ทุกวันนี้มีพ่อแม่สายเที่ยวที่พาลูกไปด้วยทุกที่ การเดินทางด้วยรถก็ต้องมีคาร์ซีท และการเดินทางด้วยเรือก็ต้องรู้วิธีดูแลลูกและเอาตัวรอดในน้ำกันได้ เราจึงมีคำแนะนำมาฝากกันค่ะ
ก่อนการเดินทาง
1. ว่ายน้ำไม่เป็น ห้ามเดินทาง
ยิ่งการพาลูกเล็กๆ ไปด้วยยิ่งน่าเป็นห่วงนะคะ เพราะในขณะเกิดอุบัติเหตุทุกคนก็ช่วยตัวเองให้ปลอดภัยก่อน จึงจะช่วยผู้อื่นได้ หากว่ายน้ำไม่เป็น ถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาความสูญเสียก็มาเยือนแน่ๆ ค่ะ
2. ฟังคำพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา
ถ้าเป็นการเดินทางทางทะเล ควรรับฟังคำพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งหาอ่านได้ทางอินเทอร์เน็ต หากมีคำเตือนเรื่องพายุและคลื่นลมแรงควรงดการเดินทาง หรือพิจารณาตามความเหมาะสม
2. ระหว่างรอเรือ อย่ายืนบนโป๊ะ
การรอลงเรือให้ยืนคอยบนฝั่งหรือท่า อย่ายืนคอยบนโป๊ะ เพราะโป๊ะก็มีการทรงตัวเช่นเดียวกับเรือ และรับน้ำหนักได้จำนวนจำกัด หากลงไปยืนคอยบนโป๊ะมา ๆ โซ่ หรือเชือกที่ยึดเหนี่ยวโป๊ะไว้กับหลักอาจจะขาด ทำให้โป๊ะพลิกคว่ำทางด้านที่รับน้ำหนักมากกว่าได้
5. อย่าเสี่ยงเพราะรีบ
ถ้าเห็นว่าเรือบรรทุกตามที่กำหนดแล้ว (จำนวนการบรรทุก เช่น น้ำหนักบรรทุก หรือจำนวนคนบรรทุก) ให้รอลงเรือลำต่อไป และต้องรอให้เรือจอดเทียบท่าเรียบร้อยก่อน อย่าแย่งกันลงเรือ หากเห็นว่ามีผู้โดยสารในเรือเต็มแล้ว สังเกตว่าเรือบรรทุกจำนวนมากให้คอยไปเรือลำหลัง
ขณะเดินทาง
1. ต้องสวมเสื้อชูชีพเมื่ออยู่ในเรือตลอดเวลา เมื่อถึงที่หมายเรียบร้อยแล้วจึงค่อยถอดเสื้อชูชีพออก ถึงแม้จะว่ายน้ำเป็นก็ควรสวมชูชีพไว้เช่นกัน
2. ในการเดินทางทางเรือจะต้องไม่กลัวเปียก ไม่กลัวแดดเพราะในการขยับตัวเพื่อหลบฝอยน้ำ หรือเปลี่ยนที่นั่งเพื่อหลบแดดจะทำให้เรือเสียการทรงตัว
3. เมื่อลงเรือแล้วให้เดินเข้าไปในตัวเรือ อย่ายืนท้ายเรือ อย่านั่งกราบเรือ หรือบนหลังคาเรือ การเลือกที่นั่งภายในตัวเรือให้คำนึงถึงการทรงตัวของเรือเป็นสำคัญ อย่าเห็นแก่ความสะดวกสบายเป็นใหญ่ ถ้าไปด้วยกันหลายคนให้กระจายกันนั่งเพื่อให้เรืออยู่ในลักษณะสมดุล อย่าคิดรวมกลุ่มกัน เพื่อความสนุกสนานหรือพูดคุยกัน
4. อย่าตื่นตกใจเมื่อเรือเอียงหรือโคลง เพราะคลื่นหรือพริ้วน้ำจากเรืออื่น พยายามยึดจับพนักที่นั่งให้มั่น อย่าให้ลื่นล้มไปรวมทางกราบเรือที่เอียงไปได้ ส่วนผู้ที่อยู่ทางกราบเรือที่เอียงให้นั่งนิ่ง ๆ อย่ากลัวเปียกน้ำและอย่าพยายามขืนอาการเอียงของเรือ
