5 เรื่องควรทำ เมื่อต้องพาเด็กซนสมาธิสั้นไปเที่ยว
การเรียนรู้ของเด็กไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการเล่นกับคุณพ่อคุณแม่และพี่น้องที่บ้าน หรือการไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนเท่านั้น หากแต่ยังเกิดขึ้นได้ในวันที่คุณพ่อคุณแม่พาลูกน้อยไปเที่ยวนอกบ้าน
ในวันนี้หมอจะมาแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนพาเจ้าตัวเล็กออกไปเที่ยวนอกบ้าน โดยจะเน้นที่เด็กที่เป็นโรคซนสมาธิสั้นก่อนว่า มีอะไรที่ต้องระวัง และจะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ดีคำแนะนำของหมอเป็นเพียงแนวทางในภาพรวมนะครับ หมายความว่า คุณพ่อคุณแม่ต้องนำไปพิจารณาปรับใช้ให้เหมาะกับลูกของท่านด้วย เพราะเด็กแต่ละคนมีความพิเศษที่ไม่เหมือนกันครับ ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงอาจจะมีความแตกต่างกันบ้าง ส่วนท่านที่บุตรหลานไม่ได้เป็นโรคอะไรก็สามารถอ่านได้ครับ เพราะคำแนะนำเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ลูกของท่านควรทราบด้วยเช่นกันครับ
5 เรื่องควรทำ เมื่อต้องพาเด็กซนสมาธิสั้นไปเที่ยว
- ระวังการพลัดหลง เป็นเรื่องที่ต้องระวังมาก ๆ ในเด็กที่เป็นโรคซนสมาธิสั้น เพราะการไปเที่ยวนอกบ้านที่เต็มไปด้วยของน่าตื่นตาตื่นใจ จะดึงดูดความสนใจเด็กที่เป็นโรคซนสมาธิสั้นได้มาก ซึ่งบ่อยครั้งเมื่อเด็กเห็นของเล่นหรือสิ่งที่ดูน่าสนใจ ก็จะวิ่งออกไปเลย เพราะตัวเองก็ไม่นิ่งอยู่แล้ว ทำให้เด็กเสี่ยงต่อการพลัดหลง คุณพ่อคุณแม่จึงควรจะต้องมีการเตรียมความพร้อมกับเด็กก่อน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดข้อตกลงล่วงหน้าว่า ถ้าจะไปไหนต้องบอกพ่อแม่ทุกครั้ง หรือต้องให้พ่อแม่ไปด้วย
ถ้าเด็กไม่ทำตามข้อตกลงก็ต้องมีการลงโทษ เช่น ลดเวลาเที่ยวลง เป็นต้น รวมไปถึงการป้องกันการพลัดหลงโดยการใส่รายละเอียดสำหรับติดต่อไว้กับตัวเด็กให้เห็นง่าย ๆ หรือ การกำหนดจุดนัดพบในกรณีที่มีการพลัดหลงด้วย นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรจดรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับสถานที่นั้น ๆ โดยเฉพาะเบอร์โทรติดต่อหน่วยรักษาความปลอดภัยและหน่วยประชาสัมพันธ์เอาไว้สำหรับติดต่อในกรณีฉุกเฉินด้วยครับ
- สอนเรื่องการรอคิว การไปเที่ยวตามสวนสนุกนั้น สิ่งหนึ่งที่ต้องเจอเสมอ ๆ ก็คือการเข้าคิวเพื่อรอเล่นเครื่องเล่น ยิ่งเครื่องเล่นที่ได้รับความนิยมมากก็ยิ่งต้องรอคิวนาน คุณพ่อคุณแม่คงต้องมีการเตรียมความพร้อมกับเจ้าจอมซนกันเล็กน้อย ไม่ว่าจะเป็นการบอกให้ตัวเด็กทราบว่า เครื่องเล่นบางอย่างอาจจะต้องรอคิว หรือการหากิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ในระหว่างรอคิว เพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกเบื่อหรือหงุดหงิดมากเกินไป รวมถึงการวางแผนล่วงหน้าในการเลือกกิจกรรมหรือเครื่องเล่นก่อนไปเที่ยว เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสเล่นหรือเข้าร่วมกิจกรรมก่อน ส่วนเครื่องเล่นหรือกิจกรรมที่ต้องรอคิวนานก็จัดไว้ทีหลัง เป็นต้น
- ระวังของหาย โดยธรรมชาติของเด็กที่เป็นโรคซนสมาธิสั้นก็มักจะลืมข้าวของไว้ที่โรงเรียนบ่อย ๆ อยู่แล้ว ยิ่งเวลาพาไปเที่ยวก็ยิ่งมีโอกาสที่จะลืมของได้มาก คุณพ่อคุณแม่จึงควรตรวจสอบสิ่งของลูกอยู่เรื่อย ๆ และหลีกเลี่ยงการให้เด็กเก็บของมีค่าไว้กับตัวครับ
- ระวังเรื่องการทะเลาะเบาะแว้ง เพราะความหุนหันพลันแล่นเป็นหนึ่งในอาการของโรคซนสมาธิสั้น ทำให้เด็กที่เป็นโรคนี้มักจะใจร้อน จึงมีโอกาสเกิดเรื่องกระทบกระทั่งกับเด็กคนอื่น ๆ ในระหว่างการเล่นด้วยกันได้ จึงควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูกระหว่างเล่นกับคนอื่น ๆ ถ้าเริ่มมีปัญหาก็ควรจะพาเขาออกจากสถานการณ์ตรงนั้นก่อน แล้วค่อยพิจารณาว่าใครถูกใครผิดอีกทีครับ แต่หมอก็ยังแนะนำให้เด็กเล่นกับเพื่อน ๆ วัยเดียวกันนะครับ เพราะเด็กควรจะต้องได้เรียนรู้ผ่านปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นครับ
- สอนให้ระวังคนแปลกหน้า แม้ว่าจะเป็นโรคซนสมาธิสั้น แต่เด็กก็คือเด็ก การสอนให้เด็กระวังคนแปลกหน้าที่เข้ามาตีสนิท การไม่กินของจากคนที่ไม่รู้จัก การไม่ไปไหนกับคนแปลกหน้า รวมไปถึงการสอนให้เด็กรู้จักการร้องขอความช่วยเหลือ จึงเป็นสิ่งที่ควรจะสอนลูก ๆ เสมอนะครับ
การพาเด็กออกไปเผชิญโลกกว้าง นอกเหนือการไปโรงเรียนเป็นสิ่งที่ดี เพราะประสบการณ์ที่ได้ตัวเด็กได้เรียนรู้ระหว่างการไปเที่ยว จะช่วยในการพัฒนาตัวของเขาเอง เพียงแต่เด็กที่เป็นโรคซนสมาธิสั้น ก็จะมีข้อควรระวังเป็นพิเศษอีกนิดหน่อย เพื่อให้ประสบการณ์การไปเที่ยวของเจ้าตัวน้อยเต็มไปด้วยความสุข และเป็นความทรงจำที่ดีของตัวเขาและครอบครัวตลอดไปครับ
ผศ.นพ.วรสิทธิ์ ศิริพรพาณิชย์
กุมารแพทย์ด้านโรคสมอง