ไวรัสร้ายที่อันตรายต่อระบบทางเดิอนหายใจลูกไม่ได้มีแค่ RSV ค่ะ แต่ยังมี hMPV ที่อันตรายใกล้เคียง RSV มาก และเป็นอีกหนึ่งตัวร้ายที่ทำให้ลูกเล็กปอดอักเสบได้ค่ะ
คุณพ่อคุณแม่เคยได้ยินเชื้อไวรัส Human Metapneumovirus(hMPV) (ฮิวแมนเมตานิวโมไวรัส) ไหมคะ อาจจะคุ้น ๆ กันอยู่บ้างเพราะเป็นไวรัสที่หมอเด็กจะพูดถึงบ่อย ๆ เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยทางระบบทางเดินหายใจในเด็ก โดยมีอาการตั้งแต่อาการหวัดเพียงเล็กน้อย จนถึงขั้นรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ ชนิดที่เรียกว่า Bronchiolitis
เชื้อไวรัสกลุ่มนี้เป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยด้วยอาการโรคทางเดินหายใจในเด็กเล็ก อายุน้อยกว่า 1 ปี ได้ถึงร้อยละ 25-50 ช่วงระบาดในแถบยุโรปจะเป็นช่วงฤดูหนาว ส่วนในแถบเขตร้อน เช่น ประเทศไทย ก็จะเป็นช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
ส่วนใหญ่จะเกิดการติดเชื้อนี้ในช่วงขวบปีแรกของชีวิต และพบว่าภายในช่วงอายุ 5-6 ปี เด็กแทบทุกคน(ร้อยละ 96-100) จะเคยได้รับเชื้อไวรัสนี้และมีภูมิต้านทานขึ้นในกระแสเลือด ซึ่งลักษณะการแพร่ระบาดและอาการนั้นใกล้เคียงกับการติดเชื้อ Respiratory Syncytial Virus (RSV)
และแม้ว่าเชื้อ Human Metapneumovirus (hMPV) นี้จะพบว่าส่วนใหญ่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยในเด็กเล็ก แต่ก็พบว่าในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคมะเร็ง เป็นต้น ก็มีปัญหาการติดเชื้อนี้และเกิดอาการทางเดินหายใจที่รุนแรงได้เช่นกัน
การติดเชื้อ Human Metapneumovirus(hMPV) นี้มักพบร่วมกับการติดเชื้อทางเดินหายใจมากกว่าหนึ่งชนิดในการเจ็บป่วยครั้งนั้น ๆ เช่น ในเด็กที่ป่วยเป็นโรคหลอดลมอักเสบชนิด Bronchiolitis อาจพบว่ามีการติดเชื้อได้ 2 หรือมากกว่า 2 ชนิด ถึงประมาณร้อยละ10-20 ทำให้อาการของเด็กที่ป่วยมีความรุนแรงขึ้นและใช้เวลานานขึ้นกว่าจะหายเป็นปกติ
ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ Human Metapneumovirus (hMPV)
เป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการที่ป่วย และปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะที่มีฤทธิ์ต้านไวรัสนี้ ส่วนใหญ่แล้วอาการมักจะเป็นในระดับน้อยถึงปานกลาง ทำการพ่นยาทานยารักษาตามอาการ ก็มักจะเริ่มดีขึ้นเองใน 5-7 วัน
ส่วนในรายที่เป็นมากมีปัญหาปอดบวมหรือหอบรุนแรง ทำให้เกิดการหายใจล้มเหลว ฯลฯ ก็ควรอยู่ดูแลในโรงพยาบาล เพื่อการพ่นยา เคาะปอด ดูดเสมหะ ให้ออกซิเจนช่วยในรายที่จำเป็นก็อาจต้องเข้ารักษาในหอดูแลผู้ป่วยวิกฤต(ไอซียู) จนกว่าอาการต่าง ๆ นี้จะทุเลาลงและเมื่อออกจาก ไอซียูแล้วยังต้องพักรักษาตัวต่อจนกว่าหายเป็นปกติ
การแยกผู้ป่วย และการหลีกเลี่ยงไม่ไปสัมผัสโรค เช่น หลีกเลี่ยงการอยู่ในคนหมู่มาก การใช้หน้ากากอนามัย การล้างมือ จะช่วยลดการแพร่กระจายของโรคได้ในระดับหนึ่ง
ขอบคุณข้อมูลจาก
นพ.ประสงค์ พฤกษานานนท์