5. ไม่ควรดื่มสุรามึนเมาขณะเดินทางทางเรือ
6. การขึ้นจากเรือเมื่อเรือเข้าเทียบท่าแล้วให้ทยอยกันขึ้นอย่าลุกขึ้นพร้อม ๆ กัน เรืออาจพลิกคว่ำได้ และเมื่อเรือเดินทางต่อไป ผู้โดยสารที่เหลืออยู่ต้องขยับขยายที่นั่งใหม่ เพื่อให้เรือทรงตัวอยู่ในลักษณะที่สมดุลย์ที่สุดเท่าที่จะทำได้
วิธีเอาตัวรอดเมื่อตกเรือ หรือ เรือล่ม
1. ถ้ามีอุบัติเหตุผู้โดยสารตกน้ำได้ จะเป็นเพราะความประมาท ความพลาดพลั้งหรือจากการที่เรือเสียการทรงตัวกะทันหัน เมื่อมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ผู้โดยสารที่เห็นเหตุการณ์ควรรีบตะโกนให้นายท้ายเรือทราบทันที บอกให้ชัดเจนว่าคนตกน้ำในจุดใดของตัวเรือ เพื่อที่นายท้ายเรือจะได้หันเหเรือหลบไม่ให้ใบจักรเรือทำอันตรายต่อคนตกน้ำ
2. โยนเครื่องช่วยชีวิต เช่น พวงชูชีพ หรือเสื้อชูชีพ ไปให้คนตกน้ำ
3. โทรติดต่อแจ้งศูนย์ประสานงาน และรับแจ้งเหตุ สายด่วนกรมเจ้าท่าหมายเลข 1199
4. ส่วนผู้ที่ตกน้ำต้องควบคุมสติให้มั่น เมื่อตกน้ำให้ว่ายน้ำและผละออกจากเรือจนพ้นระยะอันตรายจากใบจักรเรือแล้วให้หยุดว่าย แต่ให้เน้นพยุงตัวลอยตามน้ำไว้ อย่าพยายามว่ายเข้าฝั่งเพราะอาจหมดแรง
5. สิ่งที่ควรระวังอย่างมากคืออย่าพยายามว่ายกลับเพื่อคว้าจับกราบเรือขณะที่เรือกำลังแล่นเป็นอันขาด เพราะจะถูกน้ำดูดเข้าไปใต้ท้องเรือ
6. หากทำได้ ให้ถอดรองเท้า เข็มขัด หรือสิ่งของติดตัวที่จะเป็นเครื่องถ่วงออกให้หมด คอยคว้าจับสิ่งลอยน้ำที่มีผู้โยนให้จากเรือ เพื่อใช้เป็นเครื่องพยุงตัว หากคว้าจับไม่ได้หรือไม่มีผู้โยนสิ่งใดมาให้ ให้ถอดเสื้อหรือกางเกงออกทำเป็นโป่งลอยน้ำพยุงตัวไว้ชั่วคราว แล้วปล่อยตัวลอยตามน้ำรอจนกว่าเรือจะวกกลับมาช่วยเหลือหรือจนกว่ากระแสน้ำพัดเข้าใกล้ฝั่ง ที่ตื้นหรือที่มั่นคงซึ่งพออาศัยยึดเหนี่ยวได้ และรอการช่วยเหลือ
มีผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า หากเกิดเหตุเรือล่มกลางทะเลหรือแม่น้ำ เจ้าหน้าที่ควรเร่งอพยพผู้โดยสารต้องกระทำทันทีที่เรือเอียงมากกว่า 20 องศา ผู้โดยสารทุกคนต้องใส่เสื้อชูชีพหรืออุปกรณ์นิรภัยอย่างถูกต้อง ส่วนผู้ที่อยู่ภายในตัวเรือให้พยายามหาประตูฉุกเฉินออกมาด้านนอกตัวเรือ อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ฉุกเฉิน สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือการตั้งสติ เพื่อสร้างสมาธิและการตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที