สมุนไพรไทย มีสรรพคุณมากมาย ทั้งยังช่วยในการลดและบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้เป็นอย่างดี สมัยก่อนหากมีอาการป่วยไข้เล็กน้อย ปู่ย่าตายายของเราจะรีบนำเอาสมุนไพรพื้นบ้าน มาบรรเทาอาการป่วยให้เราได้ ลองมาทบทวนกันดูดีกว่าว่าสมุนไพรชนิดใดสามารถนำมาบรรเทาอาการป่วยให้ลูกได้บ้าง
ตอนเด็ก ๆ เวลาเราเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ พ่อแม่ของหรือปู่ย่าตายาย จะบรรเทาอาการป่วยให้เสมอ ถ้าตัวร้อนจะเช็ดตัวให้ พอไอก็โดนกวาดยา หรือปวดท้องก็โดนจับทามหาหิงค์ แป๊บเดียวอาการเหล่านั้นก็หายไป ในเมื่อรู้อย่างนี้แล้วไม่คิดจะลองเป็นคุณหมอประจำบ้านกันดูบ้างหรือครับ
คุณสันติสุข โสภณสิริ คุณหมอแผนไทยจากมูลนิธิสุขภาพไทย เล่าถึงวิธีการรักษาพยาบาลเบื้องต้น รวมถึงการใช้สมุนไพรไทยอย่างง่ายสำหรับเด็กให้ผมฟัง ผมจึงเรียงร้อยเรื่องราวจากคำบอกเล่านั้นมาฝากคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านดังนี้ ครับ
คุณหมอบอกกับผมว่า สมัยก่อน พ่อแม่เกือบทุกคนจะมีวิธีสังเกตอาการเจ็บป่วยของลูกและรู้ว่าอาการที่เกิดขึ้นจะรักษาได้อย่างไร
สำหรับอาหารลดไข้ ให้ใช้ฟักเขียวตัดเอาเนื้อบริเวณขั้วลงไปประมาณ 4 นิ้ว นำเจ้าส่วนนั้นมาต้มแล้วบดให้ละเอียด ผสมในน้ำนมให้เด็กดื่มจะช่วยลดไข้ได้เพราะฟักมีคุณสมบัติเย็น ลดไข้ได้เร็วมาก
บางคนอาจคิดว่าลูกคงกินขมิ้นที่มีสีและกลิ่นแปลกๆ ได้ยาก ลองใช้กล้วยน้ำว้าดิบ มาหั่นเป็นแว่น นำไปตากแดด แล้วบดผสมนมหรือน้ำผึ้ง หรือละลายน้ำกิน แบบนี้ช่วยแก้อาการได้เช่นกัน แถมกล้วยน้ำว้านั้นยังมีประโยชน์อื่นๆ อีกสารพัด คือช่วยไม่ให้เพลีย และแก้ท้องเสียได้ด้วย
ไอและเจ็บคอ หากลูกไอติดต่อเรื้อรัง กลัวว่าจะเป็นหลอดลมอักเสบ รักษาด้วยวิธีไทย ๆ นำใบพลูสัก 4-5 ใบ มาอังไฟจากเตาถ่าน หรือถ้าบ้านใครมีเตาแก๊ส ก็หากระทะเคลือบมารองโดยทาน้ำมันพืชไว้ที่กระทะ เอาใบพลูอังพอร้อนแล้วมาโปะที่หน้าอกเด็ก น้ำมันในใบพลูจะซึมเข้าไปในผิวหนังช่วยให้หยุดไอ และสารที่มีอยู่ในใบพลูยังจะช่วยให้ระบบไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
อาเจียน สังเกตดูว่าลูกอาเจียนแบบใด ถ้าอาเจียนพุ่งแบบนี้อันตรายครับ ต้องรีบนำส่งแพทย์โดยด่วนเพราะอาจเกิดจากอาการทางสมอง แต่ถ้าลูกอาเจียนธรรมดา แก้ได้โดย ใช้ลูกยอดิบหรือใกล้สุกมาฝาน ย่างไฟแล้วตำจนละเอียด นำมาผสมน้ำผึ้งหรือนมให้เด็กดื่ม หยุดการอาเจียนได้ดี
นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนเล็กๆที่นำมาเล่าให้ฟัง เชื่อหรือยังครับว่าสมุนไพรไทยมีประโยชน์อย่างมากมาย แถมผลข้างเคียงหรืออันตรายจากการใช้สมุนไพรนั้นแทบจะไม่มีเลย มีที่ต้องระวังบ้างคือ หลักในการดูอาการของลูกและการเลือกยามารักษา พ่อแม่ต้องอาศัยความรู้และการสังเกต ในกรณีที่จะรักษาด้วยพืชสมุนไพร พ่อแม่ต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสมุนไพรนั้นอยู่แล้ว
อย่าลองใช้ยาหรือสมุนไพรเพราะคำโฆษณาชวนเชื่อ แต่เราต้องศึกษาก่อน จากผู้รู้หรือจากตำรา ผมคิดว่าถ้าเราสามารถรักษาลูกๆ ได้เองเหมือนคนสมัยก่อน ความผูกพันในครอบครัวก็จะเพิ่มพูนขึ้นตามไปด้วย จะดีสักแค่ไหนถ้าลูกรู้สึกว่าเวลาเขาเจ็บป่วย มีพ่อแม่คอยดูแลรักษาได้ และเขาก็จะจดจำภูมิปัญญาไทยเหล่านี้สืบทอดต่อไปครับ
1.พ่อแม่ต้องมั่นใจว่าลูกป่วยเป็นอะไร และรู้วิธีรักษาที่ถูกต้อง
2.มีความรู้เรื่องยา หรือสมุนไพรที่จะใช้เป็นอย่างดี
3.หากรักษาสักระยะหนึ่ง ประมาณวันสองวันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นต้องนำส่งแพทย์
4.อย่าเชื่อคำโฆษณาที่เกินจริงเกี่ยวกับยา
5.การซื้อยาให้ลูกกินต้องอ่านฉลาก หรือรู้สรรพคุณที่แน่นอนรวมทั้งผลข้างเคียงหรือพิษของยานั้น ๆ
6.โรคที่รักษาเองไม่ได้ คือ มีไข้และชัก อาเจียนพุ่ง ไข้ขึ้นๆ ทรงๆ เพราะอาจเป็นไทฟอยด์ หรือไข้เลือดออก ไข้สูงเกี่ยวกับเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะมีอาการเกร็งและคอแข็งร่วมด้วย กรณีเหล่านี้ต้องพาส่งแพทย์ด่วน
ขอขอบคุณ : คุณสันติสุข โสภณสิริ คุณหมอแผนไทยจากมูลนิธิสุขภาพไทยที่เอื้อเฟื้อข้อมูล