ Clostridium botulinum ซึ่งทางคนในครอบครัวให้เด็กดื่มเพื่อหย่านม
เรื่องราวเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ เด็กชายวัย 6 เดือน ได้เริ่มมีอาการไอ และต่อมา วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ได้มีอาการแย่ลง พบอาการชัก ระบบหายใจล้มเหลว จึงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล และเสียชีวิตในวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา
จากการตรวจสอบ พบว่าตั้งแต่กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา คนในครอบครัวของเด็กชายได้ซื้อน้ำผึ้งมาผสมกับน้ำผลไม้ให้เด็กชายดื่มทุก ๆ วัน วันละประมาณ 2 ครั้ง โดยหวังจะให้เด็กหย่านม และคิดว่าน้ำผึ้งดีต่อสุขภาพ ซึ่งเมื่อทำการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการแล้ว ก็พบเชื้อ Clostridium botulinum จากอุจจาระของเด็กชาย และน้ำผึ้งที่เก็บไว้อยู่ภายในบ้านของเด็กชายดังกล่าว
และเมื่อวันที่ 7 เมษายน เด็กชายวัย 6 เดือนผู้โชคร้าย ก็ได้ถูกวินิจฉัยสาเหตุการเสียชีวิต ว่าเกิดจาก “โรคโบทูลิซึมในทารก (Infant botulism)” โรคนี้เกิดจากการเจริญของเชื้อ Clostridium botulinum และสร้างสารพิษโบทูลิซึมในทางเดินอาหารของทารก ซึ่งทางเดินอาหารของทารกมีปัจจัยสำคัญ ที่เหมาะสมในการเจริญของเชื้อ ได้แก่ การพัฒนาการเคลื่อนไหวยังไม่ดีและความเป็นกรดต่ำ โดยอาการที่พบในเด็กทารก จะเริ่มด้วยท้องผูก เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ดูดกลืนลำบาก ร้องไห้เสียงเบา และคออ่อนพับ โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงการให้อาหารที่อาจปนเปื้อนเชื้อ Clostridium botulinum เช่น น้ำผึ้ง ในเด็กทารกที่อายุน้อยกว่า 1 ปี
สำหรับโรคโบทูลิซึมในทารกนี้ จะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นเฉพาะกับเด็กทารกเท่านั้น และสัดส่วนความเป็นไปได้ที่จะพบเชื้อชนิดนี้ภายในน้ำผึ้งตามท้องตลาดนั้นก็มีเพียง 5% เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก
และโรคโบทูลิซึมในทารก คนไทยเราอาจไม่คุ้นเคย แต่จริง ๆ แล้ว เชื้อนี้เป็นชนิดเดียวกับที่เคยมีรายงานการระบาดเป็นครั้งแรกที่จังหวัดน่านในปี พ.ศ.2541 ซึ่งมีสาเหตุมาจากการรับประทานหน่อไม้อัดปี๊บที่ไม่ได้ต้ม และมีการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อชนิดนี้นั่นเอง
เชื้อโรค Clostridium botulinum คืออะไร
เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่พบมากในดิน เชื้อนี้เจริญเติบโตได้ดีในสภาวะแวดล้อมที่มีออกซิเจนน้อยเช่นในกระป๋องบรรจุอาหาร ในขวดที่ปิดสนิท หรือในปี๊บ ซึ่งหากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมแก่การเจริญเชื้อนี้จะหลบอยู่ในสภาพสปอร์ ซึ่งคงทนในสภาพแวดล้อมได้ดีมาก และรอจนกว่าจะพบสภาพที่เหมาะสมจึงเจริญเติบโตและสร้างสารพิษในสภาวะที่มีการเจริญเติบโตนั้น
เชื้อโรค Clostridium botulinum และ สารพิษโบทูลิซึม เกี่ยวข้องกับอาหารได้อย่างไร
การปนเปื้อนอาหารเกิดจากการปนเปื้อนสปอร์ของเชื้อ Clostridium botulinum ในอาหาร เมื่ออาหารถูกเก็บในสภาพที่มีออกซิเจนน้อย เช่น ในกระป๋องบรรจุอาหาร ในขวดที่ปิดสนิท หรือในปี๊บ เชื้อก็จะเจริญและสร้างสารพิษ อาหารที่ได้รับการปนเปื้อนสารพิษอาจไม่ปรากฏความผิดปรกติใด ๆ ทั้งลักษณะภายนอก สี กลิ่น และ รส
อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้หมายความว่าอาหารที่บรรจุในภาชนะเหล่านี้จะต้องมีเชื้อและสารพิษนี้อยู่ เพราะว่าการถนอมอาหารเหล่านี้อย่างถูกวิธีเช่น การปรุงด้วยความร้อนที่นานพอ หรือการปรับค่าความเป็นกรดที่เหมาะสมในอาหาร จะทำลายหรือยับยั้งไม่ให้สปอร์ของเชื้อเจริญและสร้างสารพิษได้
นอกจากนี้การปรุงอาหารที่บรรจุภาชนะเหล่านี้อย่างเหมาะสมก่อนการบริโภคจะสามารถทำลายสารพิษที่ปนเปื้อนกับอาหารได้ ซึ่งอาหารบางประเภทที่อาจถูกปนเปื้อนด้วยดิน เช่น หน่อไม้ อาจมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสปอร์ของเชื้อมากกว่าอาหารอื่น ๆ อาหารเหล่านี้จึงจำเป็นต้องได้รับการถนอมอย่างถูกต้อง และเคร่งครัดก่อนการบรรจุภาชนะปิดสนิทเพื่อการถนอมอาหาร
นอกเหนือจากภาวะโบทูลิสมในเด็กทารก มีโบทูลิซึมแบบอื่นอีก คือ ภาวะโบทูลิซึมจากแผล (wound botulism) ซึ่งเกิดจากการเจริญของเชื้อ Clostridium botulinum และการสร้างสารพิษโบทูลิสมในบาดแผลที่มีการปนเปื้อนสปอร์จากดินการป้องกันภาวะนี้ทำได้โดยการล้างแผลให้สะอาด ปราศจากการปนเปื้อนของฝุ่นดิน
การป้องกันโรคโบทูลิซึม
จากเหตุการณ์นี้ ก็นับว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัว ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ข้อมูลไว้ ว่าอาหารชนิดใดบ้างที่ลูกน้อยสามารถกินได้หรือไม่ได้ และจะส่งผลอย่างไรตามมา หากมีอะไรสงสัยควรปรึกษานักโภชนาการหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนะคะ เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยค่ะ