ปกติเด็กกับคนชรามักจะมีช่องว่างที่ห่างไกลกันพอสมควร ยิ่งเป็นคนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จักกันด้วยแล้ว ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันยิ่งน้อยลงไปทุกที แต่เชื่อมั้ยคะ ว่าเราสามารถทำลายช่องว่างนั้นได้ด้วยกิจกรรมบางอย่างที่ทำให้เด็กและคนชรามีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
เห็นตัวอย่างการจัดแคมเปญเพื่อสร้างแนวคิดในเรื่องวันเกิดของแบรนด์ร้านอาหารปิ้งย่าง
บาร์บีคิวพลาซ่า ที่จัดขึ้นเพื่อให้น้องๆ เด็กกำพร้ากับคนชราจากบ้านพักคนชราได้มาเจอและร่วมโต๊ะรับประทานอาหารด้วยกัน เรื่องราวและโมเม้นดีๆ จึงเกิดขึ้น เพราะไม่ใช่แค่มิตรภาพภายใต้รอยยิ้มและการสวมกอดเท่านั้น แต่เราจะได้เห็นภาพความอบอุ่นหัวใจผ่านการพูดคุย เสียงหัวเราะ และเติมเต็มรอยยิ้มให้กันได้อย่างมีความสุขระหว่างคนแปลกหน้าสองวัยบนโต๊ะอาหาร
ผศ.นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสมองเด็ก
ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดลบอกกับเราว่า “จากคลิปที่เราเห็นเป็นพฤติกรรมของมนุษย์เองเลย เพราะมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม ไม่สามารถอยู่คนเดียวได้
การที่เด็กคนหนึ่งเกิดมาในบ้านเด็กกำพร้า คนชราที่อยู่ในบ้านพักคนชราเขาจะขาดโอกาสในการมีปฏิสัมพันธ์กับคนซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดกับการดำรงชีวิตของพวกเรา แม้ว่าเขาอาจจะมีเพื่อน มีคนในสถานที่เดียวกัน แต่จุดเริ่มต้นของการมีปฏิสัมพันธ์มันเริ่มจากคนในครอบครัว คือต้องมีคนที่มีอายุแตกต่างกัน มีคุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย และลูกหลาน
สำหรับเด็กเองเขาจะรู้สึกว่าเขามีเพื่อนอยู่ในนั้น แต่เขาไม่มีครอบครัวซึ่งเป็นรากฐานของชีวิต ผู้สูงอายุเองก็จะรู้สึกว่าเขามีคนที่เป็นแบบเดียวกัน แต่จะไม่มีที่เป็นลักษณะของคนที่อ่อนกว่า เพราะฉะนั้นในคลิปช่วงแรกๆ เราจึงสัมผัสได้ถึงความเหงา และความรู้สึกว่าจะถูกทอดทิ้ง ความรู้สึกโดดเดี่ยว
แต่เมื่อมีแคมเปญนี้ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่พาเด็กกับคนชรามาอยู่ด้วยกัน ผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่ดีมากๆ มันช่วยได้ เหตุผลเพราะว่าลักษณะของคน 2 วัยจะมีมุมมองที่ไม่เหมือนกัน การเรียนรู้ของมนุษย์เองก็เริ่มมาจากการถ่ายทอดจากมนุษย์รุ่นพี่สู่มนุษย์รุ่นน้องถัดๆ มา การที่คนสูงอายุได้มาอยู่กับเด็ก เขาได้เล่าประสบการณ์ ได้เล่ามุมมอง ซึ่งมันจะเป็นการสอนเด็กคนนั้นโดยตรง ทำให้เขาได้เห็นมุมมองผู้ใหญ่ ได้เห็นมุมมองที่ต่างไปจากคนวัยเดียวกันที่อยู่รอบๆ ตัว
อย่างในคลิป บาร์บีคิวพลาซ่าทำขึ้นมา มันมีอาหารมาปิ้งมาย่าง มันมีลักษณะของปฏิสัมพันธ์ที่ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ แบบไหนคือสุกแล้ว แบบไหนกินได้ น้ำจิ้มจะต้องทำยังไง มันรวมไปถึงมารยาทบนโต๊ะอาหารว่าจะต้องทำยังไง ซึ่งตรงนี้มันมีการพูดคุย การแลกเปลี่ยนกัน มีปฏิสัมพันธ์ มีการเล่าเรื่องราวต่างๆ ซึ่งหากเป็นอาหารทั่วๆ ไปอย่างเช่นอาหารจานเดียวมันก็คงไม่มีปฏิสัมพันธ์กันมากนัก
นอกจากจะพูดคุยกันเรื่องอาหารแล้ว มันยังเป็นโอกาสให้คนชราได้ถ่ายทอดประสบการณ์ให้เด็กๆ ขณะเดียวกันตัวเด็กเองที่ไม่เคยสัมผัสกับคนวัยนี้มาก่อนก็จะรู้สึกว่า มันตื่นเต้นนะ ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ พร้อมกันนี้การที่เด็กมาเจอผู้สูงอายุ เขาก็จะรู้สึกว่าเด็กคือความหวัง เมื่อเห็นเด็กก็เหมือนเห็นชีวิตใหม่ เพราะฉะนั้นการที่คนชราได้พูดคุยกับเด็กๆ จึงเป็นการหล่อเลี้ยงจิตใจ ทำให้รู้สึกว่าตนเองนั้นมีความหมาย มีความหวังที่จะอยู่ดูแลใครสักคนหนึ่งต่อไป และฉันมีความหมายที่จะมอบประสบการณ์ที่ฉันผ่านมาทั้งชีวิตให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป
คลิปนี้ก็เลยเป็นจุดที่ลงตัวกันระหว่างคน 2 คน ที่แต่เดิมต่างคนต่างอยู่ก็จะกลายเป็นคนเหงา 2 คน แต่พอเขามาเจอกัน มีโอกาสเล่าประสบการณ์ และเรื่องราวความเป็นอยู่ของตนเอง ได้แลกเปลี่ยนกัน เขาก็จะมีแรงจูงใจที่ดีขึ้นตามลำดับ”
ชมคลิปวิดีโอ